25661214pm--สิ่งมีค่าที่ควรถนอมรักษา
14 ธ.ค. 66 - สิ่งมีค่าที่ควรถนอมรักษา : เราใส่ใจกับเรื่องอะไร จิตของเราก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราอยากให้ใจเรามีความสุข มีความสงบ เราก็ต้องรู้จักที่จะใส่ใจ ซึ่งก็ได้แก่มารู้กายรู้ใจ มาใส่ใจกับกายเวลาเคลื่อนไหว มาสังเกตรู้ทันความคิดและอารมณ์ เมื่อมันมีสิ่งเหล่านี้ผุดขึ้นในใจ
ถ้าเราเห็นคุณค่าของความใส่ใจ ตระหนักว่ามันเป็นทรัพยากรที่มีค่า เราจะหวงแหน ทะนุถนอมว่าเราจะใส่ใจกับอะไร จะไม่มัวแต่ปล่อยให้ใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องราวของชาวบ้าน คำพูดคำจาที่ชวนให้หงุดหงิด ที่บางท่านเรียกว่าเป็นขยะที่หลุดจากปากของใครต่อใคร เป็นเพราะเราไม่รู้จักควบคุมความใส่ใจของเรา หรือไม่รู้จักสงวน ไม่รู้จักรักษาความใส่ใจ จิตใจเราจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะว่ามัวไปจับไปฉวยเอาขยะ สิ่งที่ไม่เป็นสาระมาสุมไว้ในใจ แต่ถ้าเรารู้จักเลือกใส่ใจ เราก็จะรับเอาสิ่งดีๆ เข้ามา ทำให้จิตใจเราเบิกบานแจ่มใส เป็นกุศล และเจริญงอกงาม
2/5/2024 • 26 minutes, 57 seconds 25661205pm--แง่คิดจากคนใกล้ตาย
5 ธ.ค. 66 - แง่คิดจากคนใกล้ตาย : ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ถึงแม้เราจะต้องตายจากโลกนี้ไป มันไม่มีอะไรต้องเสียดาย ที่จริงการใช้ชีวิตของเราแต่ละวันๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการใช้แต่ละวันเพื่อการเตรียมตัวรับมือกับความตายที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะไม่อย่างนั้น ถ้าความตายมาถึงมันทุกข์ทรมานมาก
หรืออย่างน้อยๆ ก็ใช้เวลาแต่ละวันเตรียมรับมือกับความเจ็บความป่วยที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพาะก่อนที่เราจะตายเราจะต้องเจ็บป่วย ส่วนใหญ่นะ ไม่ใช่ตายฉับพลัน และหลายคนแม้ยังไม่ตายแต่ทุกข์ทรมานมากเพราะความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจ เพราะอะไรเพราะว่าช่วงเวลาที่ปกติสุข ไม่ได้สนใจเตรียมตัวเลย ทั้งๆ ที่มันมีโอกสจะเกิดขึ้นกับเรา 90 % เลย
และถ้าจะให้ดีก็เตรียมตัวรับมือกับความผันผวนปรวนแปรของชีวิต เรียนรู้จากความสูญเสียพลัดพราก เงินหาย ของหาย ก็ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดในการฝึกใจให้เผชิญกับสิ่งที่ไม่ถุกใจ หรือความผันผวนของชีวิตได้ เจอคำต่อว่าด่าทอก็ถือว่าเป็นเครื่องฝึกใจให้มีความมั่นคงหนักแน่น ถึงเวลาเจ็บเวลาป่วยก็จะไม่โวยวายตีโพยตีพาย ถึงเวลาตายก็สามารถจะเผชิญความตายได้อย่างสงบ
นี่คือบทเรียนที่เราสามารถครุ่นคิดหรือใคร่ครวญได้จากการระลึกถึงความตาย หรือถ้าให้ดีก็เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคนใกล้ตายอย่างหมอกิตไท ข้อเขียนของหมอกิตไทตลอดปีที่ผ่านมาก็สามารถเตือนใจเราได้ดีนะ เพราะเป็นการเอาประสบการณ์ของคนจริงๆ คนที่เจ็บป่วยจริงๆ คนที่ใกล้ตายจริงๆ มาบอกเล่า อ่านแล้วก็รู้สึกใกล้ตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องคิดเอาเอง
อันนี้ก็เป็นแง่คิดของคนที่เมื่อรู้ว่าจะตาย แต่ก็ไม่ยอมปล่อยให้การตายของตนไร้ค่า แต่เอามาใช้เป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ที่ยังอยู่
2/4/2024 • 26 minutes, 19 seconds 25661204pm--สุขได้ถ้าคาดหวังไม่สูง
4 ธ.ค. 66 - สุขได้ถ้าคาดหวังไม่สูง : ปัญหาคือว่าเวลาเราปฏิบัติธรรมแล้ว เรามักจะตั้งความหวังไว้สูง เช่นเดียวกับการทำความดี การทำบุญทำดี ทำดี ทำบุญ ปฏิบัติธรรมนั้นดี แต่ว่ามันง่ายที่จะทำให้คนที่ทำดี ทำบุญหรือว่าปฏิบัติธรรมเผลอตั้งความหวังเอาไว้
หลวงพ่อครูบาอาจารย์พูดว่า ทำดี ทำบุญ ปฏิบัติธรรมแล้ว มันจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ พอปฏิบัติธรรมเข้า พอทำดีทำบุญ ก็เลยตั้งความหวังเอาไว้ และเป็นความหวังที่สูงด้วยโดยเฉพาะถ้าเกิดว่ายังทำความเพียรมาไม่มากพอ แต่ตั้งความหวังไว้สูง มันย่อมต้องผิดหวังได้ง่าย มันไม่ใช่เฉพาะคนที่หมกมุ่นกับเรื่องทางโลกที่ตั้งความหวังไว้สูงว่าอยากรวย หรือรวยกว่าคนอื่น หรือว่าอยากจะให้สังคมและคนรอบข้างชื่นชมสรรเสริญเรา แม้กระทั่งคนที่ใฝ่ธรรม ขยันทำความดี ขยันทำบุญ หรือว่าหมั่นปฏิบัติธรรม ก็มีโอกาสง่ายมากที่จะตกหลุมแห่งความทุกข์เพราะความคาดหวัง
ฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำบุญ ทำดีหรือปฏิบัติธรรมอย่างไรก็ตาม ให้ตระหนัก ระวัง อย่าไปคาดหวังสูง โดยเฉพาะความคาดหวังที่มันสูงเกินจริง ถ้าให้ดีก็ให้รู้จักวางมันลง แล้วก็ทำไปตามเหตุตามปัจจัย อะไรจะเกิดขึ้นก็ยอมรับ เพราะถ้าหากว่าเราตั้งความหวังไว้สูง แล้วยอมรับไม่ได้ แม้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นกับเรา เราก็ยังทุกข์เพราะว่ามันไม่มากเท่าที่หวัง หรือมันไม่ตรงกับที่หวังเอาไว้
ปฏิบัติธรรมทั้งที ก็ต้องสามารถที่จะเห็นได้ว่าสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ มันไม่ใช่อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่มันอยู่ที่ว่าเรามองมันอย่างไร เราคาดหวังมันอย่างไร เรารู้สึกกับมันอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นตัวสมุทัยที่สำคัญ ปฏิบัติธรรมแล้วมองไม่เห็นตรงนี้ มันก็ง่ายที่จะยังทุกข์ต่อไปแม้ว่าจะมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นกับเราก็ตาม
2/3/2024 • 26 minutes, 25 seconds 25661203pm--ปล่อยวางได้จึงพ้นภัย
3 ธ.ค. 66 - ปล่อยวางได้จึงพ้นภัย : วิชาปล่อยวิชาวางสิ่งต่างๆ แต่ที่เราปล่อยวางไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเราๆ ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา เป็นของเราๆ มันน่ากลัว เพราะถ้าเรายึดอะไรว่าเป็นเรา เป็นของเรา เรากลายเป็นของมันทันทีเลย เรายอมตายเพื่อมันได้ทั้งที่ภัยมาถึงตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมปล่อย ปล่อยอุปกรณ์ ปล่อยของหนักที่ถือในมือ หรือสะพายหลัง เพราะว่าไปยึดว่าเป็นของเราๆ หรือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
หรือข้าราชการหลายคนไปยึดว่าบ้านเป็นของเรา รถเป็นของเรา หรือเป็นตัวเราเลยทีเดียว เป็นหน้าเป็นตา แต่พอต้องสูญเสียมันไป มันก็ไปกระทบกับตัวตน อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมัน เพราะว่าหน้าตาของเรา ศักดิ์ศรีของเราไปผูกติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการยึด เป็นเพราะยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา อะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ในแง่หนึ่งก็ให้ความสุข ถ้ามันยังอยู่กับเรา แต่ถ้าเมื่อใดวันดีคืนดีมันไปจากเรา มันทุกข์มากเลย มันไปจากชีวิตแล้ว แต่เรายังไม่ยอมปล่อยมันไปจากใจ ยังคิดถึงมัน ยังพะวงถึงมัน ยังอาลัยถึงมันอยู่ เหมือนกับว่าตัวตนบางส่วนของเราหายไป อันนี้เรียกว่าทำใจไม่ได้ แล้วที่ทำใจไม่ได้เพราะยังปล่อยวางมันไม่ได้ แล้วที่ปล่อยวางไม่ได้ เพราะไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา
ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะข้าวของเงินทองมากมายที่คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เช่น ตำแหน่งหน้าที่ หรือแม้กระทั่งคนรัก คนเราไม่ค่อยเห็นโทษของการไปยึดว่า เป็นเรา เป็นของเรา บางทีไปยึดโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อย่างน้อยถ้าเกิดเฉลียวใจว่า โอ เราไปยึดเป็นเรา เป็นของเรา มันก็เกิดการเห็นโทษขึ้นว่า การยึดเช่นนี้มันเป็นโทษ เราก็จะเห็นความสำคัญการรู้จักปล่อยรู้จักวางมันออกไปจากใจ
แต่ถ้าเราปล่อยไม่ได้วางไม่ได้ ถึงเวลาที่มันแปรเปลี่ยน หรือแปรปรวน สูญเสีย พลัดพรากไปจากเรานี้ มันอาจทำให้จิตสลายได้ และบางครั้งก่อนที่จิตจะสลาย ร่างกายก็มีอันเป็นไปเสียก่อน เพราะการที่ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง เหมือนกับโจรมาปล้น มาจี้เอาเงิน เอาทรัพย์ เอาสร้อยแล้วเจ้าของไม่ยอม เพราะไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของฉันๆๆ หารู้ไม่ว่าตัวเองกลายเป็นของมันไปแล้ว จนยอมตายเพื่อมันได้
หลายคนก็ยอมตาย ยอมตายเพื่อที่จะรักษาสิ่งอันนั้นเอาไว้ ไม่ให้โจรเอาไป อันนี้เรียกว่าเอาตัวไม่รอด เพราะว่าความคิดที่ว่า มันเป็นเราเป็นของเรา เพราะไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง แล้วที่ไม่ปล่อย ไม่วาง หรือวางไม่ลง ความคิดว่าเป็นเราเป็นของเรามันจึงน่ากลัว เพราะเรากลายเป็นของมันทันที แล้วเราอาจจะตายเพื่อมันหรือตายเพราะมันก็ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
2/2/2024 • 27 minutes, 6 seconds 25661202pm--วางลง ปลงได้ ทำไม่ยาก
2 ธ.ค. 66 - วางลง ปลงได้ ทำไม่ยาก : เห็นกับเป็นมันตรงข้ามกัน เมื่อเห็นมันก็ไม่เข้าไปเป็น ก็คือไม่เข้าไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา หรือพูดอีกอย่างก็คือ การเห็นทำให้ไม่เปิดช่องให้มันมาทำร้ายใจได้ ในป่าเราเลี่ยงไม่ได้ต้องมีงู บนทางก็อาจมีหลุม เราเลี่ยงไม่ได้ เราปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เราเลี่ยงไม่ให้งูกัด ไม่เตะหนาม
ใจของเราก็เหมือนกัน มันก็ปฏิเสธไม่ได้ มีความคิด มีอารมณ์ มีความโกรธ มีความหดหู่ อันนี้ห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปแบก ไม่ปล่อยให้มันมาทำร้ายใจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ไปฉวย ไม่ไปยึด หรือไม่ไปแบกมันเอาไว้
เพราะฉะนั้นเรื่องการวาง หรือการปลง จริงๆ แล้วเราทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือชอบไปยึด ไปจับ ไปฉวย ไปแบกมากกว่า แต่ถ้ามีสติเห็น มีสติเห็นความคิดและอารมณ์ต่างๆ เห็นความทุกข์ การแบก การยึด การจับ การฉวยมันก็ไม่เกิดขึ้น วางแล้วก็วางเลย หรือถึงจะแบกแต่พอมีสติรู้ทันก็วางลง วางแล้วก็ไม่กลับมาแบกใหม่ อันนี้มันทำได้
ควรฝึกอยู่เสมอ ให้มีสติเห็น ให้มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ และต่อไปการเห็นด้วยสติก็จะพัฒนาเป็นเห็นด้วยปัญญา ซึ่งทำให้ใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง
2/1/2024 • 28 minutes, 40 seconds 25661201pm--จิตปลอดภัยเมื่ออยู่ในความรู้สึกตัว
1 ธ.ค. 66 - จิตปลอดภัยเมื่ออยู่ในความรู้สึกตัว : อย่างที่เราสวดกันมีตอนหนึ่งในบทภัทเทกรัตตคาถา ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าจะหมายถึงธรรม คือ รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอกก็ได้ หรือหมายถึงความคิดและอารมณ์ภายในก็ได้ เห็นแล้วไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ใจไม่กระเพื่อมเป็นการรู้ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา ใจที่มั่นคง ท่านสอนว่าให้ทําเช่นนั้นอยู่เนืองๆ ผู้ใดที่เห็นธรรมเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้
เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราฝึกจิตให้มีสติมีความรู้สึกตัว ไม่มัวแต่พยายามฝึกจิตให้นิ่ง หรือว่าบังคับจิตให้สงบ แต่ว่ายังมีความรู้สึกตัวได้ไว รู้ทันความคิดและอารมณ์ได้เร็ว แล้วก็สามารถที่จะเห็นหรือรู้ด้วยอาการที่สงบมั่นคง ไม่คลอนแคลน อันนี้ยิ่งเท่ากับทําให้ใจมีเครื่องรักษา มีเครื่องอารักขา ทําให้ปลอดภัยไม่ว่ามารจะมาล่อเร้าเย้ายวน หรือยั่วยุยังไง ก็ไม่ทําให้ใจเป็นทุกข์ได้
เมื่อใจปกติแล้ว การที่จะรักษาตน ครองตนให้อยู่ในความดี มีศีล มีธรรม หรือไม่ก่อทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น ก็ยิ่งเป็นไปได้ ฉะนั้นการพยายามรักษาใจให้อยู่ในถิ่นที่ปลอดภัย จึงเป็นสิ่งสําคัญมาก ที่จะช่วยให้ใจเราเป็นปกติสุขได้อย่างแท้จริง
1/31/2024 • 26 minutes, 45 seconds 25661130pm--ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตที่มุ่งธรรม
30 พ.ย. 66 - ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตที่มุ่งธรรม : ถึงแม้ว่าชาวพุทธเราจะมีจุดมุ่งหมายที่ดูสูงส่ง ดูประเสริฐ แต่ว่าถ้าเราเรียนรู้จากคนเหล่านี้ นักกีฬาเหล่านี้ รวมทั้งนักว่ายน้ำมาราธอนที่กล่าวถึงตอนต้น ว่าเขาอุตส่าห์ทุ่มเทอย่างไร ถ้าเราเอาความทุ่มเทอย่างเขามาสักครึ่งหนึ่ง มาใช้กับการทำความเพียรเพื่อเข้าถึงธรรม เราจะก้าวหน้าไปเยอะ
เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้เขาก็เป็นแบบอย่างให้กับเราได้ ที่จริงถึงแม้ว่าสิ่งที่เขามุ่งหวังคือชื่อเสียงเกียรติยศ หรือว่าเหรียญทอง มันอาจจะไม่ได้ช่วยทำให้มีความทุกข์น้อยลง ไม่ได้ช่วยดับทุกข์ แล้วก็อาจจะไม่ได้ช่วยทำให้โลกดีขึ้น แต่จะว่าไปมันก็เป็นแรงจูงใจหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับคน ว่าคนเราสามารถที่จะทำอะไรที่ทำได้ยากได้ อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนมีความเพียร แล้วถ้าเอาความเพียรนั้นมาใช้กับการทำสิ่งที่มีประโยชน์ มีสาระ มีคุณค่า ก็จะเกิดประโยชน์มาก
แต่การที่เราเอาอัตตาเป็นที่ตั้ง หรือว่าเป็นแรงจูงใจ ก็มีความเสี่ยง เพราะว่าพวกที่ก่อสงคราม ขยายดินแดน ขยายอาณาเขต ที่สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนให้กับผู้คน พวกนี้ก็ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะมีแรงจูงใจอย่างอื่นประกอบด้วย แต่ว่าการเอาอัตตาเป็นแรงจูงใจ ข้อดีมันก็มี มันทำให้คนสามารถทำสิ่งที่ทำได้ยากได้ แต่ถ้าหากว่าใช้ในทางที่ผิด มันก็ก่อความวุ่นวาย ก่อความเดือดร้อน ก่อหายนะให้กับมนุษย์ได้ อย่างที่เกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์
มันจะดีกว่า ถ้าหากว่าเรามีจุดหมายในทางธรรม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แล้วก็เพื่อความพ้นทุกข์ อันนี้เรียกว่าเพื่อประโยชน์ท่าน แล้วก็ประโยชน์ตนไปพร้อมๆ กัน แต่ถึงแม้จะมุ่งหวังในสิ่งที่ดีงาม แต่ถ้าขาดความเพียร มันก็ไม่เกิดประโยชน์
เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาความเพียรของคนเหล่านั้นมาใช้เป็นแรงจูงใจให้กับเรา มันก็จะช่วยทำให้ธรรมที่เรามุ่งหวัง สามารถจะเกิดผลเป็นจริงได้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้จากคนเหล่านี้ได้
1/30/2024 • 28 minutes, 49 seconds 25661129pm--จะอยู่นิ่งหรือสู้ต่อไป
29 พ.ย. 66 - จะอยู่นิ่งหรือสู้ต่อไป : บางเรื่องบางอย่างมันตัดสินยาก อย่างเช่น คนที่ป่วยระยะสุดท้าย หลายคนก็คิดว่าถ้าสู้ไปเรื่อยๆ มันจะมีโอกาสรอด แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วพอสู้ไปๆ แม้จะเป็นการยื้อชีวิตให้อยู่ได้ยืนยาวขึ้น แต่ว่ามันกลับเพิ่มความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ในกรณีแบบนี้แทนที่จะสู้ แต่ว่าปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบตามกระบวนการธรรมชาติ ยังจะดีกว่า ตรงนี้เป็นเรื่องตัดสินใจยาก
ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือว่าญาติของผู้ป่วย คนป่วยเขาหมดสภาพไปแล้ว แต่ญาติหรือหมอจำนวนไม่น้อยก็คิดว่าต้องสู้ แต่ว่าการสู้ บ่อยครั้งก็ทำให้คนป่วยทรมานหนักขึ้น การไม่สู้แต่ช่วยทำให้เขาจากไปอย่างสงบ อาจจะดีเสียกว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก
ฉะนั้นถ้าหากว่าคนเรามีความสามารถในการแยกแยะได้ว่า กรณีใดที่ถ้าสู้แล้วจะรอด หรือจะประสบความสำเร็จ หรือกรณีใดสู้ไปก็มีแต่จะสร้างความทุกข์ สร้างความเสียหาย วิธีที่ดีที่สุดคือว่ายอม ไม่ทำอะไรเลย หรือทำให้น้อยที่สุด อาจจะเป็นการดีกว่าก็ได้ เผลอๆ อาจจะรอดก็ได้ อย่างกรณีแรกที่ลอยคออยู่กลางทะเล อันนี้เป็นโจทย์ที่มันหาข้อสรุปได้ยาก
คนเราก็คงจะต้องเจอกับโจทย์แบบนี้อยู่เรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็สักครั้งสองครั้งในชีวิต ว่าจะหยุดหรือว่าจะสู้ต่อไป บางครั้งการหยุดอาจจะดีกว่า แต่บางครั้งการสู้ต่อไปก็อาจจะทำให้ประสบความสำเร็จก็ได้ แต่ก็ไม่แน่ เพราะบางทีการสู้อาจทำให้ทำความทุกข์ทรมาน อันนี้เป็นเรื่องที่คงต้องใช้ประสบการณ์ และปัญญาในการแยกแยะ
1/29/2024 • 29 minutes, 9 seconds 25661128pm--รู้จักหยุด รู้จักยอม จึงไปต่อได้
28 พ.ย. 66 - รู้จักหยุด รู้จักยอม จึงไปต่อได้ : แต่ถ้าเราเริ่มยอมรับ ยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง อย่างน้อยก็จะเจอธนูแค่สองดอก หรือยิ่งถ้าฝึกให้สามารถยอมรับความเจ็บปวดได้ ความทุกข์ใจก็จะน้อยลง แต่ถ้ายอมรับความเจ็บปวดไม่ได้ มีความทุกข์ใจเกิดขึนก็ยอมรับความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นนักปฏิบัติธรรมก็มีโอกาสที่จะเกิดความรูุ้สึกแบบนี้ได้ ถ้ายอมรับ ความทุกข์ก็จะน้อยลง
เพราะฉะนั้น การที่เรารู้จักหยุด หรือรู้จักยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ยอมรับสิ่งที่ไม่ประสงค์ที่มันเกิดขึ้นกับใจของตัวเองหรือกับชีวิตของตัวเอง เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าให้ความรู้สึกว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ฉันเป็นคนเพอร์เฟกต์ ฉันเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มาเป็นตัวที่ทำให้เราไม่ยอมรับความผิดพลาด หรือสิ่งที่ไม่ประสงค์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้
สิ่งแย่ๆ ถ้าเรายอมรับได้ มันก็ช่่วยลดความทุกข์ลงได้เยอะ และบางครั้งเราอาจจะต้องรู้จักหยุด รู้จักถอย เพื่อที่เราจะได้ก้าวเดินต่อไป ไม่ใช่เดินหน้าแล้วดันทุกรังไป สุดท้ายก็ตกเหวตกหน้าผา ซึ่งเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นไม่น้อยเลยโดยเฉพาะกับคนที่เก่ง คนที่มีความสามารถ คนที่เป็นที่ยกย่อง เป็นไอดอลหรือไอคอนของผู้คน อันนี้เป็นกับดักที่ต้องระวัง
1/28/2024 • 28 minutes, 38 seconds 25661125pm--อย่าเสียเวลากับเรื่องไร้ประโยชน์
25 พ.ย. 66 - อย่าเสียเวลากับเรื่องไร้ประโยชน์ : คนเราไปเสียเวลาเสียอารมณ์ไปกับเรื่องพวกนี้มาก โดยเฉพาะคนที่ยึดมั่นในความถูกต้องจากคนอื่น ว่าเขาทำไม่ถูกต้อง เพื่อนบ้านส่งเสียงดัง เอาขยะมาวางไว้หน้าบ้าน หมาก็เห่า ลูกน้องหรือเจ้านายไม่เป็นธรรม ไปเสียเวลาแม้กระทั่งกับลูก กับภรรยาหรือสามี “พูดไม่เพราะกับฉัน” “ไม่เคยขอบคุณสักคำ” ถ้าเรามัวไปเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว
และที่สำคัญคือ เรามีเวลาเหลือในโลกนี้น้อย อย่างที่คุณยายบอก “ผู้หญิงคนนี้กับฉัน กับคุณก็ตาม เราอยู่บนรถโดยสารคันนี้เพียงแค่ชั่วคราว ไม่นานเราก็ต้องลงแล้ว” รถโดยสารในที่นี้หมายถึงอะไร หมายถึงโลกใบนี้ เรามีเวลาอยู่ในโลกใบนี้เพียงแค่ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่นาน แล้วเวลาเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที จะมัวเอาเวลาไปทะเลาะเบาะแว้งกับเรื่องไม่เป็นเรื่องทำไม ไปเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่องทำไม
คนเรามักแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นเรื่องเล็ก อะไรเป็นเรื่องใหญ่ บางคนเห็นเป็นเรื่องใหญ่ไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะคนที่ถือตัวถือตน ถือเรื่องหน้าตา ถือเรื่องศักดิ์ศรี อย่างเรื่องผู้หญิงออฟฟิศเกิร์ลคนนั้นทำแบบนั้น มันต้องเอาเป็นเรื่อง ทำอย่างนี้กับฉันได้ยังไง รู้ไหมฉันเป็นใคร แต่ในเมื่อเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้น้อย แล้วก็ลดลงไปเรื่อยๆ เราก็อย่าไปเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่องเลย ให้ความสำคัญกับเรื่องที่สำคัญดีกว่า
รวมทั้งอย่าไปให้เวลากับความเศร้า ความโศก ความโกรธ ความแค้นมากนัก อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องหน้าตาศักดิ์ศรี ปล่อยมันไปบ้าง เพื่อจะได้มีเวลาให้กับสิ่งที่สำคัญ เช่น คนที่เรารัก ลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ แล้วก็ตัวเรา ถ้าเราคิดแบบนี้ได้ เราจะมีเวลาสำหรับการฝึกฝนเพื่อที่จะพาชีวิตนี้เข้าสู่ชีวิตที่พึงปรารถนา สามารถฟันฝ่าคลื่นลมไปได้อย่างปลอดภัย
1/27/2024 • 22 minutes, 58 seconds 25661125am--เข้าใจมรรค ปฏิบัติถูก ชีวิตย่อมผาสุก
25 พ.ย. 66 - เข้าใจมรรค ปฏิบัติถูก ชีวิตย่อมผาสุก : คำว่า ขจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดไป จริงๆ มันแสดงว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ได้ เพราะเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจเรา ถ้าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่คนอื่นก็ยากแล้ว เพราะเราไปทำอะไรเขาไม่ได้ แต่ถ้าเราพบว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจเรา เราแก้ที่ใจเรา ทุกข์ก็หมดไป จะทําอย่างนี้ได้ ก็ต้องใช้สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาทิฏฐิ
การที่แซมเขาคิดแบบนี้ว่าเราเปลี่ยนใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ นี่ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเราอาจจะมองว่าเป็นการคิดแบบโยนิโสมนสิการก็ได้ หรือบางทีเราก็ใช้คำว่าคิดบวกก็ได้
เพราะฉะนั้นคําว่า “มรรค” ถ้าเราจับประเด็นได้มันจะไม่ยาก ไม่ยากในแง่ของความเข้าใจ ไม่ยากในแง่ของการเห็นคุณค่า จะทําอย่างไรก็ได้ให้ได้ 4 ประการนี้ คือ 1) อย่าเอาทุกข์มาทับถมตน หรือว่าอย่าซ้ำเติมตัวเอง เมื่อเจอทุกข์หนึ่ง อย่าเพิ่มทุกข์ให้เป็นสองเป็นสาม 2) อย่าปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม 3) อย่าสยบมัวเมาในความสุขที่ชอบธรรมนั้น และ 4) ขจัดสาเหตุแห่งทุกข์ให้หมดไป อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ก็เพื่อ 4 ประการนี้แหละ ถ้าเราใช้เป็น
แต่ถ้าคุณไม่ใช้ ไม่ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ที่มี 4 ประการนี้ ถึงคุณจะเห็นดีอย่างไร คุณก็ทําไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันเมคเซนส์มาก แล้วมันก็ไม่ยากอะไรเลย ไม่ได้เรียกร้องให้ต้องไปนิพพานก่อน แต่มันเรียกร้องแค่ให้มีสติ มีปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติ แต่มันต้องอาศัยศีลมารองรับไม่ว่าจะเป็น สัมมาอาชีวะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และนี่ก็คือศีล 5 ง่ายๆ
1/26/2024 • 42 minutes, 23 seconds 25661124pm--ทุกข์เพราะใจ แก้ให้ถูก
24 พ.ย. 66 - ทุกข์เพราะใจ แก้ให้ถูก : หลายคนกว่าจะรู้ก็ตอนจะตาย อุตส่าห์ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อหาเงินหาทอง ชื่อเสียง เพื่อให้ได้เป็น CEO เพื่อให้ได้เป็นรัฐมนตรี สุดท้ายตอนใกล้ตายพบว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่พึงเป็นสรณะของชีวิตอย่างแท้จริง เพราะมีเท่าไหร่ก็ยังไม่หายทุกข์ มารู้เอาตอนจะตาย หลายคนเป็นอย่างนี้ มารู้ว่าทั้งหมดที่หามาทั้งชีวิต ต้องฟาดฟัน ต่อสู้ บางทีต้องทรยศ หักหลัง หรือแม้จะต้องต่อสู้จนทะเลาะกับเพื่อน ทะเลาะกับญาติพี่น้อง
กว่าจะได้มาแล้วพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตต้องการเลย เพราะมันไม่ช่วยทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างแท้จริง หลายคนบอกว่า “รู้งี้กูไม่ทำอย่างนี้หรอก” คนใกล้ตายหลายคนที่มักจะพูดอย่างนี้ “รู้งี้จะไม่ทำอย่างที่เคยทำ” เช่น การทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อหาเงินหาทอง เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศ ความรู้ส่วนใหญ่มีประโยชน์ แต่ที่ไม่มีประโยชน์ก็คือ ‘รู้งี้’ เพราะสายไปแล้ว มารู้งี้ตอนจะตาย
บางคนนี้บอก ‘รู้อย่างนี้’ จะไม่ทุ่มเททั้งชีวิตนี้ให้กับการงาน แต่ก่อนเคยคิดว่า “ถ้าไม่มีเรา งานไม่สำเร็จ” “องค์กรอยู่ได้เพราะเรา” “ถ้าไม่มีเรา องค์กรอยู่ไม่ได้” แล้วคิดต่อว่า “อะไรที่ทำให้ชีวิตก้าวหน้า ฉันก็จะทำเพื่อสิ่งนั้น” พอถึงตอนนี้รู้ว่าพอป่วยระยะท้ายมาพบว่า “ไม่มีเรา องค์กรก็อยู่ได้” “เราไม่ทำ คนอื่นเขาก็ทำแทน” แล้วมีหลายคนที่พูดแบบนี้
1/25/2024 • 45 minutes, 30 seconds 25661122pm--มีให้เป็น เสียไปก็ไม่ทุกข์
22 พ.ย. 66 - มีให้เป็น เสียไปก็ไม่ทุกข์ : คนเราถ้ารู้จักมองสิ่งที่มีบ้าง ก็ทำให้เราตัดใจจากสิ่งที่เสียไปได้ ตัดใจทั้งในแง่ที่ว่า ไม่มากลุ้มอกกลุ้มใจกับมัน แล้วก็ไม่ไปคิดที่จะทำอะไรเพื่อจะทำให้สิ่งที่เสียไปกลับคืนมา ทั้งๆ ที่มีโอกาสที่จะเสียหนักขึ้นกว่าเดิม และถ้าคนเราได้ตระหนักว่า จริงๆ ที่เราเสียไป แม้จะเสียเยอะ แต่สุดท้ายเราก็ยังกำไร เพราะว่าเราเกิดมาก็ตัวเปล่า เสื้อผ้าก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ ที่เรามีทรัพย์สินมากมายทุกวันนี้ ทั้งหมดที่มีคือกำไร แม้บางอย่างจะหายไปสูญไป ก็ยังกำไรอยู่เหมือนเดิม แม้ว่าอาจจะกำไรน้อยลง
หากเราไม่มองสิ่งที่เสียมากเกินไป แต่มาจดจ่อกับสิ่งที่เรามี มันก็ทำให้ทุกข์น้อยลง ยิ่งถ้าเราฝึกจิตจนกระทั่งรู้จักปล่อยวางได้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ทั้งหมดที่มี สุดท้ายก็ต้องสูญไป ไม่สูญวันนี้ ไม่เสียวันนี้ก็เสียวันหน้า วันที่เราตาย หมดลม ก็ไม่มีอะไรเหลือ ต้องสูญเสียไปหมดแม้กระทั่งลมหายใจ ทุกอย่างที่มี ร่างกาย ก็คืนสู่ธรรมชาติ ทรัพย์สินก็คืนหรือมอบให้กับลูกหลาน หรือว่าแผ่นดิน
ถ้าเรารู้แบบนี้ เราก็ตระหนักว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเรา มันอยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว เพราะฉะนั้นจะเสียใจไปทำไม ถ้าเรารู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มี อันนี้เรียกว่ามีเป็น พอมีเป็น ถึงแม้เสียไปก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้ามีไม่เป็น มันก็จะทุกข์กับการสูญเสีย ซึ่งก็มีแต่จะเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง
1/24/2024 • 27 minutes, 44 seconds 25661122--อันตรายในมือเด็ก
22 พ.ย. 66 - อันตรายในมือเด็ก : อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราเคยได้ยินมาแล้ว ว่าเดี๋ยวนี้คนติดโซเชียลมีเดียมาก ไม่ใช่เฉพาะเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ก็ติด หลายๆ คนก็เกิดความทุกข์ เพราะว่าเห็นคนนั้นคนนี้เขาได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ไปญี่ปุ่น ไปเกาหลี แต่เราต้องมาทํางานหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยว ได้ไปกินอะไรอร่อยๆ เหมือนเขาเลย รู้สึกแย่ รู้สึกว่าชีวิตมันย่ำแย่ แบบนี้เกิดขึ้นแม้กระทั่งผู้ใหญ่
แต่มันไม่หนักหนาเท่ากับผลร้ายที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งทําให้หลายคนฆ่าตัวตาย เพราะว่าเกิดภาวะซึมเศร้าจิตตก ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นความตั้งใจของพวกโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ที่พยายามกระตุ้นให้มีเนื้อหาหรือคอนเทนต์ทํานองนี้ เพราะว่ามันจะกระตุ้นให้คนติดตาม และก็มีส่วนร่วมแชร์อะไรต่างๆ
เพราะว่าถ้าคนติดตามโซเชียลมีเดียมากเท่าไร เขาก็มีโอกาสที่จะได้ข้อมูลส่วนตัวเอาไปขาย ประโยชน์สารพัด ประโยชน์ทางธุรกิจหรือมิฉะนั้นก็เปิดโอกาสให้ขายโฆษณา เรียกว่าไม่รับผิดชอบ พอมีนโยบายเป็นแบบนี้มากๆ เข้า ก็เลยไม่รับผิดชอบต่อเนื้อหา
เนื้อหาทั้งหมดนี้ เราก็คงสังเกตว่าบางทีมันมีโพสต์ หรือภาพ หรือคลิปโผล่ขึ้นมาในโทรศัพท์ของเรา ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ติดตามแต่มันโผล่ขึ้นมา ซึ่งบางทีก็เป็นภาพลามก เป็นคลิปเอ็กซ์ หรือว่าบางทีก็เป็นคลิปที่น่ากลัวสยดสยอง มันทําได้อย่างไร มันก็มีอัลกอริทึม (Algorithm คือ กระบวนการที่เมื่อนำเข้าข้อมูลใด โปรแกรมจะกำหนดว่าจะต้องได้ผลลัพธ์เช่นนั้น และทำให้เกิดกระบวนการทำวนซ้ำของข้อมูลอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งเสร็จสิ้นการทำงานของข้อมูลตามที่กำหนดไว้) ที่มันถูกสร้างขึ้นมา
ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อนําเสนอให้กับผู้ติดตาม ผู้ที่เป็นลูกค้า ผู้ที่ใช้ Facebook Instagram และหลายคนก็ตกเป็นเหยื่อ ผู้ใหญ่ไม่เท่าไร แต่เด็กตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
1/23/2024 • 10 minutes, 58 seconds 25661121pm--ไม่เอาทุกข์ ไม่เอาสุข
21 พ.ย. 66 - ไม่เอาทุกข์ ไม่เอาสุข : คำแนะนำ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็น ‘ไม่หาทุกข์มาทับถมตน’ ‘ไม่ปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรมหรือไม่มองข้ามความสุขที่ชอบธรรม’ ‘ไม่สยบมัวเมาในความสุขนั้นหรือไม่ยึดติดในความสุข แม้ชอบธรรมก็ตาม’ รวมทั้ง ‘รู้จักขจัดเหตุแห่งทุกข์’ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยสติเป็นตัวนำ เพราะถ้าไม่มีสติเป็นตัวนำ สิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำมาทั้ง 4 ประการนี้แม้เราจะเห็นว่าดี ก็ทำไม่ได้ มันก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลงไปตามอารมณ์ หลงไปตามกิเลส
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องสุขและทุกข์ให้ดี และปฏิบัติกับทุกข์อย่างไร ปฏิบัติอย่างไรกับสุขให้ถูกต้อง เราจะรู้เลยว่าสตินี้สำคัญมาก มันจะทำให้เราสามารถปฏิบัติกับสุขและทุกข์ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่แค่ทุกข์ไม่เอาอย่างเดียว สุขก็ไม่เอาด้วย เรียกว่าอยู่เหนือสุข อยู่เหนือทุกข์เลยทีเดียว นั่นคือสิ่งที่จะพาให้จิตใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง
1/22/2024 • 29 minutes, 47 seconds 25661120pm--สติทำได้ทุกที่ทุกเวลา
20 พ.ย. 66 - สติทำได้ทุกที่ทุกเวลา : หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดเสมอว่า “นักปฏิบัติต้องเป็นนักฉวยโอกาส” ฉวยโอกาสทุกเวลา ทุกกิจกรรมที่ทำเพื่อการเจริญสติ หรือแม้มีการกระทบ มีการกระทบเกิดขึ้นเกิดอารมณ์ เกิดความโกรธ เกิดความเศร้า เกิดความดีใจ เกิดความเสียใจ ก็เป็นโอกาสของการเจริญสติ อย่างเด็กที่พูดถึง ดีใจก็เห็นมัน เห็นข้างในมันดีใจ เห็นความดีใจ แต่ไม่ใช่ผู้ดีใจ อันนี้เด็กเขาก็รู้เห็นแต่ไม่เข้าไปเป็น แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การปฏิบัติในรูปแบบ ก็ยังเห็นไม่เข้าไปเป็น เห็นความดีใจไม่เป็นผู้ดีใจ
เพราะฉะนั้นการเจริญสติแบบจึงเป็นวิธีสากล ยิ่งเราฝึกด้วยการเปิดตา ไม่ปิดตา มันยิ่งมีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะว่ากิจกรรมส่วนใหญ่เราก็เปิดตาทำทั้งนั้น ตั้งแต่เก็บที่นอน อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า ข้ามถนน ขับรถ กวาดใบไม้ ล้างจาน เปิดตาทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักทำความรู้สึกตัวในขณะที่เปิดตาสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรม มันก็ไม่ยากที่เราจะทำความรู้สึกตัวในขณะที่เราทำกิจกรรมต่างๆ มันเป็นการประยุกต์ที่ง่าย
เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักทำการปฏิบัติให้มันกลืนไปกับชีวิตประจำวัน มันจะไม่มีข้ออ้างเลยว่าไม่มีเวลา ถ้ามันมีข้ออ้างแบบนี้เมื่อไรแสดงว่า มันเป็นเหตุผลของกิเลส เป็นข้ออ้างของกิเลส อาจจะต้องถามตัวเองว่าเรามีเวลาโกรธไหม เรามีเวลาเครียดไหม เรามีเวลาเศร้าไหม กับความโกรธ ความเศร้า เราให้เวลากับมัน แต่ทำไมการเจริญสติ การปฏิบัติ เราจึงไม่ยอมให้เวลากับมัน
และอย่างที่บอกถ้าเราปฏิบัติโดยไม่ใช้รูปแบบ มันไม่เรียกร้องเวลาเลย เพราะว่าทำอะไรก็เอาการปฏิบัติ หรือการเจริญสติสวมทับเข้าไปได้เลย ไม่ว่ากินดื่มเคี้ยวลิ้ม หรือแม้แต่เข้าห้องน้ำอุจจาระปัสสาวะ ก็เป็นโอกาสในการเจริญสติทำความรู้สึกตัวได้
1/21/2024 • 27 minutes, 5 seconds 25661119pm--ชีวิตมั่นคงเพราะฐานใจหยั่งลึก
19 พ.ย. 66 - ชีวิตมั่นคงเพราะฐานใจหยั่งลึก : แต่ว่าความคิด อารมณ์ มันไม่ได้เกิดขึ้นขณะที่เราทำนั่นทำนี่อย่างเดียว อาจจะรวมถึงเวลาเราเจอนั่นเจอนี่ด้วย เจอเสียงดัง เจอเสียงนกร้องที่ไพเราะ หรือว่าเจอคำพูดทั้งคำชมและคำตำหนิ หรือว่าเจอความร้อน เจออากาศหนาว เวลาเจอหรือมีการกระทบแบบนี้ มันก็มักจะมีความคิดเกิดขึ้น ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ หรือว่าบ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ก็ให้มีสติเห็นความคิดนึก ซึ่งมันก็ทำให้เราทำ 2 อย่างไปด้วยกันเลย ก็คือทำงานภายนอก ทำงานภายใน
‘งานภายนอก’ คือ การรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง ที่มากระทบ ส่วน ‘งานภายใน’ ก็คือเห็นความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทบนั้น และเช่นเดียวกันเวลาทำนั่นทำนี่ รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน หรือว่าเดินไปเดินมา รวมทั้งทำงานทำการที่เป็นเรื่องของอาชีพการงาน ทำครัว ทำอาหาร อันนี้เรียกว่าเป็นงานภายนอก
แต่ว่าขณะที่ทำ ใจก็รับรู้ถึงสิ่งที่ทำ เกิดความรู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ รวมทั้งรู้เห็นความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะเกิดจากงานที่ทำหรืออาจจะไม่เกี่ยวอะไรก็ได้ แต่ใจมันคิดโน่นคิดนี่ก็รู้ นี่คืองานภายใน หรือจะเรียกว่าเป็นการรู้ในก็ได้
ถ้าเราขยันหมั่น รู้นอก-รู้ใน ไปด้วยกันเสมอ หรือ ทำงานภายนอก-ทำงานภายใน ไปด้วยกันเสมอ มันก็จะทำให้ฐานใจของเราหยั่งลึก แล้วก็ทำให้ชีวิตของเรามีความมั่นคง ทำงานอะไรมันก็ไปได้ดี แม้จะล้มเหลวแต่ก็ไม่ทุกข์ เอาความล้มเหลว เอาความผิดพลาดเป็นครู มันก็เกิดความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งเป็นงานที่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม เพราะว่ามีใจที่มีคุณภาพเป็นตัวขับเคลื่อนหรือตัวกำกับ
1/20/2024 • 29 minutes, 42 seconds 25661118pm--ยอมรับความไม่สงบด้วยใจสงบ
18 พ.ย. 66 - ยอมรับความไม่สงบด้วยใจสงบ : วิชารู้ซื่อๆ วิชาเห็นไม่เข้าไปเป็น สำคัญมาก จะช่วยทำให้เรารับมือกับสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ไม่ถูกใจได้ อย่างที่บอก การทำความเพียรเพื่อประสบสิ่งที่ชอบสิ่งที่ถูกใจยากแล้ว แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ การวางใจเป็นกลาง หรือยอมรับสิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งที่ไม่ถูกใจเรา วิชานี้สำคัญมาก เพราะสุดท้ายเราก็ต้องเจอไม่มากก็น้อย ไม่ช้าก็เร็ว
เพราะฉะนั้นฝึกเอาไว้ การเจริญสติไม่ใช่เพื่อให้สงบอย่างเดียว แต่แม้ไม่สงบก็ยอมรับได้ เรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่สงบ อยู่กับความเจ็บปวด อยู่กับสิ่งที่ไม่ถูกใจด้วยใจที่ไม่ทุกข์ รถติดจิตก็ไม่ตก ไม่ว่าเจออะไร คำต่อว่าด่าทอมากระทบใจก็ยังสงบได้ ไม่ใช่สงบเพราะไม่มีใครว่า ไม่ใช่สงบเพราะไม่มีเสียงกระทบหู แต่เพราะว่ามีสติต่างหากจึงไม่ปล่อยให้อารมณ์อกุศลมาครอบงำจิต รู้ทันมัน แล้วก็เห็นมัน แล้วก็วางมันลง
1/14/2024 • 31 minutes, 32 seconds 25661117pm--เปลี่ยนที่ใจก็ไม่ทุกข์
17 พ.ย. 66 - เปลี่ยนที่ใจก็ไม่ทุกข์ : แต่ถ้าหากว่ารู้จักไตร่ตรองจนเห็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจเรา เเล้วก็ปรับแก้ที่ใจเรา บางทีเราไม่จำเป็นต้องมองว่าเสียงระเบิดว่าเป็นเสียงความสุขเหมือนกับเด็ก 3 ขวบคนนั้นก็ได้ แต่ว่าเราอาศัยสติ เวลาเสียงแบบนั้นมันดังกระทบหู ใจกระเพื่อม เห็นอาการของใจที่กระเพื่อม เห็นความตกใจที่เกิดขึ้น แล้วความตกใจมันก็สงบลง ก็จะพบว่า เป็นเพราะใจเราที่มันถลำเข้าไปในความตกใจในอารมณ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์
ได้ยินเสียงแต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ เพราะรู้ทันความตกใจ หรือ รู้ทันอาการของใจที่เกิดขึ้น มันก็ใช้สติช่วยได้เหมือนกัน ใช้สติช่วยทำให้เราไม่ใช่แค่ปล่อยวางอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น ซึ่งเท่านี้มันก็ช่วยทำให้ใจเราไม่ทุกข์แล้ว เพราะว่าความตกใจถ้าเราเห็นมัน มันก็ไปครอบงำใจเราไม่ได้
แต่ถ้าเราเห็นต่อไปว่า มันเป็นเพราะเราไปคาดหวังความสงบ ทุกอย่างจะต้องราบรื่น แต่พอมันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง จึงเกิดความทุกข์ อย่างที่ท่านว่า “ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์” แต่ถ้าไม่ปรารถนา แม้ไม่ได้มันก็ไม่ทุกข์
เพราะฉะนั้นการไม่ได้ มันไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆ อยู่ที่ความปรารถนาสิ่งนั้น จับสมุทัยให้ถูก แล้วเราก็จะแก้ทุกข์ในใจของเราได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้สิ่งแวดล้อมภายนอก มันเปลี่ยนแปลงหรือถูกใจเรา อย่างที่แซมเขาก็พบความสงบในใจ เพราะเขาไม่ได้เรียกร้องคาดหวังความเข้าใจจากคนอื่น แต่เขากลับมาเปลี่ยนที่ใจเขาเอง
1/13/2024 • 30 minutes, 4 seconds 25661116pm--กล้าผิดไม่กลัวเผลอ
16 พ.ย. 66 - กล้าผิดไม่กลัวเผลอ : ระหว่างเป็นผู้เครียดกับเห็นความเครียดมันต่างกัน แล้วการที่เราจะเห็นความเครียดว่ามันต่างจากการเป็นผู้เครียด เงื่อนไขแรกคือต้องยอมให้มันเครียดก่อน ยอมให้ความเครียดเกิดขึ้นก่อน เราถึงจะเห็นว่ามีความเครียดเกิดขึ้น และเห็นความแตกต่างระหว่างการเห็นความเครียดและการเป็นผู้เครียด
อย่างน้อยพื้นฐานต้องมาถึงตรงนี้ และพอเราเห็นแล้ว ความเครียดก็ทำอะไรใจไม่ได้ เพราะมันเกิดระยะห่าง เราจะเห็นความเครียดก็ต่อเมื่อออกจากความเครียดก่อน แต่ถ้าเป็นผู้เครียดก็คือเข้าไปคลุกวงในแล้ว ไปจมอยู่ในความเครียดแล้ว มันก็ทุกข์ แต่พอเราพาจิตออกจากความเครียด มันก็จะเห็นความเครียด และใจก็จะไม่ทุกข์
และไม่ใช่แค่ไม่ทุกข์หรือสงบได้ง่ายขึ้น แต่ยังเกิดปัญญาด้วยว่า ความเครียดไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นความรู้ที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราเห็นต่อไปว่า ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น มันเป็นแค่อาการที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ตรงนี้เรียกว่าปัญญาเริ่มเกิดแล้ว มันไม่ใช่แค่ความสงบ แต่ว่ามันเกิดความสว่างขึ้นในใจด้วย
1/12/2024 • 29 minutes, 53 seconds 25661115pm--รู้ทันกิเลส เห็นเหตุแห่งทุกข์
15 พ.ย. 66 - รู้ทันกิเลส เห็นเหตุแห่งทุกข์ : นักปฏิบัติธรรมบางคนเห็นความโกรธ แต่มองไม่เห็นเบื้องหลังความโกรธคือความอยาก เป็นกิเลสตัวหนึ่ง ต้องเห็น เราต้องปฏิบัติจนกระทั่งเห็น ไม่ใช่แค่ตัวความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมันทำให้จิตใจว้าวุ่นหรือว่าเกิดความไม่พอใจ แต่ต้องเห็นตัวการที่มันอยู่เบื้องหลังความไม่พอใจนั้น
ทำนองเดียวกัน เวลาเราทำอะไรดีแล้วมีคนชม เราก็ดีใจ เราก็เห็นความดีใจนั้น เห็นความดีใจแล้วก็วาง ไม่ปล่อยให้ใจเคลิ้มกับคำชม อันนี้ดี แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเกิดไปเห็นว่าเบื้องหลังความพอใจคืออะไร เป็นเพราะเรารู้สึกได้หน้าได้ตา เป็นเพราะอัตตามันพองโต เป็นเพราะอยากได้คำชื่นชมสรรเสริญ อันนี้ก็คือกิเลสอีก ก็ให้รู้
ถ้าเราเจริญสติแล้วเรารู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แต่ไม่ทะลุถึงกิเลส ถือว่ายังไม่ก้าวหน้าพอ ต้องทะลุไปจนถึงเห็นอะไรที่มันลึกไปกว่านั้น
บางคนมีญาติมายืมเงิน เครียดมาก เดินจงกรมกลับไปกลับมาก็มีความเครียด แต่ก็มีสติรู้ทันเห็นความเครียด พอรู้แล้วก็วาง สุดท้ายใจก็สงบ ไม่เครียดแล้ว แต่นั่นยังไม่พอ จะดีกว่านั้นถ้าเกิดเห็นว่าที่เครียดเพราะอะไร เครียดเพราะว่ายังมีความตระหนี่ในเงิน ยังเสียดายเงิน ยังมีความหวงแหนในเงิน ตรงนี้ก็ทำให้เราเห็นกิเลส
ฉะนั้นแค่เห็นความคิด เห็นอารมณ์ยังไม่พอ ต้องเห็นกิเลสที่อยู่เบื้องหลังความคิดและอารมณ์เหล่านั้นด้วย และต่อไปมันจะเห็นลึกไปถึงขั้นว่าจริงๆ แล้วความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย มันไม่ได้อยู่ที่มีอะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา มันอยู่ที่ใจเรา อยู่ที่การวางใจของเรา อยู่ที่อากัปกิริยาหรือท่าทีของใจเรา ซึ่งถ้าไม่เห็นก็ไม่รู้
1/11/2024 • 29 minutes, 38 seconds 25661114pm--สติมาไว ใจคลายทุกข์
14 พ.ย. 66 - สติมาไว ใจคลายทุกข์ : สติก็เหมือนกัน เราก็ต้องให้โอกาสสติได้ทำงาน คือให้สติระลึกนึกขึ้นมาได้เอง เดินจงกรมไปเรื่อยๆ สร้างจังหวะไปเรื่อยๆ ใหม่ๆ กว่าจะรู้กก็คิดไปสิบเรื่อง แต่ทำไปเรื่อย ทำไปเรื่อยๆ ผ่านไปสองสามชั่วโมง สี่ห้าชั่วโมง สติก็จะรู้ทันความคิดได้ไวขึ้น รู้ทันอารมณ์ได้ไวขึ้น และเป็นการรู้เอง
และพอถึงจุดหนึ่ง แค่คิดยังไม่ทันจบเรื่อง มันก็รู้แล้ว บางทีคิดปั๊บก็รู้ปุ๊บเลย ถึงตอนนั้นก็อดทึ่งไม่ได้ว่า โอ้โหสติทำงานได้อย่างน่าทึ่งมาก เรียกว่าเหมือนปาฏิหาริย์เลยทีเดียว ไม่เคยคิดว่าสติจะทำงานได้เร็วขนาดนี้
เผลอคิดปุ๊บมันรู้ปั๊บเลย รู้แล้ววาง รู้แล้ววางโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องคอยไปดักจ้องความคิด สติทำงานแทน สติบอกเราเองว่า ตอนนี้เผลอไปแล้ว มีความคิดเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว มันรู้แล้ววาง ทันทีเลย
มันจะถึงภาวะนี้ได้ มาถึงจุดนี้ได้มันก็ต้องยอม อดทนให้สติได้ทำงาน เปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานของเขา แม้จะช้า แต่เราก็ต้องใจเย็น อย่าไปใจร้อน ต้องมีความอดทน แล้วสติก็จะเติบโตและทำงานได้ดีขึ้นๆ ใจเราก็จะเบา ความคิดอารมณ์ก็จะมารบกวนจิตใจเราน้อยลง
1/10/2024 • 30 minutes, 28 seconds 25661113pm--ขุมทรัพย์กลางใจ
13 พ.ย. 66 - ขุมทรัพย์กลางใจ : คนเราเป็นหนี้สติและความรู้สึกตัว โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะว่าถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว ป่านนี้เราคงแย่ไปแล้ว หรือแย่กว่านี้ อาจจะประสบอุบัติเหตุขณะขับรถ อาจจะโดนรถชนขณะข้ามถนน หรือว่าอาจจะเผลอไผลไปทะเลาะเบาะแว้งกับผู้คน จนกระทั่งต้องลงไม้ลงมือทำร้ายกัน หรือเป็นทาสของสิ่งยั่วยุและเย้ายวน เช่น อบายมุขต่างๆ
ตัวหนึ่งของการที่เราไม่ตกไปเป็นเหยื่อของสิ่งเหล่านี้ แล้วก็พาตัวมาถึงตรงนี้ได้ ก็เพราะว่าเรามีสติ มีความรู้สึกตัว แต่ถ้าเรามีสติที่เร็วกว่านี้ ว่องไวกว่านี้ มีความรู้สึกตัวที่แจ่มชัดกว่านี้ เราจะได้พบสิ่งดีๆ อีกมากมายที่มีคุณค่าต่อชีวิต ถึงขั้นหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เลย
สติจึงเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐมาก เรียกว่าอริยทรัพย์ ไม่ต้องไปแสวงหาทรัพย์ที่ไหน เพราะว่าของดีมีอยู่แล้วในใจเรา อยู่ที่ว่ามารู้จัก แล้วก็ทำให้เกิดความเจริญงอกงามขึ้น และนี่แหละก็คือสิ่งที่เราควรจะหวังได้จากการปฏิบัติ หรือหวังได้จากการเดินทางมาปฏิบัติถึงที่นี่
1/9/2024 • 28 minutes, 7 seconds 25661104pm--ทำบุญแล้ววางใจให้เป็นด้วย
4 พ.ย. 66 - ทำบุญแล้ววางใจให้เป็นด้วย : คนทุกวันนี้เสียเวลา เสียอารมณ์ไปกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เยอะมาก เพราะไปให้ค่า ไปให้ความสำคัญกับมัน อาจจะเป็นเพราะยึดติดในความถูกต้อง หรือยึดติดในมารยาทจะต้องไม่มามีอะไรมากระทบฉัน ยึดติดในความถูกต้องว่า “ฉันมีสิทธิ์ในร่างกายของฉัน อย่ามากระแทกกระเทือกอะไรกับฉัน” ถ้าคิดแบบนี้ก็ทุกข์
เหมือนกับถ้ามีเสียงโทรศัพท์ดังในห้องนี้ ที่จริงก็เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าไปหงุดหงิดหัวเสียกับมัน เราขาดทุน ฉะนั้นถ้าเรารู้จักวางใจเสียบ้าง ดูแลใจให้ดี อย่าไปเสียเวลา เสียอารมณ์ไปกับเรื่องเล็กน้อย อย่าไปเอาเรื่องเอาราวกับเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ
ปัญหาคือทุกวันนี้คนเราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย อะไรเป็นเรื่องใหญ่ เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่ไปหมด เพื่อนบ้านส่งเสียงดังก็เป็นเรื่องใหญ่ ใครทำอะไรไม่ถูกใจขวางหูขวางตาก็เป็นเรื่องใหญ่ สุดท้ายหาความสงบเย็นในจิตใจไม่ได้เลย ทั้งที่เวลาในชีวิตของเราก็เหลือน้อยลงไปทุกทีๆ เอาเวลาที่มีอยู่ซึ่งมีคุณค่ามาใส่ใจกับเรื่องสำคัญดีกว่า เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เรื่องเล็กน้อยปล่อยมันไปเถอะ อย่าไปเอาถูกเอาผิดกับมันมาก เพราะว่าเราไม่สามารถจะให้ทุกอย่างในโลกนี้มันถูกต้องได้
1/8/2024 • 47 minutes, 5 seconds 25661103pm--เติมเต็มจิตด้วยปัญญาและคุณธรรม
3 พ.ย. 66 - เติมเต็มจิตด้วยปัญญาและคุณธรรม : แต่ว่ามีบางคนที่ฉลาดมีปัญญา การเติมเต็มชีวิตแทนที่จะเอาอะไรต่ออะไรมาสุมมากอง ก็อาศัยคุณธรรมความดีแล้วก็ปัญญา แสงประทีปที่เต็มห้องเปรียบอุปมาหมายถึง ‘ปัญญา’ ส่วนกลิ่นหอมก็หมายถึง ‘ความดีคือคุณธรรม’ ห้องนี้มันก็ชัดอยู่แล้วหมายถึง ‘ชีวิตหรือจิตใจ’
คนเราแทนที่จะไปหาเงินทองชื่อเสียงมาเติมเต็มชีวิตหรือจิตใจ ก็มาแสวงหาคุณธรรม ความดี แล้วก็สติปัญญา ปัญญาในที่นี้หมายถึง ‘การรู้จักตัวเอง’ และ ‘การเข้าใจความจริงของชีวิต’ จนกระทั่งรู้อะไรคือสาระที่แท้ของชีวิต รู้ว่าอะไรคือจุดหมายที่แท้ของชีวิต จนกระทั่งสามารถที่จะรักตัวเองได้ รักตัวเองได้เพราะว่าเห็นคุณค่าของตัวเองหรือภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจเพราะอะไร ภูมิใจเพราะได้ทำความดี การทำความดีก็ทำให้เกิดความสุข เป็นความสุขใจ
นั้นคนเราที่ ‘พร่อง’ หรือ ‘ว่างเปล่า’ เอาเงินทองเท่าไหร่มาเติมก็ไม่เต็ม เพราะมันไม่ได้ทำให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง ความสุขอย่างแท้จริงมันเกิดจากการที่รู้จักรักตัวเอง เคารพตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง รวมทั้งการที่ได้หมั่นทำดี สร้างกุศล จนรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และรวมถึงการได้เข้าถึงความสงบในจิตใจด้วย
1/7/2024 • 27 minutes, 36 seconds 25661029pm--แม้ถูกกระทบใจก็สงบได้
29 ต.ค. 66 - แม้ถูกกระทบใจก็สงบได้ : อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนพระสาวกอย่างตัวอย่างที่เล่ามา ใครเขาจะติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างไร เราก็อย่าโกรธ อย่าขุ่นมัว อย่าพยาบาท เพราะขืนทำเช่นนั้นอันตรายก็จะเกิดขึ้นกับเราเอง และเราก็จะไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมานั้นดีหรือไม่ดี จริงหรือไม่จริง ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
คำพูดบางอย่างแม้มันจะเป็นคำหยาบคาย แต่อาจมีประโยชน์ ถ้าเรารู้จักมอง เช่น เอามาเป็นเครื่องสอนใจว่า โลกธรรมก็เป็นอย่างนี้ มีคนชมเราก็ต้องมีคนตำหนิ มีคนชอบก็ต้องมีคนชัง คำต่อว่าด่าทอ หรือว่าความชังที่เกิดจากผู้อื่น มันก็สอนสัจธรรมให้กับเรา แล้วขณะเดียวกันมันก็เป็นเครื่องฝึกสติของเรา ให้รู้จักไวในการรู้ทันเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น แล้วก็ฉลาดในการปล่อยวาง
ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ ใจเราไม่ทุกข์ แถมมีความเจริญงอกงามมากขึ้น สามารถที่จะรับมือกับความทุกข์ที่อาจจะรุนแรงหนักหนาสาหัสในวันข้างหน้าได้
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราวางใจแบบนี้ได้ถูก ไม่ใช่เราจะพบความสงบในใจเมื่ออยู่วัด แม้ออกไปข้างนอก หรือกลับไปภูมิลำเนา ถ้าเป็นพระสึกหาลาเพศไป หรือเป็นนักปฎิบัติที่กลับบ้านไป ไปทำงาน ไปสู่ครอบครัว ก็ยังสามารถพบความสงบได้ เป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากสถานที่ แต่เป็นความสงบที่เราสร้างขึ้นมาในใจ จากการที่เรารู้จักฝึกตนจนสามารถรับมือกับความผันผวนปรวนแปรต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือว่าสิ่งที่มากระทบได้ มันจะมากระทบตา กระทบหู กระทบกายอย่างไร ใจไม่กระเพื่อม จิตไม่กระเทือน
นี้คือความสงบที่เราสามารถจะสร้างขึ้นได้ในใจของเรา ไม่ต้องไปหาที่ไหน ไม่ต้องไปหาที่วัด หรือแม้จะอยู่วัด มีอะไรมากระทบใจก็ไม่กระเทือน เราก็มีความสงบได้ อันนี้แหละก็เป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะฝึกได้สร้างได้ จากการที่เรารู้จักฝึกตน รวมทั้งเรียนรู้ด้วยการฝึกจากสิ่งที่มากระทบต่างๆ มากมาย
1/4/2024 • 30 minutes, 48 seconds 25661028pm--อุบายสู่ความพอดี
28 ต.ค. 66 - อุบายสู่ความพอดี : แต่เวลาคนมีความทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนอีกแบบหนึ่งว่าในทุกข์ หาสุขพบ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ คนส่วนใหญ่ติดสุข พระพุทธเจ้าก็เลยเตือนว่า ระวัง ! มันมีทุกข์รออยู่นะ หรือว่าทุกข์กำลังอยู่กับเราในขณะนี้แล้วเพื่อไม่ให้ติดสุข แต่คนที่มีทุกข์นั้นพระพุทธเจ้าก็สอนว่าอย่าจมในทุกข์ ให้เห็นว่าในทุกข์ มันมีสุข
อันนี้เป็นวิธีการสอนที่คนอาจจะไม่เข้าใจ มักจะมองพุทธศาสนาว่ามองลบ ที่จริงท่านก็มองบวกเหมือนกัน เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะติดสุข พระพุทธเจ้าก็เลยชี้ให้เห็นทุกข์ แต่คนที่มีทุกข์พระพุทธเจ้าก็สอนให้มองว่ามันมีสุขอยู่ด้วย ป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย
แม้จะถูกต่อว่าด่าทอก็ยังดีกว่าถูกเขาทำร้ายด้วยก้อนหิน ถูกเขาทำร้ายด้วยก้อนหินก็ยังดีที่เขาไม่ทำร้ายด้วยท่อนไม้ ทำร้ายด้วยท่อนไม้ก็ยังดีที่เขาไม่เอาของแหลมมาแทง เอาของแหลมมาแทงก็ยังดีที่เขาไม่ฆ่าให้ตาย และเขาฆ่าให้ตายก็ยังดีที่ไม่ต้องไปหาอาวุธมาทำร้ายตัวเอง อันนี้เป็นบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระปุณณะ
พระปุณณะบอกว่า เจออะไรก็ดีทั้งนั้น ถูกเขาด่าว่าก็ดี ถูกเขาเอาหินขว้างก็ดี ถูกเขาเอาไม้มาฟาดก็ดี ถูกเขาเอาศาสตรามาทิ่มแทงก็ดี ดีที่ไม่แย่ไปกว่านี้ พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่าดีแล้ว ถือว่าเอาตัวรอดได้ อันนี้คือตอนที่พระปุณณะไปเมืองสุนาปรันตชนบทซึ่งคนเมืองนี้ดุร้ายมาก ซึ่งเป็นการมองบวก ชี้ให้เห็นว่า เวลาเจอทุกข์ ถ้าเรารู้จักมองบวกบ้าง มันก็ยังไม่จมในทุกข์
แต่เป็นเพราะคนเราชอบเพลินในสุข พระพุทธเจ้าจะเตือนให้เห็นว่าสุขที่กำลังเพลิดเพลิน มันทุกข์ทั้งนั้น “เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว” แต่สำหรับคนที่จมอยู่ในทุกข์ พระพุทธเจ้าก็จะเตือนว่า “ในทุกข์ หาสุขพบ”
1/3/2024 • 30 minutes, 44 seconds 25661027pm--ยกใจให้สูงขึ้น
27 ต.ค. 66 - ยกใจให้สูงขึ้น : เราก็จะเห็นเดี๋ยวนี้ก็เป็นกันเยอะเลย ซึ่งมันทำให้หลายคนก็รู้สึกว่า ทำไมรู้ธรรมะเยอะ ฟังธรรมะก็มาก แต่ทำไมยังเห็นแก่ตัวอยู่ ทำไมยังขี้โกรธอยู่ อันนี้ก็เพราะว่าหัวอยู่อุดมแล้วแต่ใจยังประถมอยู่เลย หรือมันยังมีช่องว่างระหว่างหัวกับใจมาก ช่องว่างระหว่างความคิดกับความรู้สึก
เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาทั้งหัวทั้งใจ ความรู้ก็ต้องมี เข้าใจธรรมะขั้นสูง แต่ก็ต้องฝึกใจให้มีความเห็นแก่ตัวน้อย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักพอใจสิ่งที่มียินดีสิ่งที่ได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องพื้นฐานมากเลยสำหรับธรรมะ แต่พื้นฐานจำเป็น หรือถึงแม้ว่าความรู้อาจจะยังน้อย แต่ว่าถ้าหากว่าพื้นฐานที่ฝึกจิตฝึกใจพัฒนา
หมายความว่าหัวอาจจะยังอยู่ขั้นมัธยม แต่ว่าใจอาจจะพัฒนาไปถึงระดับอุดมแล้ว อันนี้ยิ่งประเสริฐเลย ฉะนั้นเวลาฝึกธรรมะหรือสอนธรรมะ ต้องตระหนักว่าทำอย่างไรจะให้ใจมันยกระดับสูงขึ้น จนกระทั่งมันประสานกับหัว หรือว่าอารมณ์ความรู้สึกประสานเป็นหนึ่งเดียวกับความคิด คิดอย่างไร เห็นอย่างไร ใจก็คล้อยตามโน้มไปทางนั้น ไม่ใช่ว่าความคิดความเห็นไปทางหนึ่ง ใจไปอีกทางหนึ่ง
เพราะเดี๋ยวนี้แม้กระทั่งง่ายๆ เช่นว่า ก็รู้เหล้าไม่ดี บุหรี่ไม่ดี แต่ก็ยังห้ามใจไม่ได้ ยังหวงแหนยังโหยหาสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็เหมือนกันเป็นช่องว่างระหว่างหัวกับใจ อย่างที่เขาเรียกว่าดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้
1/2/2024 • 28 minutes, 25 seconds 25661026pm--มองตนก่อนคิดเปลี่ยนคนอื่น
26 ต.ค. 66 - มองตนก่อนคิดเปลี่ยนคนอื่น : สอนคนอื่นได้ แต่ว่าสอนตัวเองไม่ได้ ในขณะที่อยากให้คนอื่นเขาเปลี่ยนแปลง แต่ตัวเองไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ทั้งที่ตัวเองมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า เพราะว่าการที่มาเดินจงกรม สร้างจังหวะ มันอาจจะน่าเบื่อในช่วงแรก แต่ว่ามันก็ไม่ได้หนักหนาซึ่งเทียบไม่ได้กับการมานั่งอ่านหนังสือ หรือว่าต้องเลิกเล่นเกม
การมาทำอะไรที่ไม่คุ้นไม่เคย มาทำอะไรที่ไม่ชอบ สำหรับเด็กเป็นเรื่องที่หนักกว่า เราที่เป็นผู้ใหญ่เรายังทำไม่ได้แม้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่กลับไปเรียกร้องให้เด็กซึ่งมีวุฒิภาวะน้อย ประสบการณ์น้อย ทำอะไรต่ออะไรหลายอย่างซึ่งมันดี แต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาเลย ฉะนั้นก่อนที่เราจะเปลี่ยนแปลงคนอื่น ต้องกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน
1/1/2024 • 26 minutes, 58 seconds 25661025pm--ทำดีได้ดีจริงหรือ
25 ต.ค. 66 - ทำดีได้ดีจริงหรือ
12/25/2023 • 28 minutes, 7 seconds 25661024pm--ความสงบสยบปัญหา
24 ต.ค. 66 - ความสงบสยบปัญหา : รู้ว่าพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่เสีย เขาก็หาว่าแก้ตัว อาจจะกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกัน ท่านก็เลยคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือนิ่งเสีย อย่างมากก็พูดเพียงแค่ “อ๋อ อย่างนั้นเหรอ” ก็ถือว่าท่านมีสติ มีปัญญา และมีความหนักแน่น เพราะว่ารู้ดีว่า อธิบายชี้แจงไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้นิ่งเสียดีกว่า อย่างที่มีภาษิตไทยว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”
ในกรณีท่านฮาคุอิน ท่านก็เห็นแล้วว่าพูดไปไม่มีประโยชน์ ท่านก็ดี ถูกด่าท่านก็นิ่ง เวลาได้รับคำชมท่านก็นิ่ง คือไม่ยินดียินร้ายกับคำต่อว่าด่าทอ และคำสรรเสริญ อันนี้ก็เป็นลักษณะการมีอุเบกขาของท่าน จากในกรณีนี้ท่านเห็นแล้วว่า การนิ่งเวลาถูกใส่ร้ายหรือถูกด่า มันเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ซึ่งคนธรรมดาก็อาจจะไม่เห็นอย่างนั้น เพราะว่าอดรนทนไม่ได้ “ก็ฉันไม่ได้ทำ” หรือว่า “กูไม่ได้เป็นอย่างนั้น” ก็ต้องโต้เถียง ก็เกิดเรื่องทะเลาะยืดยาว ไม่มีประโยชน์ อันนี้เพราะขาดสติแล้วก็ขาดปัญญา แต่ว่าท่านฮาคุอินท่านมีสติ อัตตาท่านก็น้อย ใครจะว่าท่านยังไง ท่านก็เฉย ท่านรู้ว่า การนิ่งมันดีกว่า
12/24/2023 • 31 minutes, 11 seconds 23 ต.ค. 66 - ธรรมสองระดับ : จะเห็นได้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าจะมีการสอนสองระดับอยู่เสมอควบคู่กันไป ระดับแรกท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่าขังคอก ให้อยู่ในกรอบ กรอบของศีลธรรม กรอบของความถูกต้อง รู้จักบังคับกดข่มอารมณ์ กดข่มอารมณ์เอาไว้ รู้จักหักห้ามใจ แต่พอถึงระดับหนึ่งท่านสอนให้ชี้ทางให้ผิดไป รู้จักปล่อย รู้จักวาง หรือว่าให้รู้ทันความคิด ให้เห็นความจริงว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นเราเป็นของเรา ให้เข้าใจเรื่องอนัตตา ในขณะที่ระดับพื้นฐาน ท่านก็สอนให้รักตน รักตนไว้ก่อน
เช่นเดียวกันในระดับพื้นฐานท่านก็สอนให้รู้จักละชั่ว หรือเว้นชั่วและทำดี ในโอวาทะปาติโมกข์สองข้อแรกเราคุ้นกันดี พอถึงข้อสามท่านสอนว่าให้รู้จักทำจิตให้บริสุทธิ์ ก็คือไม่ใช่แค่ทำดีอย่างเดียวแต่ต้องรู้จักทำจิตหรือทำใจด้วยจึงจะได้เข้าถึงสัจธรรม ทำดีมันก็ยังเป็นระดับจริยธรรมซึ่งก็ยังคงอยู่ในระดับสมมติ ในระดับโลกียะ แต่พระพุทธศาสนาไปไกลกว่านั้น สอนเรื่องโลกุตระ สอนเรื่องปรมัตถสัจจะด้วย ไม่ใช่แค่ติดอยู่กับสมมติสัจจะ ยังติดอยู่กับดีชั่ว แต่ว่าต้องรู้จักไปให้พ้นดีชั่ว เพราะว่าสุดท้ายมันก็ยังเป็นสมมติอยู่ ต้องเข้าถึงปรมัตถสัจจะ เข้าถึงสภาวะที่เรียกว่าโลกุตระซึ่งมีนิพพานเป็นเป้าหมายไม่ใช่แค่ความร่ำรวยในชาตินี้ หรือการไปสุคติ หรือการเข้าถึงสวรรค์ในชาติหน้า
เราต้องเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งสองระดับ และนำมาใช้ให้ถูก ในบางครั้งเราก็อาจจะต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่า ถ้ายึดมันถือมั่นมากไปมันก็เป็นโทษ ก็ต้องสามารถที่จะออกจากกรอบนั้น จนกระทั่งได้เห็นหรือเข้าถึงสภาวะที่เป็นการปล่อยวาง
ถ้าเราเข้าใจธรรมะสองระดับที่ว่านี้ การปฏิบัติก็จะถูกต้อง และเวลาสอนคน เราก็จะสอนได้ถูกต้องสมกับภูมิหลังหรืออินทรีย์ของเขา
12/23/2023 • 26 minutes, 48 seconds 25661022pm--ให้อภัยคือยาสามัญประจำใจ
22 ต.ค. 66 - ให้อภัยคือยาสามัญประจำใจ : ความทุกข์มันเกิดขึ้นเมื่อใจเราไปร่วมมือกับเขา ถ้าเกิดว่าใจเราไม่ไปร่วมมือ ความทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นได้เฉพาะภายนอก กับร่างกาย กับทรัพย์สิน ถ้าเกิดว่าเราเห็นตรงนี้ ว่าความโกรธมันเป็นภัยแก่ตัวเราเอง มันก็จะเกิดความกระตือรือร้นในการที่จะจัดการกับความโกรธ
แล้ววิธีจัดการกับความโกรธ มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีสติรู้ทัน จะผลักไสกดข่มมันก็ไม่ได้ มันก็หลบ มันก็ซ่อน มันก็กลายเป็นเก็บกด ต้องรู้ทันนะ เห็นมัน เราก็แค่ดูมันเฉยๆ ดูมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ท่านติช นัท ฮันห์ ถึงกับใช้คำว่าให้ทำยิ่งกว่านั้นคือ “โอบกอด”
โอบกอดความโกรธ โอบกอดด้วยสติ โอบกอดด้วยความอ่อนโยน ท่านเปรียบเหมือนกับว่าแม่กำลังทำงานอยู่ดีๆ ทารกลูกน้อยเกิดร้องไห้ขึ้นมา แม่รีบทิ้งงานต่างๆ เลยเพื่อมากอดทารกน้อยอย่างอ่อนโยน ท่านติช นัท ฮันห์ บอกว่าความโกรธนั้นเปรียบเหมือนกับทารกน้อย ที่ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องโอบกอดมันด้วยความอ่อนโยน ท่านพูดถึงขนาดนี้เลย
แต่ที่จริงแม้เพียงแค่เห็นมันเฉยๆ รู้ทันมัน มันก็เหมือนกับกองเพลิงที่พอไม่มีใครเติมฟืนเติมไฟให้มัน มันก็ดับเอง ตรงข้ามถ้าไปกดข่มมัน ไปผลักไสมัน ไปพยายามตัด พยายามห้ามมัน มันก็ยิ่งลุก ยิ่งกลายเป็นการต่ออายุ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ ถ้าเราไม่ใช้การให้อภัยหรือการแผ่เมตตา ก็ต้องมีสติที่จะรู้ทันความโกรธ แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันหรือยอมให้มันครองใจ หรือหวงแหนมันเอาไว้ในใจ
12/22/2023 • 28 minutes, 9 seconds 25661021pm--สุขหรือทุกข์อยู่ที่การปรุงแต่งในใจเรา
21 ต.ค. 66 - สุขหรือทุกข์อยู่ที่การปรุงแต่งในใจเรา : ถ้าเราดูแลใจดี ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่ง เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา ไม่ปรุงแต่งเป็นภพ ชาติ มันก็ไม่เกิดชรา มรณะ มันก็ไม่เกิดทุกข์โทมนัส อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก การที่เราพบความจริงว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเมื่อเกิดมีการกระทบ แต่ทุกข์เกิดขึ้นเมื่อมีการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการปรุงแต่งในทางลบ หรือหรือว่ารวมไปถึงกิริยาอาการอย่างอื่น เช่น ผลักไส ยึดติดถือมั่น หรือที่สำคัญคือการปรุงแต่งตัวกูของกูขึ้นมา
ตรงนี้แหละที่มันจะเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดทุกข์ แปลว่าอะไร แปลว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจเรา ไม่ได้ที่รูปรสกลิ่นเสียงที่มากระทบ ถ้ารู้ถ้าเห็นทุกข์อยู่ที่รูปรสกลิ่นเสียงที่มากระทบ เราจะแย่เลยเพราะว่าเราต้องเจอกับรูปรสกลิ่นเสียงที่ไม่ดีมากมายตลอดทั้งวัน ตลอดชีวิต
แต่ถ้าเกิดว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจเรา อยู่ที่การปรุงแต่ง มันก็หมายความว่า เรามีความสามารถที่จะไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าเราไม่ปล่อยให้มันปรุงแต่งไปในทางลบ รวมทั้งไม่ผลักไส ไม่ยึดติดถือมั่น หรือถ้าจะปรุงแต่งก็ปรุงแต่งในทางบวกอย่างตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งอันนี้มันอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสุขหรือทุกข์อยู่ที่เราเลือก ว่าเราจะเลือกปรุงแต่งในทางไหน
12/21/2023 • 30 minutes, 5 seconds 25661020pm--ปฎิบัติธรรมที่นี่เดี๋ยวนี้
20 ต.ค. 66 - ปฎิบัติธรรมที่นี่เดี๋ยวนี้ : จริงๆ ถ้าหากว่ามีสติ มีความรู้สึกตัว ทันทีที่เกิดผัสสะมีการเห็น มันก็มีแต่การเห็น แต่มันไม่มีผู้เห็น เมื่อเสียงกระทบหู เกิดการได้ยิน ก็มีแต่การได้ยิน ไม่มีผู้ได้ยิน แต่คนเราใหม่ๆ จะให้มีสติประเภทว่าไม่มีผู้เห็น ไม่มีผู้ได้ยิน นี่มันยาก แต่อย่างน้อยเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นมา ความคิด เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย เกิดความพอใจไม่พอใจ เกิดความโกรธ ก็มีแต่อารมณ์นั้น แต่ไม่มีผู้ยินดี ไม่มีผู้ชอบ ไม่มีผู้โกรธ คือมันไม่มีการปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นเจ้าของอารมณ์นั้น
อันนี้ก็ต้องอาศัยสติที่เห็น ไม่เข้าไปเป็น มีความโกรธ ไม่มีผู้โกรธ มีความยินดี ไม่มีผู้ยินดี มีความคิดเกิดขึ้น แต่ไม่มีผู้คิด ถ้ามาเห็นตรงนี้ได้อย่างทันท่วงที ใจก็จะเป็นปกติได้ ใครเขาจะด่าว่าอย่างไร ใจก็เป็นปกติ จะร้อนจะหนาวอย่างไร ใจก็เป็นปกติ แม้มันจะมีการเผลอยินดียินร้ายเกิดขึ้น แต่ว่าใจเป็นปกติ
และตรงนี้แหละเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ หรือเป็นเครื่องวัดว่าเราปฏิบัติถูกหรือไม่ ก็คือเมื่อมีการกระทบ เมื่อเกิดผัสสะแล้ว ใจเรายังเป็นปกติได้ ไม่ใช่พอมีใครพูดไม่ถูกหู มีใครนินทากระทบหู เกิดความโกรธ เกิดความหงุดหงิด มีเสียงดังมากระทบหูก็ไม่พอใจ คนที่จิตใจกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงเมื่อมีผัสสะ อันนี้เรียกว่ายังไม่ได้ปฏิบัติเพราะว่าไม่ได้เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง
เพราะฉะนั้นคำว่า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ มันไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งที่กำลังทำอยู่เท่านั้น แต่มันยังหมายถึงความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นตรงนี้ เดี๋ยวนี้ด้วย ว่าเราปฏิบัติได้ถูกต้องไหม เราเห็นทัน เรารู้ทันไหม หรือเราเห็นมันหรือเปล่า นี่แหละคือการปฏิบัติที่สำคัญ ซึ่งมันก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลย มันไม่ต้องใช้ความรู้หรือว่าความคิดพิสดารอะไรมาก มันเป็นธรรมะที่เข้าใจง่าย ขอเพียงแต่ปฏิบัติให้ถูกเวลา ให้ถูกกรณีก็แล้วกัน
12/20/2023 • 26 minutes, 51 seconds 25661019pm--โลกไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา
19 ต.ค. 66 - โลกไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา : กามสุขมันก็มีหลายระดับ อย่างหยาบๆ ก็เหล้า การพนัน ยาเสพติด จะเลิกหรือเป็นอิสระจากความสุขอย่างหยาบๆ นี้ได้ก็ต้องเจอความสุขที่หยาบน้อยกว่า หรือประณีตกว่า เช่น บางคนที่เลิกเหล้าได้เพราะว่าได้มีความสุขจากการทำงาน ความสุขจากการเล่นกีฬา ความสุขจากมิตรภาพ ความสุขจากเพื่อนฝูง หรือความสุขจากสมาธิ
บางคนเลิกเหล้าได้เพราะว่าได้นั่งสมาธิแล้วเกิดสุข บางคนเลิกเหล้าได้เพราะว่าได้มีความสุขจากสิ่งอื่น จากการทำความดี จากการทำสิ่งที่มีประโยชน์ ความสุขจากมิตรภาพ ได้รับความอบอุ่นจากเพื่อน จากชุมชน มันก็เลิกได้ คือพวกนี้ต้องอาศัยการลงทุนลงแรงด้วย ไม่ใช่ว่าอาศัยความอยากอย่างเดียว อยากอย่างเดียวแต่ว่าไม่ไม่ลงทุนลงแรง ไม่ประกอบเหตุ มันก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้นเวลาเราอยากจะเลิก ลด ละบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยเสพเคยติด บางคนอาจจะติดหรือว่าหลงในเงินเพราะว่าเงินเป็นที่มาของกามสุข หลายคนหลงในเงินจนกระทั่งยอมทุจริตเพื่อจะได้มีเงินไปซื้อโน่นซื้อนี่ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีความสุขจากสิ่งอื่นมาแทนที่ มันก็ยังวนเวียนอยู่กับการทุจริตอยู่นั้นแหละ ต่อเมื่อพบว่าความสุขบางอย่างที่มันดีกว่าเงิน ดีกว่าสิ่งเสพ จึงจะเป็นอิสระได้ เพียงแค่จะอดใจ ไม่ข้องเกี่ยว มันจะอดได้ไม่นาน เหมือนกับอดเหล้า อดเหล้าอดได้ไม่นานจนกว่าจะเจอความสุขอย่างอื่นที่มันดีกว่าถึงจะเลิกได้ เพราะจิตไม่โหยหาอีกแล้ว
12/19/2023 • 28 minutes, 29 seconds 25661018pm--สกัดตัวตนให้เบาบาง
18 ต.ค. 66 - สกัดตัวตนให้เบาบาง : อันนี้ก็เปรียบเหมือนกับการสลักเสลาสกัดเอาสิ่งที่มันไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต สิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะถ้าเราไม่ทำ ไม่สลัดหรือละวางความยึดมั่นถือมั่น อย่าว่าแต่ความยึดมั่นในตัวกูของกูเลยที่เป็นอัตตวาทุปาทาน แม้กระทั่งความยึดมั่นในทรัพย์ ความยึดมั่นในสิ่งของต่างๆ ถึงเวลาตายมันทรมานมาก เพราะมันยอมรับความสูญเสีย มันยอมรับการที่ต้องจากพรากสิ่งเหล่านั้นไปไม่ได้
และอย่างน้อยถ้าเราได้ตระหนักว่า เมื่อถึงวันที่เราต้องตาย เราต้องหมดตัวอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฝึกปล่อย ฝึกวาง ฝึกสละตั้งแต่ตอนนี้ แต่ที่จริงถ้าหากว่าทำตั้งแต่ตอนนี้ มันไม่ใช่ว่าจะไปมีความสงบในเวลาสุดท้าย แต่ว่าทำตอนนี้ก็พบกับความสงบ ความโปร่งเบาในเวลานี้ ไม่ต้องไปรอถึงตอนที่จะหมดลม แต่ว่าความสงบตอนที่จะหมดลม มันก็เป็นหลักประกัน มันเป็นสิ่งที่แน่นอนถ้าหากเรารู้จักสลัด รู้จักวางสิ่งต่างๆ ออกไปจากใจให้มากที่สุด
เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าชีวิตที่พึงปรารถนา คือชีวิตที่เป็นอุดมคติในพุทธศาสนา คือชีวิตที่มีให้น้อย ปล่อยวางให้มาก สลัดออกไปจากใจให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติอยู่ ว่าเราปฏิบัติไปแล้วความโลภน้อยลงไหม ความเห็นแก่ตัวน้อยลงไหม ความโกรธน้อยลงไหม ความยึดมั่นถือมั่นในหน้าตา ในทรัพย์สมบัติน้อยลงหรือเปล่า
หรือพูดอย่างถึงที่สุดคือว่าความยึดมั่นในตัวกูน้อยลงไหม ถ้าไม่น้อยลง ถึงแม้จะเข้าวัดบ่อย ทำบุญมาก มันก็ยังไม่เรียกว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ แล้วก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเข้าถึงชีวิตที่พึงปรารถนาในทัศนะของชาวพุทธ
12/18/2023 • 29 minutes, 20 seconds 25661017pm--เป็นพุทธที่ใจด้วย ไม่ใช่แค่หัว
17 ต.ค. 66 - เป็นพุทธที่ใจด้วย ไม่ใช่แค่หัว : ไม่ใช่ว่าดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ ทำสิ่งตรงข้ามกับความถูกความเหมาะความควร รวมทั้งเมื่อถึงเวลาสูญเสียพลัดพรากก็ทำใจได้ ไม่ใช่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น รู้ทั้งร้อยรู้เต็มที่เลย แต่พอสูญเสียแม้จะเล็กน้อย เช่นเงินหายไม่กี่ร้อยก็โมโหเสียดาย อันนี้เรียกว่าเป็นพุทธที่หัว แต่ว่าไม่ได้เป็นพุทธที่ใจ คือทำใจไม่ได้ ทั้งที่รู้หมดว่าควรปล่อยควรวาง แต่ว่าทำใจไม่ได้
ถ้าเราฝึกพัฒนาอารมณ์ พัฒนาความรู้สึก เมื่อรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ใจมันก็พลอยคล้อยตามไปด้วย มีอะไรสูญเสียพลัดพรากมันก็ไม่เสียอกเสียใจปล่อยวางได้ ไม่ปรุงแต่งให้กลายเป็นความโกรธ หรือเป็นความโศกความเศร้า
เพราะฉะนั้น เรื่องของการสร้างความสมดุลให้เกิด ระหว่างความคิดและอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นสิ่งจำเป็น อย่าพัฒนาแต่ความคิดหรือว่าอย่าเน้นแต่หัว แต่ให้พัฒนาอารมณ์ความรู้สึกหรือเน้นเรื่องใจด้วย เพื่อให้มันสมดุลกัน
12/17/2023 • 28 minutes, 13 seconds 25661016pm--อย่าให้มานะครองใจ
16 ต.ค. 66 - อย่าให้มานะครองใจ : เราก็ต้องพยายามรู้เท่าทัน เวลาอัตตาหรือมานะ มันบงการจิตใจของเรา อยากให้เราโชว์ อยากให้เราอวด เราก็อย่าไปหลงเชื่อทำตาม ต้องขัดขืนมันบ้าง ที่จริงการที่มีอัตตาฟูฟ่องบ้างมันก็ดีเหมือนกันเพราะถ้าอัตตาติดลบมันก็แย่
แต่ถ้าปล่อยให้อัตตาครองใจมากไป มันก็จะกลายมามีอำนาจเหนือเรา เราก็จะพลอยแย่ไปด้วยเพราะว่าเราต้องคอยเลี้ยงมัน มันเหมือนกับว่ามีปีศาจที่ต้องคอยปรนเปรอมันอยู่เสมอ ถ้าไม่ปรนเปรอมันด้วยการตามใจอัตตา ตามใจกิเลส มันก็จะอาละวาดโวยวาย แต่ถ้าปล่อยให้มันครองใจ บงการชีวิตเรา สุดท้ายเราก็ไม่เป็นผู้เป็นคนเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นทางที่ดี เราก็พยายามระมัดระวัง อย่าให้มันครองจิตครองใจ หรือบงการจิตใจเรามาก รู้เท่าทันและขัดขืนมันบ้าง หัวเราะเยาะใส่มันบ้าง ให้กลับมามีสติ มีความรู้สึกตัว เพราะถ้ามีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตนหรือตัวกูก็จะมีอำนาจมีอิทธิพลน้อย
12/16/2023 • 28 minutes, 48 seconds 25661015pm--ความทุกข์มีประโยชน์
15 ต.ค. 66 - ความทุกข์มีประโยชน์ : คนเราจะมีสติรู้ทันความคิด มีสติรู้ทันความหลงได้ก็ต้องยอมให้มีความคิดความหลงเกิดขึ้น จะรู้ทันความโกรธก็ต้องยอมให้ความโกรธมันเกิดขึ้น แล้วก็เรียนรู้จากความโกรธ เรียนรู้จากความหลง เรียนรู้จากความฟุ้งซ่าน ที่จริงความโกรธความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ว่าเป็นเพราะเราไม่คิดจะเรียนรู้จากมัน
ฉะนั้นคนที่ยิ่งโกรธเท่าไหร่ก็ยิ่งกลายเป็นคนหงุดหงิดเจ้าอารมณ์มากเท่านั้น แต่ถ้าเรารู้จักใช้มันเอามาเรียนรู้ระหว่างปฏิบัติ ยิ่งมันเกิดขึ้นเราก็ยิ่งเชี่ยวชาญชำนาญในการรู้ทัน แล้วก็รู้ทางของมัน จับทางมันได้ว่ามันจะมาอย่างไร ก็ทำให้มันมีอิทธิพลครองจิตครองใจเราน้อยลง
คนเราถ้าไม่เรียนรู้จากอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจในระหว่างปฏิบัติ มันก็สูญเปล่านะ แต่ถ้าเราเรียนรู้จากมัน เราก็จะเกิดปัญญา สติเราก็จะงอกงาม แล้วเราก็สามารถจะเอาสติและปัญญานี้มาใช้ในการใคร่ครวญ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น มันจะไม่ลุกลามกลายเป็นวิกฤติในชีวิต แต่มันจะกลับทำให้เราเกิดปัญญา แล้วก็สามารถจะพาจิตพาใจผ่านความทุกข์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้
12/15/2023 • 26 minutes, 54 seconds 25661015pm--ความทุกข์มีประโยชน์
15 ต.ค. 66 - ความทุกข์มีประโยชน์ : คนเราจะมีสติรู้ทันความคิด มีสติรู้ทันความหลงได้ก็ต้องยอมให้มีความคิดความหลงเกิดขึ้น จะรู้ทันความโกรธก็ต้องยอมให้ความโกรธมันเกิดขึ้น แล้วก็เรียนรู้จากความโกรธ เรียนรู้จากความหลง เรียนรู้จากความฟุ้งซ่าน ที่จริงความโกรธความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ว่าเป็นเพราะเราไม่คิดจะเรียนรู้จากมัน
ฉะนั้นคนที่ยิ่งโกรธเท่าไหร่ก็ยิ่งกลายเป็นคนหงุดหงิดเจ้าอารมณ์มากเท่านั้น แต่ถ้าเรารู้จักใช้มันเอามาเรียนรู้ระหว่างปฏิบัติ ยิ่งมันเกิดขึ้นเราก็ยิ่งเชี่ยวชาญชำนาญในการรู้ทัน แล้วก็รู้ทางของมัน จับทางมันได้ว่ามันจะมาอย่างไร ก็ทำให้มันมีอิทธิพลครองจิตครองใจเราน้อยลง
คนเราถ้าไม่เรียนรู้จากอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจในระหว่างปฏิบัติ มันก็สูญเปล่านะ แต่ถ้าเราเรียนรู้จากมัน เราก็จะเกิดปัญญา สติเราก็จะงอกงาม แล้วเราก็สามารถจะเอาสติและปัญญานี้มาใช้ในการใคร่ครวญ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น มันจะไม่ลุกลามกลายเป็นวิกฤติในชีวิต แต่มันจะกลับทำให้เราเกิดปัญญา แล้วก็สามารถจะพาจิตพาใจผ่านความทุกข์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้
12/15/2023 • 26 minutes, 54 seconds 25661014pm--กินข้าวทุกมื้อ เจริญสติทุกวัน
14 ต.ค. 66 - กินข้าวทุกมื้อ เจริญสติทุกวัน : เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก อันนี้ก็คือไปรู้ทันความคิด รู้ทันหรือรู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น คือมักจะเกิดจากการที่มีอะไรมากระทบ เช่นเสียงมากระทบหูเกิดความไม่พอใจ ลมเย็นมากระทบกายเกิดความยินดี ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่มีการกระทบ หรือมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า รุ้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ รู้ใจคิดนึกเมื่อเจอสิ่งกระทบ
คนเราวันทั้งวันก็มีแค่ 2 อย่าง ถ้าไม่ทำนู่นทำนี่ ก็เจอนั่นเจอนี่ ระหว่างที่ทำถ้าทำด้วยกาย ก็รู้กายเคลื่อนไหว แล้วเมื่อเจอนั่นเจอนี่ เจอคำพูดของคน เจอการกระทำบางอย่างของคนรอบข้าง มีความยินดีบ้าง มีความยินร้ายบ้าง มีความพอใจ มีความไม่พอใจ มันก็รู้ กินอาหารอร่อยเกิดความยินดีก็รู้ อาหารไม่อร่อยเกิดความไม่พอใจก็รู้ อันนี้เรียกว่า รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก หรือว่ารู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ รู้ใจคิดนึกเมื่อเจอผัสสะ หรือเจอการกระทบ
ถ้าทำได้ 3 ข้อนี้ ก็เรียกว่าเป็นการเจริญสติ สามารถทำได้ทั้งวันและทำได้ทุกที่ แล้วจะทำให้ชีวิตเรา จิตใจเรามีความโปร่งเบามากขึ้น มีความทุกข์ก็สามารถที่จะเห็นว่า ทุกข์มันเกิดจากใจ เกิดจากการยึดติดถือมั่น เกิดจากการปล่อยให้กิเลสมาครองใจ เกิดจากการที่ไปแบกสิ่งต่างๆ เอาไว้ อาจจะเป็นอดีต หรือเรื่องราวอนาคต หรือความคาดหวัง
แล้วก็รู้ว่า ที่ทุกข์นี้ก็เพราะใจแท้ๆ หรือทุกข์เพราะหลง พอใจมันไม่หลง พอใจมีสติ มันก็หายทุกข์ ก็เหมือนกับการกินข้าว กินข้าวทำให้หายทุกข์กาย หายหิว ส่วนการเจริญสติก็ทำให้หายทุกข์ใจ ซึ่งก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกชีวิต
12/14/2023 • 26 minutes, 48 seconds 25661013pm--อย่ารอให้เกิดวิกฤตจึงค่อยได้คิด
13 ต.ค. 66 - อย่ารอให้เกิดวิกฤตจึงค่อยได้คิด : ความตายมันทำให้ความทุกข์ที่เคยเจอทั้งมวลนั้น มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย และดังนั้นหลายคนซึ่งโชคดีไม่ตายเพราะมีคนมาช่วย เขามาได้คิดเลยว่าสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่คอขาดบาดตาย มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเลย เพราะว่าตอนนั้นแหล่ะที่ได้เจอกับความตายแบบใกล้ชิดมาก
ความตายทำให้คนได้ตระหนัก ว่าความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่เรามีเราเจอ มันเล็กน้อยมาก เพราะไม่มีทุกข์ใดที่มันยิ่งใหญ่กว่าความตาย โดยเฉพาะสัญชาตญาณของมนุษย์ที่อยากจะมีชีวิตให้ยืนยาว และหลายคนทั้งที่อยากจะตาย จึงโดดลงมาจากสะพาน แต่ว่าพอได้รับการช่วยชีวิตนั้น กลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมากขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆที่เคยยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งเกิดความผิดหวัง เศร้าโศกเสียใจ คับแค้น จริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเลย
อย่างนี้เรียกว่าเป็นเพราะโชคดีที่เอาชีวิตรอดมาได้ หรือเป็นเพราะมีคนช่วยเอาไว้ แต่หลายคนที่มาได้คิดตอนกำลังจะกระทบพื้นน้ำ แต่ว่าคนช่วยไม่ทัน อันนั้นก็เรียกว่าน่าเสียใจ
แต่ว่าคนเราไม่ต้องรอให้เจอความตายใกล้ตัว ไม่ว่าจะโรคภัยไข้เจ็บ หรือว่าพบอุบัติเหตุ ถ้าเรานึกถึงความตายเป็น ก็จะช่วยทำให้เราได้คิดว่าเราทำอะไรที่ควรทำ และเมื่อถึงเวลา เราจะได้ไม่มีความรู้สึกผิดกับชีวิตที่ผ่านมา
12/13/2023 • 30 minutes, 4 seconds 25661012pm--อย่าหลงเชื่อเหตุผลของกิเลส
12 ต.ค. 66 - อย่าหลงเชื่อเหตุผลของกิเลส : เหตุผลมันสามารถจะใช้ไปในทางที่ส่งเสริมคุณธรรม ความดีก็ได้ หรือใช้ไปในทางที่ส่งเสริมกิเลส หรือทำความชั่วก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราไม่รู้ทันกิเลส เราก็จะเชื่อเหตุผลของมัน ก็เหมือนกับคนที่มีเหตุผลในการทุจริตคอรัปชั่น เหตุผลดีทั้งนั้นแหละ แต่หลายคนก็มีเหตุผลที่ทำให้ไม่ทำการทุจริต
เพราะฉะนั้นเรื่องเหตุผล จริงๆ แล้วมันอยู่ที่การรู้จักใช้ เหตุผลอย่างเดียวกัน สามารถจะใช้เป็นข้ออ้างในการทำชั่วก็ได้ หรือสนองกิเลสก็ได้ เหตุผลอย่างเดียวกัน สามารถจะใช้เป็นแรงกระตุ้น ให้ทำความเพียรก็ได้
อย่างเช่นเรื่องความไม่เที่ยงของชีวิต ไม่ใช่ว่าคนไม่รู้นะว่าในที่สุดเราก็ต้องตาย แต่บางคนหรือจำนวนมากเอามาเป็นข้ออ้างว่าในเมื่อฉันจะอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นาน เพราะฉะนั้นฉันขอสนุกสนานให้เต็มที่ ขณะที่บางคนเห็นว่าชีวิตมันสั้น ระลึกถึงความตายเสมอ ก็เอามาใช้เป็นแรงกระตุ้นให้ทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล
คนทุกวันนี้ มีความฉลาดในการคิด เพราะฉะนั้นจะมีความสามารถในการคิดหาเหตุผล เราก็ต้องรู้จักจำแนกแยกแยะ ให้ได้ว่าเหตุผลที่มันเกิดขึ้นมาในหัว มันเป็นเหตุผลของกิเลส หรือเป็นเหตุผลของคุณธรรม คนที่มีธรรมะก็จะใช้เหตุผลเพื่อส่งเสริมคุณธรรม เพื่อรับมือกับคำต่อว่าด่าทอ ด้วยใจที่สงบไม่โกรธ เจอปัญหาก็ไม่วิตกกังวล เพราะรู้ว่าถ้ามันแก้ได้ จะกังวลไปทำไม แล้วถ้ามันแก้ไม่ได้ กังวลไปแล้วมีประโยชน์อะไร
แต่คนที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ทันกิเลส หรือตกอยู่ในความหลง มันก็จะหลงเชื่อเหตุผลอีกแบบหนึ่ง ที่ทำให้ทุกข์หนักขึ้น หรือไม่ก็แย่กว่านั้น คือเป็นข้ออ้างในการทำชั่ว หรืออาจจะทำให้พาชีวิตตกต่ำย่ำแย่ เช่นปัญหามันแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไปกินเหล้าย้อมใจดีกว่า ไปหาอบายมุขดีกว่า จะได้ลืมๆ จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร จะได้ไม่ทุกข์ ไม่เครียด ไม่กลุ้ม ก็ว่าไปทางโน่นเลย แต่ถ้าเราใช้เหตุผลได้ถูกต้อง มันไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องวิตกกังวล เพราะกังวลไปก็ไม่มีประโยชน์
12/11/2023 • 26 minutes, 4 seconds 25661011pm--อย่าสร้างคุกให้ใจ
11 ต.ค. 66 - อย่าสร้างคุกให้ใจ : เราเอากายมาเป็นฐานของใจ จะว่าไปก็เหมือนกับเอากายเป็นบ้านของใจ ใจมันต้องการบ้าน และบ้านของใจก็หมายถึงบ้านที่มีอิสระที่จะมาและจะไปได้ ถ้าบังคับใจให้อยู่ตรงนั้นตรงนี้ เช่นมาอยู่กับกาย กายก็จะไม่ใช่บ้านแล้วกลายเป็นคุก อย่าให้กายเป็นคุกของใจ เพราะถ้ากายเป็นคุกของใจ มันจะหนีมันจะแหก ถ้าเราบังคับจิตให้อยู่กับกาย นั่นคือกำลังทำให้กายเป็นคุกของใจ
แต่ถ้าเราทำให้กายเป็นบ้านของใจ ก็หมายความว่ามันมีอิสระที่จะมาและจะไปได้ ถ้าหากว่าใจรู้ว่ากายเป็นบ้าน และมีอิสระที่จะไปที่จะมา มันก็จะพอใจที่จะอยู่กับกาย
เหมือนกับเด็กวัยรุ่น ถ้าหากว่าเขารู้ว่าบ้านมันไม่ใช่คุก เขาก็อยากจะอยู่บ้าน แต่ถ้าเขารู้สึกว่าบ้านมันคือคุก เพราะพ่อแม่บังคับทุกอย่างเลย เขาก็อยากจะแหกออกจากคุก ไม่อยากกลับบ้าน จะกลับก็ต้องดึกๆ ดื่นๆ หรือไม่ก็หาเรื่องเที่ยวเตร่ 3-4-5 วันกลับที เพราะเขารู้สึกว่าที่นั่นไม่ใช่บ้านแต่คือคุก แต่ถ้าเขารู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่เขามีอิสระ เขาก็อยากจะอยู่
ใจก็เหมือนกัน ทำกายให้เป็นบ้านของใจ จะมาก็ได้จะไปก็ได้ แต่ว่าเราก็จะอาศัยสติมาเชื้อเชิญ มาชวนเกลี้ยกล่อมให้ใจกลับมาอยู่บ้าน คือกลับมาอยู่กับกาย รู้เนื้อรู้ตัว
พอมารู้กาย ไม่นานก็จะคล่องแคล่วในการรู้ใจ คือรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แล้วก็สามารถที่จะพาจิตหลุดออกจากความคิดและอารมณ์ กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ก็จะทำให้เราพบกับความสงบได้ พบกับความโปร่งเบา ทำอะไรก็ทำได้อย่างมีสติ ได้ผล ไม่หลงลืม ไม่ละเลยในเป้าหมายที่ได้มุ่งเอาไว้
12/10/2023 • 27 minutes, 55 seconds 25661010pm--อยากก้าวหน้าอย่ากลัวหลง
10 ต.ค. 66 - อยากก้าวหน้าอย่ากลัวหลง : การปฏิบัติแบบนี้ “อย่าไปกลัวหลง” บางคนกลัวหลงมาก ก็เลยพยายามไปบังคับจิต ไปจ้องดูจิต เหมือนกับถ้าเราจะขี่จักรยาน ขี่ไม่เป็น จะฝึกขี่อย่ากลัวล้ม ถ้ากลัวล้ม มันจะขี่ไม่เป็น บางคนกลัวล้ม ต้องเอาล้อ 2 ล้อมายันไว้ที่ล้อหลังจะได้ไม่ล้ม มันไม่ล้มก็จริงแต่ว่ามันขี่ไม่เป็น ถอด 2 ล้อเล็กออกเมื่อไหร่ก็ล้มเมื่อนั้น จะขี่จักรยานเป็นมันก็ต้องไม่กลัวล้ม
เหมือนกับคนที่จะพูดภาษาอังกฤษเป็นต้องไม่กลัวผิด คนไทยเรียนภาษาอังกฤษมาเป็นสิบปีแต่พูดไม่ได้เลย แอนดรูว์ บิ๊กส์ เป็นฝรั่งสอนภาษาอังกฤษ เขาตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษไม่ก้าวหน้าเลย เพราะกลัวผิดจึงไม่กล้าพูด กลัวผิด Grammar กลัวผิด Tense เลยไม่กล้าพูด พอไม่กล้าพูดก็เลยพูดไม่เป็น
ขณะที่บางคนเขาไม่กลัวผิด ไม่มีหน้าจะต้องรักษา ไม่กลัวเสียเซลฟ์ (self) พูดตะบันไปเลย คนแบบนี้ที่กล้าพูดโดยไม่กลัวผิดจะเรียนภาษาอังกฤษได้เร็ว ที่จริงแอนดรูว์ บิ๊กส์ เขาพูดภาษาไทยได้คล่องเพราะเขาไม่กลัวผิด พูดเรื่อยเปื่อย ผิดก็มีคนแก้ เอาผิดเป็นครู ก็เลยพูดภาษาไทยได้เร็วและสำเนียงก็ได้
ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเราปฏิบัติแล้วเรากลัวหลง เราก็จะปฏิบัติได้ช้า เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัวหลง บางคนกลัวหลง ก็จะต้องหาทางเพ่ง เอาจิตไปเพ่งที่เท้า เอาจิตไปเพ่งที่มือ มันจะได้ไม่หลง มันจะได้ไม่ฟุ้ง บางทีไม่พอมีคำบริกรรมอีก มีการนับ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะกลัวหลง กลัวฟุ้ง
มันเหมือนกับเวลาจะข้ามท้องร่อง สมัยก่อนข้ามท้องร่องในสวน เขาใช้ไม้ไผ่แค่ลำเดียว บางคนกลัวตก ต้องมีราวเอาไว้จับ ถ้าไม่มีราวจับมีแต่ลำไม้ไผ่ล้วนๆ ไม่กล้าเดินเพราะกลัวตก การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนเปรียบเหมือนกับการข้ามท้องร่องด้วยลำไม้ไผ่โดยที่ไม่มีราว ใหม่ๆ พอข้ามไม่ทันถึงท้องร่อง ยังข้ามไม่ทันถึง ก็ตกเสียแล้ว แต่ถ้าไม่ท้อขึ้นมาใหม่ เดินข้ามอีก แล้วก็ตกอีก ก็ไม่เป็นไร เดินข้ามบ่อยๆ เดี๋ยวก็ข้ามท้องร่องด้วยลำไม้ไผ่โดยที่ไม่มีราว
การปฏิบัตินี้ บางคนหวังพึ่งราวก็คือคำบริกรรม คือการเพ่ง คือการนับ ต้องมีราวเพื่ออะไร เพื่อจะได้ไม่ตก แต่ถ้าเราไม่กลัวตก เดินไปเลย มันจะตกก็ช่างมัน ก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ สุดท้ายก็เดินข้ามท้องร่องลำไม้ไผ่โดยที่ไม่ต้องมีราวได้ มันเป็นความชำนาญ ที่เกิดจากชั่วโมงบิน เกิดจากการทำบ่อยๆ เหมือนขี่จักรยาน ถ้าไม่กลัวล้ม สุดท้ายก็ขี่ได้คล่อง แต่ถ้ากลัวล้ม ต้องมีคนประคอง ต้องมีล้อ 2 ล้อมาคอยยันไว้ที่ล้อหลัง ไม่ล้มก็จริงแต่ว่าขี่ไม่เป็นหรือขี่ได้ช้า
ฉะนั้นการปฏิบัติแบบนี้อย่าไปกลัวหลง อย่าไปกลัวฟุ้ง อนุญาตหรือให้โอกาสสติได้ทำงานแล้วก็จะมีสติรู้ทัน แล้วเกิดความรู้สึกตัวได้เร็ว เร็วแบบชนิดที่เรียกว่าไม่ทันตั้งตัวเลย อย่างไม่คาดคิด
12/9/2023 • 27 minutes, 23 seconds 25661009pm--ทำเหตุเต็มที่ แต่ปล่อยวางผล
9 ต.ค. 66 - ทำเหตุเต็มที่ แต่ปล่อยวางผล : การทำงานแบบปล่อยวาง มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพ้อฝัน มันเป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำด้วย เพราะส่วนมากคือต้องเข้าใจด้วยว่าการปล่อยวางไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ปล่อยวางคืออย่างน้อยก็ปล่อยวางผลที่มุ่งหวัง ปล่อยวางความสำเร็จที่อยากได้ หรือปล่อยวางความสงบหรือว่าสติความรู้สึกตัวที่อยากจะทำให้เกิดมีขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ
อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี ประกอบเหตุให้เต็มที่ นี่คือสิ่งที่เราควรทำในขณะที่เรามาปฏิบัติธรรมที่นี่ วางผลเอาไว้ก่อน ผลที่คาดหวัง อย่าให้ความต้องการหรือความปรารถนา ความคาดหวังในผล มารบกวนการปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นก็จะเครียด
ถ้าเรารู้จักการปล่อยผล ต่อไปเราก็จะปล่อยวางอื่นได้ ความหงุดหงิด ความรำคาญใจ ความปวด ความเมื่อย มันก็จะวางได้มากขึ้น ทำงานก็ให้กายทำไป ใจก็เพียงแต่รับรู้ว่ากายกำลังทำอะไร แต่ใจไม่ได้แบกอะไรเลยสักอย่าง ก็จะทำให้การทำงานนี้นอกจากคนทำไม่ทุกข์แล้ว บางทียังจะมีความสนุกหรือมีความสุขกับงาน และงานก็ทำได้ดี ทำได้มากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ
12/8/2023 • 24 minutes, 59 seconds 25661008pm--อะไรเกิดขึ้นกับกายกับใจก็แค่รู้ทัน
8 ต.ค. 66 - อะไรเกิดขึ้นกับกายกับใจก็แค่รู้ทัน : ใหม่ๆ สติมันงุ่มง่าม กว่าจะตามหาจิตเจอ หลงเข้าไปในป่าในความคิด แต่ว่าพอทำบ่อยๆ มันจะไวมากในการตามหาใจหรือหาจิตจนเจอ หลุดจากความคิด หลุดจากป่าหรือว่าเขาวงกตแห่งความคิด เข้ามาสู่ความรู้สึกตัว กลับมาสู่ปัจจุบัน กลับมารู้เนื้อรู้ตัวได้ไวขึ้น
เราก็ต้องมีความอดทน ไม่เร่งรีบ ถ้าอยากให้สติทำงานได้เร็ว รู้สึกตัวได้ไว มันมีวิธีเดียวคือทำบ่อยๆ ทำเยอะๆ ทำซ้ำๆ
จึงบอกว่าสำหรับผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่ต้องเอาปริมาณไว้ก่อน เอาปริมาณเป็นหลัก แล้วคุณภาพจะตามมา สิ่งที่จะช่วยให้เราทำอย่างนี้ได้ก็คือ ลดความคาดหวัง ลดความอยากลง ทำโดยไม่มีความอยากให้เกิดความสำเร็จไวๆ เช่นให้จิตมาสงบเร็วๆ ให้มีความรู้สึกตัวไวๆ ลดความคาดหวัง
แม้ว่าจะไม่ได้หวังความสงบ ความรู้สึกตัว แต่ว่าความรู้สึกตัวบางครั้งมันก็ขึ้น บางครั้งมันก็ลง บางครั้งก็ต่อเนื่อง บางครั้งก็สั้น มันจะเป็นยังไงหน้าที่ของเราคือแค่รู้ รู้เฉยๆ
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า “อะไรเกิดขึ้นกับกายกับใจก็เปลี่ยนให้เป็นรู้ให้หมด” มันจะง่ายถ้าหากว่าเราเตือนใจของเราอยู่เสมอว่า อะไรเกิดขึ้นกับใจก็แค่รู้เฉยๆ อะไรเกิดขึ้นกับกายก็รู้เฉยๆ เกิดขึ้นกับกาย เช่นปวดเมื่อยหรือว่าสบายก็แค่รู้ ไม่มีการผลักไสและก็ไม่มีการไหลตาม
12/7/2023 • 26 minutes, 58 seconds 25661005pm--ธรรมน้อมใจให้รู้จักวาง
5 ต.ค. 66 - ธรรมน้อมใจให้รู้จักวาง : พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระนันทิยะนะว่า อารมณ์ที่น่าพอใจ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เมื่อใดที่มันเกิดขึ้นก็ให้วางไว้ วางไว้ตรงนั้นแหละ อย่านำไปเก็บไปแบกเอาไว้ เช่นเดียวกันเมื่อเจอคำนินทาว่าร้าย หรือว่าลมปากของผู้คน มันก็จะไม่ทำให้ใจสั่นสะเทือน เพราะว่าพอมันเข้าหูซ้ายก็ทะลุหูขวา ไม่ทำให้เกิดความหวั่นไหวใจกระเพื่อมแต่อย่างใด
คำชมก็เหมือนกันนะ คำชมก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าถ้าเขาว่าเราก็ปล่อยวาง แต่พอเขาชมก็เก็บมาคลอเคลีย ซึ่งก็ไม่ใช่ ก็ให้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเหมือนกัน มีความดีใจก็รู้ มีความยินดีก็รู้แล้วก็วาง ถ้าไม่วางถึงเวลาที่เสียใจก็จะยึดก็จะแบก ถ้าไม่รู้จักวางถึงเวลาที่เกิดความยินร้ายมันก็ยึดก็แบกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นจะเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตาม ก็วางทั้งนั้น มันมาเพื่อให้เราเห็นเฉยๆ เห็นแล้วก็วาง และนี่ก็คือวิธีของการปฏิบัติของการประพฤติธรรมที่เราควรจะใส่ใจ
12/6/2023 • 27 minutes, 27 seconds 25661011pm--อย่าสร้างคุกให้ใจ
11 ต.ค. 66- อย่าสร้างคุกให้ใจ : เราเอากายมาเป็นฐานของใจ จะว่าไปก็เหมือนกับเอากายเป็นบ้านของใจ ใจมันต้องการบ้าน และบ้านของใจก็หมายถึงบ้านที่มีอิสระที่จะมาและจะไปได้ ถ้าบังคับใจให้อยู่ตรงนั้นตรงนี้ เช่นมาอยู่กับกาย กายก็จะไม่ใช่บ้านแล้วกลายเป็นคุก อย่าให้กายเป็นคุกของใจ เพราะถ้ากายเป็นคุกของใจ มันจะหนีมันจะแหก ถ้าเราบังคับจิตให้อยู่กับกาย นั่นคือกำลังทำให้กายเป็นคุกของใจ
แต่ถ้าเราทำให้กายเป็นบ้านของใจ ก็หมายความว่ามันมีอิสระที่จะมาและจะไปได้ ถ้าหากว่าใจรู้ว่ากายเป็นบ้าน และมีอิสระที่จะไปที่จะมา มันก็จะพอใจที่จะอยู่กับกาย
เหมือนกับเด็กวัยรุ่น ถ้าหากว่าเขารู้ว่าบ้านมันไม่ใช่คุก เขาก็อยากจะอยู่บ้าน แต่ถ้าเขารู้สึกว่าบ้านมันคือคุก เพราะพ่อแม่บังคับทุกอย่างเลย เขาก็อยากจะแหกออกจากคุก ไม่อยากกลับบ้าน จะกลับก็ต้องดึกๆ ดื่นๆ หรือไม่ก็หาเรื่องเที่ยวเตร่ 3-4-5 วันกลับที เพราะเขารู้สึกว่าที่นั่นไม่ใช่บ้านแต่คือคุก แต่ถ้าเขารู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่เขามีอิสระ เขาก็อยากจะอยู่
ใจก็เหมือนกัน ทำกายให้เป็นบ้านของใจ จะมาก็ได้จะไปก็ได้ แต่ว่าเราก็จะอาศัยสติมาเชื้อเชิญ มาชวนเกลี้ยกล่อมให้ใจกลับมาอยู่บ้าน คือกลับมาอยู่กับกาย รู้เนื้อรู้ตัว
พอมารู้กาย ไม่นานก็จะคล่องแคล่วในการรู้ใจ คือรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แล้วก็สามารถที่จะพาจิตหลุดออกจากความคิดและอารมณ์ กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ก็จะทำให้เราพบกับความสงบได้ พบกับความโปร่งเบา ทำอะไรก็ทำได้อย่างมีสติ ได้ผล ไม่หลงลืม ไม่ละเลยในเป้าหมายที่ได้มุ่งเอาไว้
12/5/2023 • 27 minutes, 55 seconds 25661004pm--ลดตัวตนให้เบาบาง
4 ต.ค. 66 - ลดตัวตนให้เบาบาง : ถ้าเราลดตัวตนได้มากเท่าไหร่หรือว่าลดการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้มากเท่าไหร่ ถึงเวลาที่มีความทุกข์ มันก็ทุกข์น้อย เวลามีใครมาตำหนิต่อว่าก็จะทุกข์น้อย ยิ่งไม่มีตัวตนเลยยิ่งไม่ทุกข์เลยนะ มันเหมือนกับกระจก ถ้าถูกก้อนหินตกลงมากระแทกก็แตก แต่ถ้ามีไม่มีกระจกเลย ก้อนหินตกลงมามันก็ไม่มีอะไรแตก ถ้าเป็นคนก็ไม่เจ็บ คนที่ไม่มีตัวตน มีอะไรมากระทบก็ไม่กระเทือน
อย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่ บทมงคลสูตร ผู้ที่ฝึกจิตไว้ดีแล้ว จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส มีตัวตนน้อย หรือว่ายึดมั่นถือมั่นในตัวตนน้อยมาก พอถึงเวลาปวด เวลาเจ็บ มันก็มีแต่ความเจ็บความปวด ไม่มีผู้ปวด ถ้ามีตัวตนเมื่อไหร่มันก็มีความเป็นผู้ปวด ผู้เจ็บ ผู้สูญเสีย ผู้โกรธ แต่ถ้ามีตัวตนน้อย มีความโกรธแต่ไม่มีผู้โกรธ มีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ ถึงเวลาตายก็มีแต่ความตาย ไม่มีผู้ตาย มันจะช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะเลย
แต่ถ้ามีตัวตนหนาแน่นเมื่อไหร่ เวลามีความปวด ก็ไม่ได้มีแต่แค่ความปวด มีผู้ปวดด้วย และปวดมากด้วย เวลามีความโกรธก็มีผู้โกรธ โกรธมากด้วย เวลามีความทุกข์ ไม่ได้มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว มีผู้ทุกข์ ทุกข์มากด้วย
มาช่วยกันลดตัวตน ลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน แล้วก็สวนทางกับความปรารถนาที่จะมีตัวมีตนเป็นที่ยอมรับ เป็นที่รู้จัก แม้ว่ามันจะรู้สึกอัดอั้นตันใจเวลาทำดีแล้วอยากจะอวด แต่ถ้าเราลองหักห้ามใจไม่อวด ไม่ให้อาหารกับกิเลส อัตตา หรือมานะ ต่อไปมันก็จะมีจิตใจที่เบาบาง แล้วทุกข์น้อยลง
12/5/2023 • 29 minutes, 33 seconds 25661003pm--ดีใจได้แต่อย่าลืมตัว
3 ต.ค. 66 - ดีใจได้แต่อย่าลืมตัว : ความดีใจนี่ถ้าเราปล่อยใจหรือจมไปกับมัน มันไม่ใช่ดีนะ มันไม่ใช่แค่ทำให้เราลืมเนื้อลืมตัว หรือไม่รู้สึกตัว ตัวอย่างที่พูดไปสักครู่มันยังทำให้ถึงเวลาที่เราเสียใจ เราก็จะจมอยู่ในความเสียใจได้ง่าย ถ้าเพลินอยู่กับความดีใจมันก็จะจมอยู่กับความเสียใจได้ง่าย
เหมือนคนที่หัวเราะเสียงดังดีใจ ถึงเวลาเศร้าใจเขาก็จะร้องไห้เสียงดังเหมือนกัน ถ้าไม่อยากจมอยู่กับความทุกข์ความเสียใจก็อย่าไปเพลิน หรือหลงอยู่กับความดีใจ ฉะนั้นเวลาฝึกดูใจ ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่ใช่แค่รู้ทันเฉพาะเวลามีอารมณ์ฝ่ายลบ เช่นความโกรธ ความหงุดหงิด หรือว่าความเครียด แม้กระทั่งอารมณ์ที่เราเรียกว่าอิฏฐารมณ์ น่าพึงพอใจ ก็อย่าไปเพลินกับมันมาก ให้ตั้งสติ ตั้งการ์ดดู เห็นมันมาแล้วก็ไป
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่าให้รู้จักวางใจให้ดี อย่าไปยินดียินร้าย บางคนสงสัย ยินร้ายน่ะเข้าใจแต่ทำไมไม่ต้องยินดีด้วย อยากจะปล่อยใจให้มันยินดีถ้าไม่อยากยินร้ายก็ต้องฝึกให้ไม่ยินดี หรือถึงแม้ยินดีก็รู้ทัน ถ้าไม่อยากเศร้าเวลาสูญเสีย ไม่อยากโกรธเวลาถูกต่อว่า
เช่นเดียวกัน เวลาได้ก็อย่าไปดีใจมาก หรือเวลาได้รับคำชมก็อย่าไปเหลิง เพราะเรื่องพวกนี้มันเป็นของคู่กัน ดีใจมากก็เสียใจมาก ดีใจกับเสียใจมันใกล้กันมาก เพราะว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ใจเรามันก็ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งความดีใจยามสมหวัง ยามได้รับชัยชนะ หรือว่าได้โชคได้ลาภก็อย่าไปเพลินกับมันมาก ต้องฉลาดในการรู้ทันมัน
12/4/2023 • 28 minutes, 29 seconds 25661002pm--อย่าซ้ำเติมตนด้วยความอยาก
2 ต.ค. 66 - อย่าซ้ำเติมตนด้วยความอยาก : แม้ว่าเราจะยังไม่มีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งถึงความจริงว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยง พูดง่ายๆ คือไม่รู้ความจริง แต่อย่างน้อยถ้ารู้ทันความอยากที่มันเกิดขึ้น มันก็ช่วยได้เยอะ ไม่รู้สัจธรรม ไม่รู้ไตรลักษณ์ ก็ยังไม่เป็นไร แต่ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังรู้ทันความอยากที่เกิดขึ้น นั่นก็คือมีสตินั่นเอง
พอมีสติ มันก็จะเห็นความอยากที่มาบงการจิต และไม่ต้องทำอะไรกับความอยาก แค่รู้เฉยๆ มันก็ค่อยๆ เลือนหายไปเอง ไม่ต้องไปอยากให้ไม่อยาก ซึ่งมันหนักเข้าไปใหญ่ เราเพียงแค่รู้ความอยาก เห็นความอยากก็พอ พอมันถูกรู้หรือถูกเห็นด้วยสติ มันก็ค่อยๆ จางคลายไป เพราะว่ามันเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่รู้สึกตัว ความหลงนั่นเอง แต่พอมีสติ มีความรู้สึกตัว ความหลงหาย ความอยากก็ดับไป ไม่มีที่ตั้ง
เพราะฉะนั้นเวลาเรามีความทุกข์ขึ้นมา ก่อนที่จะไปจัดการกับอะไรต่ออะไรที่เราคิดว่ามันทำให้เราทุกข์ ลองกลับมาดูว่า เป็นเพราะความอยากของเราหรือเปล่า อย่างอาจารย์คนที่เล่าถึงนั้น เขาคิดว่าลูกชายทำให้ตัวเองทุกข์ เพราะลูกชายไม่ยอมเรียนหมอ แต่ที่จริงไม่ใช่หรอก ลูกชายไม่ได้ทำให้พ่อทุกข์ แต่ความอยากหรือความคาดหวังของพ่อเองต่างหากที่ทำให้พ่อทุกข์ พอพ่อลดความคาดหวังลง หรือยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ มันก็หายทุกข์ แล้วแทนที่จะลดความอยาก แทนที่จะขับไล่ความอยาก ก็เพียงแต่ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าอยากในสิ่งที่ไม่มีหรืออยากในสิ่งที่ไม่ได้เป็น แค่ยอมรับสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ความทุกข์มันก็ลดลง
12/3/2023 • 27 minutes, 55 seconds 25661001pm--ก้าวข้ามความสุขอย่างหยาบ
1 ต.ค. 66 - ก้าวข้ามความสุขอย่างหยาบ : ความอยากจะเอาชนะ อยากจะเป็นผู้ชนะ มันสนองอัตตาตัวตนเต็มที่ แล้วมันพร้อมที่จะผลักไสให้เราทำชั่วก็ได้ ทำร้ายคนอื่นก็ได้ เพื่อจะเป็นผู้ชนะ หรือถลำเข้าไปในวงจรของอบายมุขเพื่อจะได้เป็นผู้ชนะ แต่มันเป็นชัยชนะที่จอมปลอมและเป็นชัยชนะที่น่ากลัวมาก สู้ชัยชนะที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชนะตนประเสริฐกว่าชนะผู้อื่นนับร้อยนับพันครั้ง”
และ ‘ชนะตน’ ในที่นี้ หมายถึงชนะกิเลสหรืออัตตาด้วย เพราะอัตตามันก็จะพยายามล่อหลอกเราให้สนองหรือปรนเปรอมัน สรรหาเหตุผลมาเพื่อที่จะล่อหลอกให้เราหลง แล้วเวลาที่เราจะชนะกิเลสพวกนี้ได้ มันต้องมีสติมากเลยนะ มีสติที่จะรู้เท่าทันอุบายของตัวอัตตาตัวกิเลสเหล่านี้ มันจะหลอกเรายังไง มันจะบอกว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” หรือ “ครั้งสุดท้ายแล้ว” เราก็ไม่เชื่อนะ ก็เพราะไม่เชื่อนี่แหละนะ จึงทำให้เราเป็นอิสระจากอำนาจของมันได้
12/2/2023 • 27 minutes, 35 seconds 25660930pm--ถามไม่ถูก ออกจากทุกข์ไม่ได้
30 ก.ย. 66 - ถามไม่ถูก ออกจากทุกข์ไม่ได้ : บางทีถ้าหากว่าเราหมั่นถามสักหน่อยนะ แทนที่จะถามว่าใคร แต่ถามว่าอะไร เราก็จะเห็นความจริงได้ ความจริงที่จริงแท้ได้มากขึ้น แทนที่จะถามว่าใครเห็นก็ถามว่าอะไรเห็น แทนที่จะถามว่าใครเดินก็อะไรเดิน แทนที่จะถามว่าใครได้ยินก็ถามว่าอะไรได้ยิน ก็อาจจะพบว่ามันเป็นรูปที่เดิน มันเป็นจิตที่เห็น มันเป็นจิตที่ได้ยิน จึงมีคำว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ วิญญาณคือการรับรู้ของจิตนั่นเอง
คนเราไปติดที่คำว่าใครๆๆ มันก็เลยเห็นแต่ความจริงในระดับสมมติสัจจะ พอมองว่าใครก็มีแต่เรากับเขา แต่ถ้ามองว่าอะไร มันก็จะเห็นรูปเห็นนาม แล้วต่อไปก็จะเห็นเป็นขันธ์ 5 แล้วถ้าเรามองอะไร แทนที่จะมองว่าใคร มันก็จะเห็นขันธ์ 5 หรือ รูป นาม กาย ใจ ซึ่งเป็นความจริงแท้ แต่ถ้าเราเอาแต่ถามว่าใครๆๆ มันก็จะเห็นความจริงระดับสมมุติสัจจะ ซึ่งมันก็พาเราไปสู่ความหลงได้ง่าย
แต่ในชีวิตจริงเราก็คงหนีไม่พ้นนะที่จะต้องถามว่าใครๆๆ แต่ถ้าถามว่าอะไรบ้างก็ดี โดยเฉพาะถามในลักษณะที่ทำให้สาวไปถึงเหตุ สาวไปถึงปัจจัย อย่างเช่น เวลาเราเห็นอุบัติเหตุ หรือว่าอาชญากรรม แทนที่เราจะถามว่าใครทำ เราถามว่า “อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเหตุเหล่านั้น” ใครฆ่าหรือว่าใครทำ มันอาจจะไม่ได้มีประโยชน์เท่ากับว่า อะไรที่ทำให้เกิดเหตุเหล่านั้นขึ้น อาจเป็นเพราะยาบ้า เป็นเพราะว่าการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นเพราะสังคมทำให้คนหลงผิด เกิดความโลภเกิดความหลง อันนี้ก็ทำให้สาวไปสู่การแก้ปัญหา
แล้วก็อาจจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระโมลิยะที่ถามว่า “ใครเสวยเวทนา” ที่ถามผิดนี่ถามผิด ยังถามไม่ถูก ต้องถามว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา สุดท้ายก็จะพบสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา ซึ่งใครทุกข์นี่มันไม่สำคัญเท่ากับว่า อะไรเป็นปัจจัยทำให้เกิดทุกข์ แล้วสุดท้ายก็จะพบว่า กระบวนการก่อทุกข์ก็คือปฏิจจสมุปบาท
สังเกตนะ ปฏิจจสมุปบาทไม่มีคำว่าใครเลย ไม่มีใครเป็นผู้ก่อเหตุ ไม่มีใครเป็นผู้รับผล มันมีแต่อะไร เเละนี่เป็นการมองที่ทำให้เห็นความจริงที่ช่วยพาให้ออกจากทุกข์ได้
12/1/2023 • 28 minutes, 54 seconds 25660929pm--ทุกข์มาให้รู้
29 ก.ย. 66 - ทุกข์มาให้รู้ : พอเห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ ใจมันก็จะหน่าย ไม่อยากจะยึดแล้ว แต่ก่อนเห็นว่าอะไรๆ ก็เป็นสุข มันก็เลยยึด รวมทั้งร่างกายนี้ พอเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา แต่พอเห็นว่าเป็นตัวทุกข์ มันก็วาง นี่เรียกว่าเกิดปัญญาขึ้นมาเห็นความจริง พอรู้ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ จิตมันก็คลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่น พอจิตไม่มั่นถือมั่นมันก็พ้นทุกข์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์”
เพราะฉะนั้นการรู้ทุกข์สำคัญนะ เราไม่ได้รู้ด้วยการท่องจำเอา ทีแรกรู้ด้วยสติ ต่อไปก็รู้ด้วยปัญญา แม้จะยังไม่ถึงขั้นเห็นทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่อย่างน้อยเวลามันเกิดทุกข์ที่กาย ก็ไม่ไปยึดว่าฉันทุกข์ เวลามันมีความปวดที่กาย ก็ไม่ยึดมั่นสำคัญว่าฉันปวด เรียกว่าเห็นความปวดแต่ไม่มีผู้ปวด เวลามีความโศกความเศร้าเกิดขึ้น หรือความโกรธก็เห็นมัน เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว ถ้าเกิดว่าเราหมั่นฝึกรู้ทุกข์บ่อยๆ ด้วยการเอาสติมาดูกายดูใจอยู่เรื่อยๆ มันก็จะเห็นทุกข์ได้ไวขึ้น และเห็นทุกข์เมื่อไร มันก็ไม่เป็นทุกข์เมื่อนั้น
11/30/2023 • 29 minutes, 23 seconds 25660928pm--มีชีวิตโดยไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา
28 ก.ย. 66 - มีชีวิตโดยไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา : มันมี 2 สิ่งนะที่คนส่วนใหญ่เสียใจ 1 ทำโดยไม่ได้คิด 2 ได้แต่คิดแต่ไม่ทำ” ทำโดยไม่คิดก็คือว่าจะทำด้วยอำนาจของกิเลสหรือด้วยอำนาจของราคะหรือโทสะเรียกว่าทำโดยไม่คิดเสร็จแล้วก็มาเสียใจว่าฉันไม่น่าเลย ไม่น่าพลั้งเผลอ รู้อย่างนี้ไม่ทำดีกว่าหรือ ประเภทที่ 2 ได้แต่คิดแต่ไม่ทำเพราะว่าอาจจะคิดว่าเดี๋ยวก็ทำวันหลังก็แล้วกันผัดผ่อนไปเรื่อยคิดว่ามีเวลาแต่ลืมไปว่าความตาย หรืออย่าว่าแต่ความตายเลย ความเจ็บป่วยไม่รอใคร ถึงแม้ไม่ตายแต่ความเจ็บป่วยก็ทำให้ไอ้สิ่งที่คิดและอยากจะทำสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ
ฉะนั้นคนเราถ้าหากว่ามาถึงบั้นปลายของชีวิตแล้วถ้าเราไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจหรือเสียดาย ก็ถือว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ได้อย่างหนึ่ง จะเรียกว่าโชคดีก็คงไม่ถูกเพราะเรื่องอย่างนี้มันไม่เกี่ยวกับโชค มันเกี่ยวกับเรื่องของการที่รู้จักวางแผนชีวิตอย่างมีสติ มีวิจารณญาณ เมื่อเรามาถึง ระยะท้ายของชีวิตแล้วถ้าเราไม่รู้สึกเสียดายหรือเสียใจกับสิ่งที่ทำ ไม่มีความปรารถนาที่จะย้อนเวลากลับไปเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่
ถ้าคนเรามาถึงตระหนักตรงนี้หรือมาพบว่าไม่มีความจำเป็นที่จะย้อนเวลากลับไป เพราะที่ทำก็ทำดีที่สุดแล้ว อันนี้ก็ถือว่ามีชีวิตที่น่าภาคภูมิใจซึ่งเราทุกคนนี่ก็สามารถจะทำอย่างนั้นได้ถ้าหากว่าเรารู้จักวางแผนชีวิต แล้วก็มีสติกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะให้เวลากับการฝึกฝนปฏิบัติธรรมให้เวลากับจิตกับใจของตัวนอกเหนือจากเรื่องของสุขภาพและก็ครอบครัว
11/29/2023 • 22 minutes, 30 seconds 25660927pm--สิ่งมีค่าที่ควรถนอมรักษา
27 ก.ย. 66 - สิ่งมีค่าที่ควรถนอมรักษา : เราใส่ใจกับเรื่องอะไร จิตของเราก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราอยากให้ใจเรามีความสุข มีความสงบ เราก็ต้องรู้จักที่จะใส่ใจ ซึ่งก็ได้แก่มารู้กายรู้ใจ มาใส่ใจกับกายเวลาเคลื่อนไหว มาสังเกตรู้ทันความคิดและอารมณ์ เมื่อมันมีสิ่งเหล่านี้ผุดขึ้นในใจ
ถ้าเราเห็นคุณค่าของความใส่ใจ ตระหนักว่ามันเป็นทรัพยากรที่มีค่า เราจะหวงแหน ทะนุถนอมว่าเราจะใส่ใจกับอะไร จะไม่มัวแต่ปล่อยให้ใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องราวของชาวบ้าน คำพูดคำจาที่ชวนให้หงุดหงิด ที่บางท่านเรียกว่าเป็นขยะที่หลุดจากปากของใครต่อใคร เป็นเพราะเราไม่รู้จักควบคุมความใส่ใจของเรา หรือไม่รู้จักสงวน ไม่รู้จักรักษาความใส่ใจ จิตใจเราจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะว่ามัวไปจับไปฉวยเอาขยะ สิ่งที่ไม่เป็นสาระมาสุมไว้ในใจ แต่ถ้าเรารู้จักเลือกใส่ใจ เราก็จะรับเอาสิ่งดีๆ เข้ามา ทำให้จิตใจเราเบิกบานแจ่มใส เป็นกุศล และเจริญงอกงาม
11/28/2023 • 29 minutes, 23 seconds 25660926pm--อะไรจะดีหรือไม่อยู่ที่ใจเรา
26 ก.ย. 66 - อะไรจะดีหรือไม่อยู่ที่ใจเรา : อย่างที่ครูบาอาจารย์หรือว่าพระอรหันต์หลายท่านก็ใช้ตัณหาละตัณหา ใช้มานะละมานะ เพราะฉะนั้นอะไรเกิดขึ้นกับเรานี่มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมันอย่างไร เราปฏิบัติกับมันอย่างไร คือรู้สึกกับมันอย่างไร หรือใช้ประโยชน์กับมันได้แค่ไหน หรือปล่อยให้มันเข้ามามีอำนาจครองใจเรา อันนี้ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา หรือสิ่งที่เกิดในใจของเรานะ มันก็เหมือนกันหมดนะ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วจะดีหรือไม่อยู่ที่เรา จะดีหรือร้ายหรือไม่อยู่ที่เรา หรืออยู่ที่การปฏิบัติของเรา
ถ้าเราปฏิบัติได้ดี ปฏิบัติได้ถูกต้อง ของดีก็ทำให้เกิดประโยชน์ โชคลาภก็ทำให้เกิดประโยชน์ หรือแม้จะเป็นเคราะห์ ความยากลำบาก ความเจ็บป่วย หรือความทุกข์ มันก็กลายเป็นของดีได้นะ ถ้าหากว่าเรารู้จักใช้มัน และอันนี้แหละคือเคล็ดลับสำคัญนะในการที่คนเราจะเป็นอิสระจากความทุกข์ หรือว่าสามารถที่จะยกจิตยกใจอยู่เหนือสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่ารอบตัวเรา กับชีวิตของเรา หรือว่าในใจของเรา
11/27/2023 • 27 minutes, 57 seconds 25660925pm--ความอยากที่ควรรู้ทัน
25 ก.ย. 66 - ความอยากที่ควรรู้ทัน : อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไปรู้สึกลบกับมัน ไปโรมรันพันตูกับมัน อยากขับไสไล่ส่งมัน มันยิ่งดื้อด้าน แต่พอเราไม่มีอาการแบบนั้น จะอยู่ก็อยู่ไปฉันไม่ว่าอะไร พอเราวางใจแบบนี้ มันกลับค่อยๆ ล่าถอยไป อารมณ์ความคิดมันก็เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ ลองสอบถามหรือตรวจสอบใคร่ครวญดูว่าลึกๆ ในใจเรามีความรู้สึกอยากจะกำจัดความคิดและอารมณ์ต่างๆ ออกไปจากใจหรือเปล่า ลองใช้สติตรวจสอบ ก็อาจจะพบว่ามันมีความคิดนี้ซุกซ่อนอยู่ ที่มันคอยบงการอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติของเรา ถ้าเห็นก็ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ก็แค่รู้ว่ามันมีอยู่ เพียงแค่มันถูกรู้ถูกเห็น มันก็คลายพิษสงลงแล้ว มันก็จะไม่มาบงการจิตใจของเราต่อไป
แม้กระทั่งความอยากที่จะให้สิ่งต่างๆ หายไปหรืออยากจะกำจัดสิ่งต่างๆ ความอยากแบบนี้เราก็ไม่ควรจะอยากกำจัดให้มันหายไปจากใจเหมือนกัน อย่าไปอยากซ้อนอยาก ก็แค่รับรู้มันเฉยๆ แล้วก็รู้ว่ามันเป็นธรรมดา เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ ล่าถอยไปเอง
11/26/2023 • 28 minutes, 40 seconds 25660924pm--ขยันรู้ ขยันดู
24 ก.ย. 66 - ขยันรู้ ขยันดู : ธรรมชาติของคนเราสมัยนี้มันชอบไปบงการบังคับควบคุมจัดการกับอะไรต่ออะไรมากมาย ถึงเวลามาปฏิบัติก็มาพยายามบังคับควบคุมจัดการกับจิต แทนที่จะปล่อยให้จิตเป็นอิสระเป็นธรรมชาติ และหน้าที่ของเราคือให้สติได้มารู้มาเห็น ถ้าหากว่าเราปล่อยให้สติเขาทำงาน ใหม่ๆ อาจจะเงอะงะงุ่มง่าม ช้านะ เหมือนกับสมัยที่เราอยู่ ป.1 ป.2 เวลาท่องสูตรคูณ มันต้องนึกอยู่นาน 5x8 ได้เท่าไหร่ ต้องนึกอยู่นาน 9x8 ได้เท่าไหร่ ต้องนึกอยู่นาน แต่พอเราท่องบ่อยๆ หรือทำเลขบ่อยๆ มันออกมาเลยทันที 5x8=40 9x8=72 นั่นเพราะอะไร เพราะทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ แต่ใหม่ๆ มันงุ่มง่ามอยู่แล้ว มันจะนึกคำตอบนี่ช้ามาก เหมือนกับสติของเรา
จะให้มันรู้มันเห็นความคิดและอารมณ์ใหม่ๆ มันช้า แต่เราอย่าใจร้อน เราให้โอกาสเขา เพราะว่าเรื่องนี้มันต้องให้สติรู้เองเห็นเอง อย่าไปทำแทนสติ ต้องเปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน สติก็จะเติบโต เมื่อสติเติบโตแล้วก็จะทำงานแทนเรา เวลาเผลอก็เผลอไม่นาน สติมาบอกเลยนะว่าตอนนี้กำลังฟุ้งแล้ว มันรู้ทัน มันเห็นความคิดและอารมณ์ได้ทันโดยที่ไม่ได้ตั้งใจเลย หลักการเจริญสติที่นี่ไม่มีอะไรมาก ขยันรู้อย่างเดียวเลย รู้ตะพึดตะพือ อะไรเกิดขึ้นกับกายกับใจก็รู้อย่างเดียว ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง
11/25/2023 • 29 minutes, 55 seconds 25660923pm--ทำบุญอย่าทิ้งธรรม
23 ก.ย. 66 - ทำบุญอย่าทิ้งธรรม : ธรรมะสามารถจะเข้าสู่ใจเราได้ ประการแรกด้วยการฟัง เรียกว่าสุตมยปัญญา การฟังแต่ฟังแล้วไม่พอจะต้องใคร่ครวญด้วย ใคร่ครวญจากประสบการณ์ของผู้คนมากมายที่เคยรุ่งแล้วก็ร่วง หรือว่าเคยสำเร็จแต่แล้วก็ล้มเหลว ชีวิตเคยขึ้นแต่แล้วก็ลง ถ้าเราคอยใคร่ครวญ แบบนี้เรียกว่าจินตามยปัญญา
หรือที่ดียิ่งกว่านั้นคือภาวนามยปัญญา คือปฏิบัติธรรม อันนี้ยิ่งเป็นเรื่องยากสำหรับชาวพุทธจำนวนมาก จะให้มาทำบุญน่ะได้ แต่จะให้มาปฏิบัติธรรมน่ะฉันไม่เอา มักจะพูดว่าฉันยังไม่ทุกข์จะปฏิบัติธรรมไปทำไม รอให้แก่ก่อน แต่ถึงเวลาแก่ก็เลี่ยงไปเรื่อยๆ
ภาวนามยปัญญาคือการเจริญสติ การทำสมาธิ การทำกรรมฐาน เป็นหนทางแห่งการเปิดใจให้เข้าถึงธรรม อนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าได้แต่เรียนรู้ผ่านการฟังเท่านั้นมันไม่ซาบซึ้งถึงใจนะ ถึงเวลาเกิดเหตุก็ลืม ลืมไปเลยนะเพราะว่ามันเป็นแค่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา แต่ถ้าเราภาวนาจนเห็นรูปเห็นนาม โดยเฉพาะความคิดอารมณ์ที่มันไม่เที่ยง มันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ก็จะเข้าใจซาบซึ้ง
พอเข้าใจไตรลักษณ์แล้ว มันจะไม่ลืมหรือลืมยาก ถึงเวลาเกิดความผันผวนแปรปรวนขึ้นมาในชีวิต ก็ทำใจได้ ยอมรับได้ ไม่บ่นโวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ไม่คร่ำครวญ เพราะรู้จักใคร่ครวญจากประสบการณ์ทั้งจากการปฏิบัติธรรม และจากการดำเนินชีวิต ที่สำคัญคือทำให้มีธรรมะรักษาใจ ได้แก่ สติ สมาธิ ปัญญา อันนี้เป็นของที่ประเสริฐกว่าบุญที่เราเข้าใจเสียอีก
เพราะฉะนั้น อย่าคิดแต่จะเอาบุญนะ แต่ว่าให้เปิดใจรับฟังธรรมะด้วย ถ้าเอาบุญแต่ว่าเมินธรรมะ ก็ถือว่าชีวิตยังมีความเสี่ยง ทำบุญน่ะดีแล้ว แต่ว่าต้องอย่าลืมธรรมะด้วย
11/24/2023 • 28 minutes, 44 seconds 25660922pm--ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้
22 ก.ย. 66 - ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้ : ความอยากนี้แปลกนะ ยิ่งอยากเท่าไหร่ยิ่งได้ผลตรงข้าม อยากเลิกเหล้ากลับกินเหล้าหนักขึ้น อยากหายป่วยกลับป่วยหนักขึ้น อยากให้มันสงบมันกลับจะฟุ้งหรือเครียดหนักขึ้น
ฉะนั้นเวลาปฏิบัติต้องกลับมาดูนะ มาตรวจสอบดูว่ามันมีความอยากไหม ถ้าเห็นความอยากอย่าไปกดข่มมัน ให้รู้สึกเป็นกลางกับมัน แค่รู้เฉยๆ มันก็มากพอที่จะทำให้มันไม่สามารถบงการจิตใจได้ อย่าประเภทว่า จะอยากให้ไม่อยากนะ ถ้าอยากให้ไม่อยาก มันจะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เลย ก็แค่ดูมันเฉยๆ รู้ทันมันเฉยๆ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแต่ไม่ไหลตามมัน เรียกว่ารู้ซื่อๆ มันก็จะไม่มาบงการจิตใจเรา ทำให้เกิดความเพี้ยนหรือว่าเกิดอาการเหวี่ยงวีน
11/23/2023 • 26 minutes, 35 seconds 25660921pm--ทำกิจด้วยจิตปล่อยวาง
21 ก.ย. 66 - ทำกิจด้วยจิตปล่อยวาง : คำว่าทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส ก็คือการทำกิจแล้วก็ทำจิต ทำเต็มที่คือขยันหมั่นเพียร ใส่ใจพิจารณาว่า อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ แต่ขณะเดียวกันใจก็ไม่ยึดติดถือมั่นกับผลสำเร็จ ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปชะเง้อมองอนาคตหรือผลที่มุ่งหวัง เพราะถ้าทำไปแต่ใจไปอยู่กับผลสำเร็จ หรือผลที่คาดหวัง มันทุกข์นะ
แม้แต่เพียงแค่เดินทางไปเที่ยวหลายคนก็ทุกข์แล้วเพราะว่าใจไปนึกแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึง ทั้งที่ไปเที่ยวแท้ๆ แต่ใจทุกข์แล้วเพราะว่าใจไปอยู่ที่เป้าหมาย พอใจอยู่ที่เป้าหมายนั้นก็จะมีความรู้สึกว่าเมื่อไรจะถึง สักที ทำดีหรือทำอะไรเพื่อส่วนรวม หรือแม้กระทั่งทำการงานส่วนตัว หากว่าจิตมันไปอยู่ที่เป้าหมายอยูที่ความสำเร็จ มันก็จะทุกข์นะว่าเมื่อไหร่จะถึง แต่พอถอนจิตออกจากเป้าหมายที่มุงหวัง มาอยู่กับปัจจุบัน ก็ทำได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์เรียกว่าทำได้เต็มที่แต่ไม่ซีเรียส จะเรียกว่าทำด้วยจิตปล่อยวางก็ได้ หรือทำด้วยใจที่อยู่กับปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นการทำกิจด้วยจิตปล่อยวาง มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และควรทำด้วย และนี่คือสิ่งที่ตรงกับคำสอนของพุทธศาสนาที่ท่านสอนให้ทำกิจแล้วก็ทำจิตไปพร้อมๆ กัน
11/22/2023 • 29 minutes, 18 seconds 25660920pm--ทำดีเป็นหน้าที่ของเรา
20 ก.ย. 66 - ทำดีเป็นหน้าที่ของเรา : เราต้องรู้จักแยกแยะนะ ใครทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา อย่าเอามาเป็นปัญหาของเรา หรืออย่าเอามาเป็นเครื่องกีดขวางการทำความดีของเรา ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นพ่อแม่ เป็นผู้มีพระคุณ เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ว่าเขาจะทำดีหรือไม่ มันเป็นเรื่องของเขา ส่วนหน้าที่ของเราคือทำความดีเท่าที่เราจะทำได้ เพราะความดีเป็นสิ่งที่ดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ใครทำคนนั้นก็ได้
เราไม่ควรจะทำดีเพียงเพราะว่าจะมีคนชื่นชมสรรเสริญ หรือเพียงเพราะว่าทำแล้วเขาจะเห็นความดีของเรา หรือทำแล้วเขาจะสำนึกในบุญคุณของเรา ถ้าเราทำดีโดยมีเงื่อนไข มันก็ไม่ใช่การทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าเราทำดีโดยที่ไม่สนว่าคนอื่นเขาจะว่าอย่างไร หรือไม่สนแม้กระทั่งว่าคนที่เราทำเขาจะมีกิริยาหรือพฤติกรรมอย่างไร
ตราบใดสิ่งที่เราทำมันเป็นความดี แล้วทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็ทำไปเถอะ แล้วอย่าทำให้พฤติกรรมของเขา มาเป็นเครื่องกีดขวางการทำดีของเรา พูดง่ายๆ คือว่า เขาทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ส่วนเราไม่สน เรายังทำดีต่อไปเรื่อยๆ
11/21/2023 • 27 minutes, 22 seconds 25660919pm--รักษาใจให้อยู่บนทางสายกลาง
19 ก.ย. 66 - รักษาใจให้อยู่บนทางสายกลาง : ที่ใจเป็นกลางได้เพราะอะไร เพราะว่ามีสติ สติจึงเป็นเหมือนกับยามที่รักษาใจไม่ให้ศัตรู หรืออารมณ์อกุศล และความทุกข์เข้ามาครอบงำทำร้ายจิตใจเราได้ ถ้าไม่ไปโรมรันพันตู ผลักไสอารมณ์พวกนี้ มันก็ไม่มีอำนาจเหนือใจเรา
ฉะนั้น การวางใจเป็นกลางต่ออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ภายนอก คือรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรืออารมณ์ภายในที่เรียกว่าธรรมารมณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีสติ มีความรู้สึกตัว
สติ ความรู้สึกตัวทำให้การรักษาใจให้เป็นกลางต่อสิ่งต่างๆ รวมทั้งให้อยู่ตรงกลางๆ ระหว่างนอกกับใน มันถึงเป็นไปได้ และช่วยทำให้ใจอยู่บนทางสายกลางได้ ไม่เผลอ แล้วก็ไม่เพ่ง ไม่ไหลไปตามกิเลส แล้วก็ไม่ไปต่อสู้ผลักไสกิเลส เป็นเรื่องเดียวกันหมดเลยนะ มันเชื่อมโยงกัน โดยมีสติ ความรู้สึกตัวเป็นตัวสำคัญ
เพราะฉะนั้น การเจริญสติจึงเป็นสิ่งสำคัญมากนะสำหรับการที่จะช่วยทำให้ใจเราอยู่บนทางสายกลาง ถ้าใจคนเราอยู่บนทางสายกลางแล้ว การมีชีวิตที่ดำเนินบนทางสายกลางก็เกิดขึ้นได้ง่าย และก็เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นการเจริญสติจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง
11/20/2023 • 25 minutes, 18 seconds 25660918pm--ขัดใจให้ใสสะอาด
19 ก.ย. 66 - ขัดใจให้ใสสะอาด : ขัดใจมันมี 2 ความหมายนะ ขัดใจที่เรามักจะได้ยินก็คือ ขัดใจแล้วมันก็เกิดความขุ่นมัว เกิดความหงุดหงิด อย่างแบบนี้เป็นทุกข์ เป็นโทษ แต่มันสามารถจะเอามาขัดใจเราให้ใสสะอาดได้ อย่างหลวงพ่อพุธเป็นตัวอย่าง เจอเด็กพูดจาหยาบคายแบบนั้น ในช่วงหนึ่งมันก็ขัดใจ เป็นสิ่งขัดใจท่าน ทำให้ท่านขุ่นมัว แต่ท่านก็เอามาใช้ขัดใจให้ใสสะอาด ด้วยการเอามาเป็นเครื่องฝึกใจ เตือนใจ ให้เห็นว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องจัดการอยู่
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่ขัดใจเราให้ขุ่นเคืองมันเป็นตัวกระตุ้นให้เราเห็นกิเลสที่บางครั้งก็ซุกซ่อนอยู่ การที่กิเลสผุดขึ้นมา เช่น ความโกรธ ความเกลียด มันก็มีประโยชน์เหมือนกันนะ ถ้าเรามองว่ามันคือการบ้านที่จะใช้ในการจัดการ เราจะไม่สามารถขัดใจให้สะอาดได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าใจมันหม่นหมอง ใจมันสกปรก
บางคนไปคิดว่าใจของเราสะอาดผ่องแผ้ว ทั้งๆ ที่กิเลสก็เคลือบหนาเลย แต่พอเจอเหตุการณ์บางอย่างกระทบแล้วทำให้กิเลสมันชูคอ มันปรากฏตัวขึ้นมา ข้อดีก็คือเราได้รู้ว่าเรายังมีการบ้านที่ต้องทำ กิเลสมันก็ฉลาดนะ บางทีมันก็ซุกซ่อนได้อย่างแนบเนียนมาก จนกระทั่งคนบางคนคิดว่าตัวเองปฏิบัติดีแล้ว บางทีคิดว่าตัวเองหลุดพ้นแล้วด้วยซ้ำ แต่ถ้ามีอะไรกระทบแล้วทำให้กิเลสมันโผล่ขึ้นมา มันก็ทำให้เรารู้ว่าเรายังเป็นปุถุชน หรือว่ายังมีการบ้านที่ต้องจัดการ เห็นจิตของตัวเอง มีความหม่นหมองที่จะต้องขัดให้มันใสสะอาด
11/19/2023 • 25 minutes, 30 seconds 25660917pm--อย่าหลงเชื่อลูกไม้ของกิเลส
17 ก.ย. 66 - อย่าหลงเชื่อลูกไม้ของกิเลส : การที่เราเห็นความไม่ดี หรือกิเลสในใจ ก็เป็นเรื่องดีนะ แต่ถ้าไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา จนเกิดความเข้าใจว่าเราเลว เราแย่ แสดงว่ายังดูไม่ถูก ยังมองไม่เป็น แต่ที่แย่คือมองไม่เห็นเลยนะ เห็นแต่ความดี เห็นแต่ความประเสริฐของเรา ไม่ใช่เห็นแค่ความดีเฉย ๆ แต่เห็นว่าเป็นเราด้วย ก็เลยเกิดการพอกพูนอัตตาหนาแน่นมากขึ้น เวลาทำอะไรผิดพลาด เวลาทำอะไรด้วยความเห็นแก่ตัวก็มีข้ออ้าง กิเลสมันสรรหาเหตุผลข้ออ้างให้เราเชื่อว่า เราดี มันเป็นกลไกปกป้องอัตตา เป็นกลไกปกป้องกิเลสแบบหนึ่งที่เราต้องระมัดระวัง
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามองตนจริง ๆ มันก็จะไม่ใช่ว่าไปหลงใหลหลงปลื้มในตัวเอง แต่จะมีท่าทีของการวิจารณ์ซึ่งช่วยทำให้เราได้รู้เท่าทันกิเลสมากขึ้น ยิ่งเห็นความโกรธ ยิ่งเห็นความโลภก็ยิ่งดี ทำให้รู้ว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
อย่างเช่นที่หลวงพ่อเทียนตอนที่ท่านเห็นความโกรธที่เกิดจากการทักท้วงของภรรยา มันทำให้ท่านเห็นเลยนะว่า ที่เราทำบุญ รักษาศีล มันยังไม่พอ เพราะทำแล้วยังมีความโกรธอยู่ อย่างนี้ต้องไปภาวนาให้หนัก แล้วก็ทำให้ท่านถึงกับเลิกทำการค้าขายเลย สะสางงานการเพื่อไปทุ่มเทให้กับการภาวนาโดยตรง ท่านบอกว่าแบบนี้มันจะดีกว่า
11/18/2023 • 28 minutes, 20 seconds 25660916pm--อย่าเอาทุกข์มาทำร้ายใจ
16 ก.ย. 66 - อย่าเอาทุกข์มาทำร้ายใจ : อารมณ์อกุศลนะ มันเกิดขึ้นจากการกระทบ แต่ไม่ใช่ว่ามันจะทำร้ายจิตใจเราได้ทันที ถ้าเรามีสติ ก็แค่เห็นมัน มันก็คงอยู่ตรงนั้นแหละ แต่เป็นเพราะเราเข้าไปจับ ไปฉวย ไปยึดมัน หรือที่หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า เป็นผู้เป็น มันจึงเกิดความทุกข์ เรามักจะเผลอไปจับไปฉวยอารมณ์อกุศล รวมทั้งความทรงจำที่เจ็บปวดนั้นมาทำร้ายจิตใจของเราอยู่เสมอ
แต่ถ้าเรามีสติ มีความรู้สึกตัว เราจะไม่ทำอย่างนั้นนะ แม้มันจะมีความคิดหรือความทรงจำบางอย่างประทับอยู่ในใจเรา แต่มันไม่อาจทำร้ายจิตใจเราได้ถ้ามีสติ อารมณ์อกุศลแม้เกิดขึ้นในใจก็ไม่ใช่ว่ามันจะทำร้ายจิตใจเราได้ทันทีนะ ถ้าหากว่าเราเห็นมัน หรือวางระยะห่างจากมัน
ก็เหมือนกับที่มีคนเปรียบว่า เรือมันไม่จมนะ เพราะน้ำที่อยู่รอบๆ เรือ มันจะจมก็ต่อเมื่อน้ำเข้าไปในเรือ ตราบใดที่ความคิดและอารมณ์ มันยังอยู่รอบนอกของใจ มันก็ไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์นะ แต่ถ้าเกิดว่าปล่อยให้มันเข้ามาในใจ มาทำร้ายจิตใจ นั่นแหละจึงจะเกิดทุกข์ และที่มันเข้ามาทำร้ายจิตใจได้เพราะไม่มีสติ สติเหมือนกับเป็นยามที่รักษาใจให้ปลอดภัย ไม่ให้อารมณ์อกุศลเข้ามาทำร้ายจิตใจ แต่ถ้าไม่มีสติเมื่อไร ก็เหมือนว่าไปคว้ามัน ใจก็ไปคว้ามันมาทำร้ายจิตใจตัวเอง แล้วก็เกิดความทุกข์เกิดความรุ่มร้อน เกิดความเจ็บปวด
ฉะนั้นในขณะที่เราพยายามหนีห่างความทุกข์ เราต้องระมัดระวังนะ อย่าไปคว้าเอาทุกข์มาใส่ตัว หรือไปคว้าเอาสิ่งเลวร้ายมาทำร้ายจิตใจของตัว แต่ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็จะทำอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป ไม่เพียงแต่ไปยุ่งเอาเรื่องของคนอื่น เอาความทุกข์ของคนอื่น เอาปัญหาของคนอื่นมาเป็นความทุกข์ของตัว แต่ยังเอาอารมณ์อกุศลต่าง ๆ มาทำร้ายจิตใจของตนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถจะเลี่ยงได้ ถ้าเรามีสติ มีความรู้สึกตัว
11/14/2023 • 27 minutes, 16 seconds 25660914pm--โลกเป็นอย่างไรอยู่ที่ใจเรา
14 ก.ย. 66 - โลกเป็นอย่างไรอยู่ที่ใจเรา : เราเลือกมองอะไรหรือรับรู้อะไร มันก็มีผลต่อใจของเรา ตื่นเช้าขึ้นมาถ้าหากว่าเอาใจมาอยู่กับลมหายใจหรือว่าสวดมนต์ จิตใจเราก็พลอยเป็นกุศล แต่ตื่นเช้าขึ้นมาเปิดดูโทรศัพท์มือถือ เปิดดูโซเชียลมีเดีย หรือว่าเปิดดูเรื่องราวที่มันแย่ๆ ในทางการเมือง จิตใจก็ห่อเหี่ยว ฉะนั้นการรับรู้มันก็มีผลต่อใจของเรา เราก็ต้องรู้จักรับรู้หรือเลือกรับรู้ เพื่อให้สิ่งที่รับรู้ที่เป็นสิ่งดีงามมันกล่อมเกลาใจเราให้ดีงามไปด้วย
แต่ถ้าเราฝึกสติมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ถ้าจิตใจเราปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน หรือมีความรู้ตัว แม้จะรับรู้สิ่งที่แย่ๆ แม้จะได้ยินคนตำหนิ ใจเราก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ก็ได้ มันไม่ใช่ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร ใจเราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น
บางทีโลกภายนอกมันแย่ หรือว่าเจอคำตำหนิคำต่อว่า แต่ถ้าใจเรามีสติ มันก็ไม่ได้แปลว่าใจเราก็จะหม่นหมองตามไปด้วย คนพูดไม่ดีกับเรา แต่ใจเราไม่ไปใส่ใจด้วย หรือมองเขาด้วยความเข้าอกเข้าใจ มันก็ไม่มีความโกรธความเกลียด อันนี้ก็อยู่ที่ใจเราว่าเราฝึกดีหรือเปล่า ถ้าใจเราฝึกดี ไม่ว่าสิ่งรอบตัวเราจะเป็นอย่างไร แม้จะเป็นลบ แต่ใจเราก็เป็นกลางได้
อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่การฝึกจิตฝึกใจของเรา รู้เท่าทันสิ่งที่รับรู้ รับรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง มันก็ทำให้ใจเป็นอิสระจากสิ่งเร้าไปได้ อย่างที่เคยเล่าว่าคนที่ฝึกปฏิบัติมา พอใจเขามีสติ มีความรู้สึกตัว จะเจอคนมาต่อว่าอย่างไร ใจเขาก็นิ่งได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องหงุดหงิดหัวเสียเมื่อได้ยินคำตอบว่าอย่างเดียว ใจเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อมภายนอกก็ได้เหมือนกัน
11/13/2023 • 31 minutes, 30 seconds 25660912pm--เจอสิ่งเร้า ใจไม่เอาด้วย
12 ก.ย. 66 - เจอสิ่งเร้า ใจไม่เอาด้วย : ความคิดซึ่งอาจจะเคยทำให้เราทุกข์ เพราะคิดลบคิดร้ายหรือชอบนึกถึงเรื่องเก่าๆ ทำให้เจ็บปวด บางคนบอกว่าคิดเมื่อไหร่ก็ทุกเมื่อนั้น มันไม่ใช่นะ คิดแล้วไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าหากว่ามีสติเห็นมัน มีความโกรธเกิดขึ้นแล้วไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้ามีสติเห็นมัน เห็นความโกรธ รู้ทันมัน นี่คือสิ่งที่เราจะพบได้จากการเจริญสติ นั่นคือการตระหนักว่า ไม่ว่าจะมีสิ่งกระทบหรือสิ่งเร้าจากภายนอกหรือภายใน แต่ใจเราไม่ทุกข์ก็ได้ เพราะเรามีสติเป็นเครื่องรักษาใจ
เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อควบคุมความคิด แต่เราปฏิบัติเพื่อไม่ให้ความคิดมาควบคุมเรา ถ้าเราปฏิบัติเพื่อควบคุมความคิด ก็จะพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด ฝึกจิตให้มั่นนิ่งเอาไว้ แต่ถ้าเราปฏิบัติเพื่อไม่ให้ความคิดมาควบคุมเรา ก็หมายความว่ามีความคิดเกิดขึ้นก็ได้ แต่มันทำอะไรเราไม่ได้ทำอะไรใจไม่ได้ เพราะใจมีสติเป็นเครื่องป้องกัน หน้าที่ของสติที่จะป้องกันใจไม่ให้ทุกข์ก็คือการรู้ทันเห็นมันได้ไวๆ จนกระทั่งไม่ปล่อยให้มันเข้ามาบงการจิตใจ
11/12/2023 • 26 minutes, 12 seconds 25660911pm--ถ้ารักตนก็อย่าเบียดเบียนตน
11 ก.ย. 66 - ถ้ารักตนก็อย่าเบียดเบียนตน : 'ประโยชน์ตน’ กับ ‘ความเห็นแก่ตัว’ มันต่างกันนะ ความเห็นแก่ตัวส่วนใหญ่มันจะคำนึงถึงความถูกใจ ส่วนประโยชน์ตนจะเป็นไปเพื่อความถูกต้อง
‘ถูกต้อง’ กับ ‘ถูกใจ’ มันต่างกันนะ ส่วนใหญ่เราสนใจหรือคำนึงแต่ความถูกใจ ที่อยากร่ำอยากรวย อยากมีโชคมีลาภ หรือว่าอยากกินของอร่อยโดยที่ไม่คำนึงถึงสุขภาพ หรือว่าติดเกม ติดการพนัน ติดเหล้าบุหรี่ พวกนี้มันล้วนแล้วแต่เป็นเพราะมุ่งแต่ความถูกใจ ถ้ามุ่งถึงความถูกต้อง สิ่งที่ว่ามาเราก็จะไม่สนใจ เพราะอะไร เพราะมันไม่ถูกต้อง เพราะมันเป็นเป็นโทษต่อสุขภาพ เพราะมันเป็นอันตรายต่อจิตใจ
ทำอะไรที่คำนึงถึงความถูกใจ ส่วนใหญ่มันก็เป็นไปเพื่อส่งเสริมกิเลสซึ่งทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว หนักขึ้น แต่ถ้าทำอะไรเพื่อความถูกต้อง มันก็จะไปก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายสุขภาพใจ ไม่ว่าจะเป็นการมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ฝืดเคือง ไม่ยากจน การทำอะไรเพื่อความถูกใจต่างหากที่มันทำลายประโยชน์ตนหรือเป็นการเบียดเบียนตน ซึ่งคนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจมองไม่เห็น
11/11/2023 • 29 minutes, 46 seconds 25660910pm--นึกถึงธรรมแม้ในยามสุข
10 ก.ย. 66 - นึกถึงธรรมแม้ในยามสุข : ในยามนี้ ธรรมะมันจะช่วยเราได้ ให้อยู่กับความทุกข์ ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ โดยเฉพาะถ้าเรายังมีสติ มีสติก็ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นกับกาย แต่ว่ามันจะช่วยรักษาใจ ไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้ป่วยไปด้วย มันช่วยให้เราสามารถจะรับมือกับทุกข์เวทนา ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้
และจะทำอย่างนั้นได้ มันต้องมาฝึก ต้องมาสะสม ต้องมาสร้างกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คือตั้งแต่ตอนที่ยังมีสุขภาพดี ตอนที่ยังมีกำลังวังชา ตอนที่บ้านเมืองยังปกติสุขอยู่ จึงบอกว่า เวลามันไม่ใช่แค่ในยามทุกข์เท่านั้นที่เราควรจะนึกถึงธรรม ในยามสุข หรือแม้กระทั่งในยามที่ชีวิตอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็ต้องนึกถึงธรรม
และนึกถึงอย่างเดียวไม่พอ ต้องปฏิบัติ อย่าไปเพลินกับความสำเร็จ หรือความปกติสุข จนกระทั่งลืม ตระหนักถึงความจริงว่า ไอ้สิ่งที่มีอยู่ มันเป็นของชั่วคราวเท่านั้นแหละ ดังนั้นหากเรานึกถึงธรรมะเอาไว้ มันจะทำให้เราเกิดความขวนขวาย เกิดความกระตือรือร้น และทำให้เราเร่งปฏิบัติธรรม ทำความเพียร ซึ่งมันจะให้ผลที่คุ้มค่ามาก วันนี้เรารักษาธรรมนะ ต่อไปธรรมก็จะรักษาเรา อันนี้คือสัจจธรรมความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
11/10/2023 • 26 minutes, 42 seconds 25660909pm--เข้าถึงสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุข
9 ก.ย. 66 - เข้าถึงสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุข : คนที่ขยันทำงาน มีความสุขกับการทำงาน เขาก็จะไม่ให้ความสำคัญกับเงินทองมาก การที่จะไปคอรัปชั่นเพื่อที่จะได้มีเงินไปซื้ออะไรมาปรนเปรอตนก็น้อย เพราะเขามีความสุขจากการทำงานอยู่แล้ว หรือความสุขจากการที่ได้ทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น มันก็ทำให้คลายความยึดติดในสิ่งเสพ ยิ่งความสุขจากสมาธิภาวนาหรือความสงบในใจนี้ มันก็ยิ่งทำให้หันหลังให้กับความสุขจากสิ่งเสพได้เลย
อย่างครูบาอาจารย์หรือว่าพระที่ท่านพบกับความสงบในจิตใจนี้ จากการทำกรรมฐาน นั้นเพียงแค่บริขาร 8 ท่านก็อยู่ได้อย่างมีความสุขนะ นั้นคนบางคนสงสัยทำไมพระอยู่ได้ยังไงนะ หลวงพ่อหลวงตาท่านไม่ได้มีอะไรเลยนะ แต่ทำไมท่านอยู่ได้ เพราะว่าท่านมีความสุขจากสมาธิภาวนา ใจก็เลยไม่ตกเป็นทาสของวัตถุสิ่งเสพ จิตใจมันปล่อยมันวางในวัตถุในทรัพย์เอง เพราะว่าได้พบสิ่งที่ประเสริฐกว่า
ฉะนั้นถ้าเราพยายามที่จะเข้าถึงความสุขที่ประณีต เริ่มจากความสุขจากการทำสิ่งที่ดี ใฝ่รู้ใฝ่ธรรม ขยันทำงาน มีความสุขกับการทำงาน มีฉันทะในการทำงาน อันนี้ก็ถือว่าเรามีของดีที่จะช่วยทำให้ใจเราเป็นอิสระจากวัตถุสิ่งเสพได้มากขึ้น
ยิ่งถ้าเราสามารถจะเข้าถึงความสงบภายใน สงบจากกิเลส สงบจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวนภายใน ก็ยิ่งทำให้วัตถุสิ่งเสพมันมีความหมายหรือแรงดึงดูดต่อจิตใจเราน้อยลง เราก็สามารถจะเป็นอิสระนะจากสิ่งเหล่านี้ได้ ความยึดติดถือมั่นในสิ่งนั้นก็จะค่อยๆ คลายไปเอง แม้จะยังมีอยู่ แต่ก็ไม่อยู่ในระดับที่จะเป็นพิษเป็นภัยหรือเป็นโทษต่อชีวิตจิตใจ
11/9/2023 • 28 minutes, 41 seconds 25660908pm--ฝึกจิตให้เป็นมิตรที่ประเสริฐ
8 ก.ย. 66 - ฝึกจิตให้เป็นมิตรที่ประเสริฐ : มันสุดแท้แต่ว่าเราจะฝึกจิตแบบไหน ถ้าเราฝึกไปในทางที่ดี จิตก็จะเป็นมิตรที่ประเสริฐที่สุดของเรา ถึงเวลาเกิดอุปสรรคเกิดความวิกฤตอะไรต่างๆ สติก็ดี ความรู้สึกตัวก็ดี เมตตาก็ดี มันก็จะเข้ามาช่วยรักษานะให้ผ่านพ้นจากวิกฤตได้
ฉะนั้นมันอยู่ที่การเลือกของเรา เราจะเลือกฝึกจิตให้เป็นมิตรที่ประเสริฐที่สุดของเรา หรือจะฝึกจิตให้เป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเราก็ได้ ฉะนั้นการที่เราฝึกสติ ถ้าเราฝึกสติบ่อยๆ สร้างความรู้สึกตัวบ่อยๆ แน่นอนเลยว่ามันจะช่วยทำให้จิตของเราเป็นจิตที่ประเสริฐ เป็นจิตที่พร้อมที่จะพาเราผ่านพ้นอุปสรรค ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม
การสวดมนต์บ่อยๆ การเจริญสติบ่อยๆ การทำความรู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆ พวกนี้ไม่มีคำว่าสูญเปล่า ไม่มีคำว่าไร้ประโยชน์ มันจะมีประโยชน์เกื้อกูลเราไม่วันนี้ก็วันหน้า เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราพยายามทำสิ่งนี้ซ้ำๆ กัน ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เราจะได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก
11/8/2023 • 28 minutes, 10 seconds 25660907pm--หาประโยชน์จากทุกข์ให้เจอ
7 ก.ย. 66 - หาประโยชน์จากทุกข์ให้เจอ : หลวงพ่อคำเขียนจึงบอกว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์” ซึ่งท่านเขียนไว้ในช่วงท้ายๆของชีวิต ทีแรกก็เห็นทุกข์ด้วยสติก่อน คือเห็นอารมณ์ที่มันทำให้ทุกข์ และยกจิตหรือพาจิตออกจากอารมณ์เหล่านั้น อันนี้เรียกว่าไม่เข้าไปเป็นผู้ทุกข์ เพราะเห็นทุกข์ เห็นอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์ แต่ต่อไปก็เห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหล่ะ อันนี้เป็นสัจธรรมที่ลึกซึ้งมาก เมื่อเห็นทุกอย่างเป็นตัวทุกข์ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นเหมือนของหนักที่แบกเมื่อไหร่ก็หนักเมื่อนั้น เป็นเหมือนของร้อนที่จับเมื่อไหร่ก็ลวกมือเมื่อนั้น เป็นเหมือนของแหลมที่ถูกเมื่อไหร่ก็เจ็บเมื่อนั้น
ฉะนั้นอย่างเดียวที่ควรทำคือ วางมันลงซะหรือไม่เกี่ยวข้องกับมันเกี่ยวข้องแบบไม่ยึด เรียกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น พวกนี้ทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ลองพิจารณาดูดีๆความทุกข์แม้ว่าเราจะยังไม่เห็นว่าทุกข์คือสัจธรรม แต่อย่างน้อยไม่ว่ามันจะเป็นความเจ็บความป่วย ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียพลัดพราก มันก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์รู้จัก ถ้าเรารู้จักหาประโยชน์จากมัน
11/8/2023 • 26 minutes, 55 seconds 25660906pm--รักษาใจในยามป่วย
6 ก.ย. 66 - รักษาใจในยามป่วย : พอเกิดทางความปวดทางกาย แล้วจิตมันโวยวายตีโพยตีพาย มันเกิดอาการต่อสู้ผลักไส ไม่ยอมรับ ตรงนี้คือตัวเพิ่มทุกข์ เป็นตัวซ้ำเติมความทุกข์ให้กับจิต แต่ถ้าเกิดว่าแม้เราจะไม่มีสติไวพอที่จะเห็นเวทนา ไปดูเวทนาทีไร มันเข้าไปเป็นผู้ปวดทุกที แต่ว่าสามารถที่จะเอาสติมาดูจิตได้ ดูจิตเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เห็นอาการที่ไม่ปกติของจิต ที่มันโวยวายตีโพยตีพาย เห็นอาการของจิตที่มันเกิดความหงุดหงิด
อาการพวกนี้พอมันถูกเห็นด้วยสติ มันก็จะสงบ มันก็จะกลับมาเป็นปกติขึ้นมา ที่เคยปฏิเสธไม่ยอมรับ ที่เคยผลักไส มันก็จะสงบ มันก็จะนิ่ง มันก็จะเป็นการทำให้ความทุกข์ของใจมันลดลง ก็คือมีสติมาเห็นจิต มีสติมาดูจิต แม้ว่าสติยังไม่ไวพอ แข็งแรงพอที่จะมาดูเวทนา
เรื่องพวกนี้พูดไปก็อาจจะเข้าใจยาก แต่ถ้าเราได้ลองทำดู ลองฝึกดู เวลามดกัดยุงกัด เวลาแดดเผา เราก็มาฝึกดูเวทนา หรือไม่ก็ฝึกดูจิต ดูอาการของจิตที่มันโวยวายตีโพยตีพาย ผลักไส ไม่ยอมรับ ไม่ไหวแล้วๆ มีสติเห็นจิตก่อน พอมีสติเห็นจิตได้ไว ต่อไปมันก็จะมีสติดูเวทนา แต่ก่อนก็เห็น ไม่เข้าไปเป็นผู้โกรธ ผู้หงุดหงิด ต่อไปมันก็จะเห็นความปวดแต่ไม่มีผู้ปวด อันนี้ก็ช่วยทำให้สามารถที่จะอยู่กับความปวดได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
11/5/2023 • 30 minutes, 47 seconds 25660905pm--เมินให้เป็นก็เย็นได้
5 ก.ย. 66 - เมินให้เป็นก็เย็นได้ : สติ ถือว่าเป็นเครื่องคุ้มกันจิต ไม่ให้ความคิดและอารมณ์เหล่านี้มาครอบงำ เราห้ามมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่แม้มันเกิดขึ้นแล้วมันทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ เพราะเรามีสติ มีความรู้สึกตัว หรือเรามีความรู้ตัว
ที่เรามาฝึกสติกันก็อย่างนี้แหละ เพื่อที่เราสามารถที่จะเมิน หรือว่าวางความคิดหรือและอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นอกุศล รวมทั้งเราสามารถที่จะเมินความพร่องความไม่สมบูรณ์ รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา มันเกิดขึ้นแต่ถ้าเราไปใส่ใจกับมันมาก เราก็ยิ่งทุกข์ เราไม่ใช่แค่ทุกข์กายแต่ทุกข์ใจด้วย
แล้วพอมีความเจ็บป่วยก็เกิดทุกข์ก็เวทนาขึ้นมา ทุกขเวทนานี้แหละคือสิ่งที่เราสามารถที่จะเมินมันได้เหมือนกัน อย่าไปจดจ่อใส่ใจกับมันมาก แต่ธรรมดาพอเกิดทุกขเวทนาความเจ็บความปวดเกิดขึ้น ยิ่งไม่ชอบยิ่งจดจ่อ ยิ่งไม่ชอบยิ่งจดจ่อ ความคิดลบคิดร้ายยิ่งไม่ชอบยิ่งผุดยิ่งโผล่
แล้วถ้าเรายิ่งปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง เช่นไปกดข่มมันเอาไว้ มันก็ยิ่งอาละวาดหนัก ความเจ็บความปวดที่เราพยายามผลักไสมัน มันยิ่งรบกวนรังควานจิตใจ แต่ถ้าเรารู้จักรู้ทันมัน เราก็สามารถที่จะเมินได้ วางมันลงได้
นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลย ศิลปะในการเมิน ในการไม่ใส่ใจ ไม่ว่าสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา หรือว่าสิ่งที่เกิดกับตัวเรา ร่างกายของเรา หรือสิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจ เราต้องรู้จักฉลาดในการเมิน หรือว่าสามารถที่จะมีศิลปะในการเมินสิ่งเหล่านี้ได้
11/4/2023 • 27 minutes, 21 seconds 25660904pm--เจอทุกข์แต่ใจสงบ
4 ก.ย. 66 - เจอทุกข์แต่ใจสงบ : ไม่ใช่แค่ฝึกจิตเพื่อจะให้พบกับความสงบและความสุข มันไม่พอ มันต้องฝึกเพื่อสามารถจะอยู่ความไม่สงบและความทุกข์ได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เพราะชีวิตของเรามันหนีเรื่องพวกนี้ไม่พ้น ความไม่สงบในจิต ความเจ็บปวดทางกาย ความสูญเสียความพลัดพราก พวกนี้เรียกว่าทุกข์หรือว่าอนิฏฐารมณ์ แต่ว่าเกิดขึ้นแล้วใจไม่ทุกข์ก็ได้ เพราะสามารถจะอยู่กับมันได้
ถ้าหากเราฝึกมาถึงตรงนี้ได้ ก็พอจะมีหลักประกันว่า เมื่อเจอความผันผวนปรวนแปรในชีวิตแล้ว เราก็จะไม่ทุกข์ไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากับกาย หรือกับความคิดและอารมณ์ภายใน ไม่ใช่ว่าเราคิดแต่จะหนีทุกข์ หวังแต่จะเจอความสงบอย่างเดียว ซึ่งมันไม่พอ เราต้องเจอความไม่สงบ เสียงดัง เจอคนรอบข้างทำตัวไม่น่ารัก เจอความเจ็บความป่วย เจอความสูญเสีย แล้วอยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ อันนี้จะเป็นการฝึกจิตขั้นที่สูงขึ้นไปอีก
ตราบใดที่เรายังฝึกจิตเพียงแค่ว่าหวังความสงบและความสุข ยังถือว่าไม่ดีพอ ไม่มีหลักประกันเพียงพอ เพราะความสงบหรือความสุขที่แม้จะบรรลุแต่มันก็ไม่เที่ยง และถ้ามันกลายเป็นความไม่สงบ กลายเป็นความทุกข์ ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือความทุกข์ ความคับแค้นใจ
11/3/2023 • 26 minutes, 36 seconds 25660903pm--อะไรที่เกิดขึ้นล้วนดีทั้งนั้น
3 ก.ย. 66 - อะไรที่เกิดขึ้นล้วนดีทั้งนั้น : ถ้าเรามองว่า เรามีหน้าที่ฝึกตนให้สมกับเป็นชาวพุทธ การที่เราจะมองอะไรว่า อะไรๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรา ดีทั้งนั้น ก็เป็นเรื่องง่าย คนที่มองว่าเรามีหน้าที่ฝึกตน ฝึกจากทุกอย่าง ทุกเหตุการณ์ ทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้น คนที่คิดแบบนี้จะมีข้อได้เปรียบก็คือว่า สามารถที่จะเรียนรู้จากทุกสิ่งได้ แม้จะเป็นสิ่งที่มันไม่ถูกใจเรา สามารถที่จะมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น คำต่อว่าด่าทอ รถติด หรือว่า ความเจ็บ ความป่วย ความแก่ชรา พวกนี้มันดีทั้งนั้น มันมาสอนธรรมให้กับเรา แม้ว่ามันจะทำให้เกิดทุกขเวทนา แต่มันก็เป็นแบบฝึกหัดให้กับใจเรา เพื่อยกจิตให้อยู่เหนือทุกขเวทนาก็ได้
คนเราถ้าคิดว่าชีวิตนี้มันเป็นไปไม่ใช่เพื่อหาความสบาย แต่เพื่อการฝึกฝนตน มันต่างกันมาก เพราะการเกิดมามีชีวิตเพื่อหาความสบายมันก็จะทนไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้แหละ แต่คนเราถ้าหากว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อฝึกฝนตน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ย่อมดีทั้งนั้นแม้มันจะเป็นอนิฏฐารมณ์ก็ตาม
11/2/2023 • 25 minutes, 5 seconds 25660902pm--อย่าเอาถูกเอาผิดจนลืมตัว
2 ก.ย. 66 - อย่าเอาถูกเอาผิดจนลืมตัว : พอยึดมั่นในความถูกต้องใครที่ไม่ถูกก็กลายเป็นคนละฝ่ายคนละพวก เกิดความโกรธ เกิดความเกลียดชังกัน ทั้งๆ ที่ก็เป็นสามีภรรยา เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก หรือเป็นเพื่อนก็สามารถจะเกลียดชังกันได้ เพราะว่าไปยึดมั่นถือมั่นในความถูกต้องจนกระทั่งเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าคนเราเวลามีการต่อว่ากัน เวลามีการโจมตีกัน อีกฝ่ายหนึ่งย่อมเกิดความรู้สึกเจ็บปวด แล้วก็ต้องตอบโต้ฉันปวดมากเท่าไหร่ ฉันต้องทำให้เธอปวดมากกว่านั้น อันนี้เป็นเพราะเกิดความลืมตัว พอลืมตัวแล้ว มันก็ลืมหมดว่าคนนี้เป็นเพื่อน คนนี้เป็นสามี คนนี้เป็นภรรยา คนนี้เป็นพ่อ คนนี้เป็นลูก มันลืมหมด
ที่ลืมตัวก็เพราะว่า สิ่งที่ตัวเองยึดมั่นเอาไว้ คือยึดว่าเป็นตัวกูของกูมันถูกกระทบ พอตัวกูถูกกระทบ อัตตาก็เข้ามาครองใจ แล้วเมื่ออัตตาเข้ามาครองใจ ก็ลืมหมดว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร ก็กลายเป็นว่าพอยึดมั่นในความถูกต้อง แทนที่จะเกิดความถูกต้อง มันจะเกิดความไม่ถูกต้องขึ้นมาในที่สุด
เพราะฉะนั้น ต้องตระหนักว่า การที่คนเราดำเนินชีวิตบนความถูกต้อง ดี แต่ว่าต้องระมัดระวังในการคาดหวัง หรือเรียกร้องความถูกต้องจากคนอื่น หรือจากสิ่งอื่น เพราะว่ามันสามารถทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
11/1/2023 • 25 minutes, 9 seconds 25660901pm--เรียนรู้ทุกครั้งที่เจอทุกข์
1 ก.ย. 66 - เรียนรู้ทุกครั้งที่เจอทุกข์ : ถ้าเกิดว่าเราได้คิดได้ตระหนักว่า ทำยังไงเมื่อเจอความทุกข์แล้วก็อย่าทุกข์ฟรี เมื่อเจอความกลัวก็อย่ากลัวฟรีๆ เมื่อเจอความโศกเศร้าก็อย่าโศกเศร้าฟรีๆ ให้เรียนรู้ว่ามันเกิดเพราะอะไร แล้วตรงนั้นแหละนะที่มันจะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา
อย่างที่บอก “เจอทุกข์ จึงจะเห็นธรรม” แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เจอทุกข์แล้วจะเห็นธรรมเสมอไป ส่วนน้อยที่เจอทุกข์แล้วเห็นธรรม ส่วนใหญ่เจอทุกข์แล้วก็คร่ำครวญ หลง เพราะไม่คิดที่จะใคร่ครวญ ทบทวนชีวิตจิตใจของตัว อันนี้ต่างหากคือสิ่งที่น่ากลัว
ถ้าเกิดว่าเราตระหนักเช่นนี้นี่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอความทุกข์ ก็ให้กลับมาตั้งสติ แล้วก็มาใคร่ครวญว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เพราะว่าความเจ็บปวดทุกครั้ง หรือความทุกข์แต่ละครั้งๆ มันสามารถจะให้บทเรียนแก่เราได้ ถ้าเรารู้ว่ามันทุกข์เพราะอะไร นี้คือเหตุผลที่พระพุทธเจ้าสอนเรา “เมื่อเจอทุกข์ ก็ให้รู้ทุกข์ ให้เห็นทุกข์ เพราะถ้ารู้ทุกข์ เห็นทุกข์ มันก็จะเห็นสมุทัย แล้วถ้าเห็นสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์แล้ว หนทางแห่งการพ้นทุกข์หรือดับทุกข์ก็เกิดขึ้นได้” นี่คือการเรียนรู้ที่สำคัญ
สรุปก็คือว่า อย่าไปกลัวทุกข์ อย่าไปหนีทุกข์ และพร้อมที่จะเรียนรู้จากทุกข์ อย่าทุกข์ฟรีๆ
10/31/2023 • 27 minutes, 2 seconds 25660831pm--ฝึกใจให้พร้อมรับความเจ็บป่วย
31 ส.ค. 66 - ฝึกใจให้พร้อมรับความเจ็บป่วย : เราก็จะสามารถที่จะเรียนรู้จากความเจ็บป่วยนี้ได้ แล้วก็จะมีความพร้อมมากขึ้นในการที่จะรับมือกับความเจ็บป่วยในวันหน้าซึ่งก็รักษาไม่หาย คนเราแม้ว่าจะเจอความเจ็บความป่วยมากมาย อาจจะรักษาหายได้ แต่สุดท้ายมันจะมีความเจ็บความป่วยชนิดหนึ่งที่รักษาไม่หาย แล้วก็ยืดเยื้อเรื้อรัง และสุดท้ายมันก็ทำให้เราหมดลม
ฉะนั้น ต้องเตรียมตัวรับมือกับพวกนี้เอาไว้ ด้วยการฝึกจิตใจอยู่เสมอ คาถาอาคมต่างๆ ที่เรียนมา หรือที่มาใช้ในการหาบริษัทบริวาร หรือแม้แต่อำนาจที่มีในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส เจ้าคุณ ก็ไม่ได้ช่วยเลย แต่ว่าธรรมะโดยเฉพาะสติ ความรู้สึกตัว สมาธิ ปัญญา มันจะช่วยเราได้คือ “ทุกข์กาย แต่ใจไม่ทุกข์” หรือว่า “มีทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์” แล้วพวกนี้มันต้องฝึก อย่าฟังแต่ธรรมะอย่างเดียว ไม่พอ อ่านธรรมะเท่าไรมันก็ไม่ช่วย จนกว่าจะได้ฝึก
และไม่ได้ฝึกจากอะไร ก็ฝึกจากความทุกข์นี่แหละ ฝึกจากสิ่งที่ไม่ถูกใจนี่แหละ ฝึกจากอนิฏฐารมณ์นี่แหละ ต้องฝึกจากสิ่งเหล่านี้เท่านั้น ใจเราจึงจะพร้อมในการที่จะรับมือกับความเจ็บป่วยและความผันผวนปรวนแปรในวันข้างหน้าได้
10/30/2023 • 28 minutes, 56 seconds 25660830pm--รู้ใจช่วยให้ชีวิตปลอดภัย
30 ส.ค. 66 - รู้ใจช่วยให้ชีวิตปลอดภัย : รู้จักเติมสุขให้ใจ มันเป็นประโยชน์ที่มีคุณค่ามาก และที่จริงก็เป็นประโยชน์แค่เสี้ยวเดียวของการ “รู้ใจ” เพราะถ้าเรารู้ใจไปเรื่อยๆ มันก็จะทำให้เราเข้าใจความจริงของใจ แล้วก็ทำให้เราสามารถจะไม่ไปยึดติดถือมั่นกับความคิดและอารมณ์ใดๆ ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่สำคัญมาก ซึ่งมันช่วยเสริมความรู้ที่เรียกว่าวิชาชีวิต เพราะในตัววิชาชีวิตมันไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติจากการสังเกตดูใจ มันจะไม่เห็นอย่างแจ่มแจ้งนะว่ามีประโยชน์อย่างไร และจะเอามาใช้กับชีวิตได้อย่างไร
แต่ถ้าเรามีความรู้ตัว แล้วก็หมั่นรู้ใจ สังเกตใจ มันก็จะมีความรู้ชนิดที่ว่าดูแลตัวให้อยู่รอด ไม่ได้อยู่รอดแบบมีชื่อมีเสียง แต่อยู่รอดปลอดภัยจากความทุกข์ที่เกิดจากความผันผวนปรวนแปรในชีวิต ความรู้อย่างนี้แหละสำคัญ ที่มันช่วยให้เรามีชีวิตที่ผาสุก มีชีวิตที่ดีงามได้ ถ้ามีความรู้แบบนี้ มันจะไม่เกิดปัญหาว่าความรู้ท่วมหัวออกตัวไม่รอด มันจะไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้เลย
10/29/2023 • 28 minutes, 15 seconds 25660823am--มองเป็นก็เห็นทางออกจากทุกข์
23 ส.ค. 66 - มองเป็นก็เห็นทางออกจากทุกข์ : อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนสอนให้รู้ซื่อๆ ไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม หรือแค่เห็นไม่เข้าไปเป็น มันก็ช่วยทำให้หาความทุกข์มันบรรเทาเบาบางลงได้ ไม่ใช่แค่ว่าความโกรธหายไป ความหงุดหงิดหายไปเมื่อมีสติ แต่แม้มันยังอยู่ แต่มันก็ทำอะไรจิตใจไม่ได้เพราะว่าแค่รู้ หรือเห็นมันเฉยๆ ไม่ผลักไส เมื่อไม่ผลักไสมัน มันก็ไม่สามารถมามีอำนาจครองใจเราได้
ฉะนั้นถ้าเราหมั่นมองตนอยู่เสมอ เราจะเห็นความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ได้ชัดเจน เราจะเห็นได้ละเอียดขึ้น เราจะไม่มองคลุมๆ การมองแบบพุทธคือการมองแบบละเอียด เห็นเป็นขั้นเป็นตอน เห็นอย่างประณีต ไม่ใช่เหมารวม ไม่ใช่มองคลุมๆ ถ้ามองคลุมๆก็จะบอกว่าที่เอามือปัดกางเกงเพราะมดกัด แต่ถ้ามองละเอียดก็จะพบว่ามันไม่ใช่ สาเหตุนั้นมันอยู่ที่ใจทั้งนั้นเลย ที่เรามาปฏิบัติก็เพื่ออันนี้
ถ้าเราปฏิบัติแล้วมองไม่เห็นว่าเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจ การปฏิบัติของเราก็แค่ผิวเผิน ปฏิบัติแค่ตามรูปแบบ หรือว่าการทำโดยไม่ได้เข้าใจอะไร แต่ถ้าเรามองเป็น เราก็จะเห็นเลยว่าเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจ แล้วก็วางใจให้ดี ปฏิบัติให้ถูก มีสติ ใจก็ไม่ทุกข์
10/23/2023 • 34 minutes, 53 seconds 25660822pm--หายหลงก็หมดทุกข์
22 ส.ค. 66 - หายหลงก็หมดทุกข์ : อันนี้แหละคือสิ่งที่ต่อมาหลวงพ่อได้สรุปว่า เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์ เห็นว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ มันก็พ้นทุกข์แล้ว เมื่อเห็นว่ามันเป็นทุกข์ หรือเป็นตัวทุกข์ จิตก็ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่าออกจากทุกข์ได้ เรียกว่าความหลง อันได้แก่ การไม่รู้ความจริง หรืออวิชชา มันหมดไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เริ่มต้นจากการที่สร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น เมื่อมีความรู้สึกตัว ความไม่รู้เนื้อรู้ตัวหรือความหลงขั้นพื้นฐานมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้
เรื่องการปฏิบัติของหลวงพ่อที่ท่านแนะนำ มันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เราใจสบาย เกิดความสงบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ที่จริงแล้วมันสามารถจะช่วยทำให้เราออกจากทุกข์ได้ ทีแรกออกจากทุกข์ชั่วครั้งชั่วคราวเพราะว่า ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ต่อไปมันก็จะเป็นการปล่อยวางไม่ใช่เฉพาะอารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้น แต่ปล่อยวางในสิ่งทั้งปวง ที่เรียกว่าขันธ์ 5 หรือสังขารทั้งหลาย ซึ่งนั่นแหละเป็นการออกจากทุกข์อย่างแท้จริง
10/8/2023 • 30 minutes, 59 seconds 25660821pm--ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์
21 ส.ค. 66 - ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "ไม่ทุกข์" : พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตร สัตว์เหล่านั้นจะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจได้
ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความแก่ ความป่วย ความตาย จริงๆแล้วมี แต่ไม่มีผู้แก่ ไม่มีผู้ป่วย ไม่มีผู้ตาย แล้วที่มีคือ มีความแก่ มีความป่วย มีความตาย อันนี้เรียกว่าพ้นจากความแก่ความป่วยความตาย ไม่ใช่ว่าไม่มีความแก่ความป่วยความตาย มี แต่ว่าไม่มีผู้แก่ผู้ป่วยผู้ตาย
ฉะนั้นจึงไม่มีความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจได้ ไม่ต้องรอให้ตายก่อน หรือว่าไม่ไปเกิดใหม่ ไม่ไปเกิดใหม่ก็ไม่มีความแก่ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากอีก แม้กระทั่งขณะที่ยังมีลมหายใจ แม้มีความป่วยก็ไม่มีผู้ป่วย แม้มีความแก่ก็ไม่มีผู้แก่ แม้มีความตายก็ไม่มีผู้ตาย
อันนี้เรียกว่า แม้ว่าเจอทุกข์แต่ว่าไม่มีผู้ทุกข์ เพราะว่าใจไม่ได้ทุกข์ด้วย แล้วนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการที่เราหันมาศึกษาเรียนรู้กายและใจ ชนิดที่ทำให้เกิดสติและปัญญาที่ทำให้เห็นสัจธรรมความจริง รวมทั้งเห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ว่ามันเป็นสักแต่ว่าอาการ ไม่ใช่เราที่เป็นผู้ทุกข์
10/7/2023 • 27 minutes, 16 seconds 25660819pm--อยู่อย่างไรใจไม่ทุกข์
19 ส.ค. 66 - อยู่อย่างไรใจไม่ทุกข์
10/6/2023 • 1 hour, 9 minutes, 11 seconds 25660817pm--เป็นอิสระจากคุกทางใจ
17 ส.ค. 66 - เป็นอิสระจากคุกทางใจ : อันนี้เรียกว่า แม้เจอคุกทางกาย แต่ใจสามารถจะเป็นอิสระได้ในระดับหนึ่ง เราก็ไม่รู้นะว่าเราจะติดคุกแบบนี้หรือเปล่า อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นโรคล็อกอินซินโดรม แต่อาจจะติดเจ็บป่วยนอนติดเตียงอยู่ในห้อง ICU อันนี้ คือสิ่งที่สามารถจะเกิดขึ้นได้กับผู้คนทั้งหลายในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะเวลาในวัยแก่ชรา เมื่อร่างกายกลายเป็นคุก ซึ่งหลายคนก็ทนไม่ได้ ปล่อยให้ใจจมอยู่ในคุกอีกชั้นหนึ่ง เกิดความกระสับกระส่าย ทุรนทุราย
แต่ถ้าหากว่ามีธรรมะ มีสติ รู้จักกรรมฐาน ก็สามารถที่จะปลดล็อคใจให้เป็นอิสระได้ แม้ว่ากายจะต้องติดเตียง มีพันธนาการ มีสายระโยงระยาง แต่ว่าใจก็ไม่ทุกข์ทรมาน เพราะใจเป็นอิสระ อันนี้เป็นการบ้านที่เราต้องตระหนัก แล้วก็ฝึกเอาไว้ เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะเจอแบบนี้หรือเปล่า วันที่ร่างกายกลายเป็นคุก แต่ถ้าเราฝึกใจไว้ดี ใจก็เป็นอิสระได้
10/5/2023 • 28 minutes, 18 seconds 25660816pm--อย่าให้ความคาดหวังบีบคั้นใจ
16 ส.ค. 66 - อย่าให้ความคาดหวังบีบคั้นใจ : เหมือนอย่างที่หลวงพ่อชาเคยพูดกับโยม โยมมาบอกว่าขอโทษที่เสียงดนตรีข้างนอกรบกวนการนั่งสมาธิของพระและโยมในศาลา หลวงพ่อบอกว่าโยม อย่าคิดว่าเสียงดนตรีรบกวนเรา เราต่างหากที่ไปรบกวนเสียงดนตรี หมายความว่าที่โยมรู้สึกหงุดหงิด เพราะว่าใจโยมไปทะเลาะกับเสียงดนตรี
เสียงดนตรีไม่ได้ทำอะไรเรา ถ้าแค่รู้ซื่อๆ รู้แล้ววาง รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง มันก็ไม่หงุดหงิด หรือถึงจะไม่รู้ทัน เกิดอารมณ์เสร็จแล้ว แต่ก็ยังไม่สายที่จะไปรู้ทันอารมณ์ เช่นความหงุดหงิด รู้แล้วก็วาง อารมณ์พวกนี้มันแพ้การถูกรู้ถูกเห็นด้วยสติ ถ้าไปรู้ไปเห็นมันด้วยสติเมื่อไหร่ มันฝ่อเลย
ฉะนั้นถ้าเกิดพ่อค้ารู้วิธีการฝึกสติ ก็สามารถที่จะรักษาใจให้สงบได้ แม้จะมีเสียงเด็กโหวกเหวกอยู่หน้าร้าน หรือแม้จะเผลอเกิดความหงุดหงิดไปแล้ว แต่ว่าก็วางมันได้เพราะรู้ทัน มีหลายคนทำได้นะ อย่าว่าแต่เสียงโหวกเหวกเลย เสียงเลื่อยยนต์ เสียงเคาะเสียงค้อนกระทบหู แต่ใจก็ยังสงบได้ เพราะว่าเขารู้วิธีการฝึกสติ รักษาใจแม้ว่าสิ่งรอบตัวจะเต็มไปด้วยสิ่งเร้าก็ตาม
ฉะนั้นถ้าเกิดพ่อค้าแกรู้จักวิธีการฝึกสติอย่างถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาทางหลอกล่อให้เด็กเขาเลิกเล่น ด้วยความผิดหวัง ด้วยความไม่พอใจ
10/4/2023 • 25 minutes, 13 seconds 25660815pm--จากสะอาด สงบ สู่สว่าง
15 ส.ค. 66 - จากสะอาด สงบ สู่สว่าง : แต่ก่อนมันก็ยึดมั่นในร่างกายนี้ ยึดมั่นแม้กระทั่งความคิดและอารมณ์ว่าเป็นของกูๆๆ ทั้งๆ ที่ไม่น่ายึด แต่นั่นเป็นเพราะความหลง ความไม่มีสติ แต่พอมีสติ มันก็จะเห็นเลยนะว่า นั่นไม่ใช่กู แล้วมันก็ไม่ใช่ของกูด้วย ก็จะทำให้คลายความคิดมั่นถือมั่น ขยายไปถึงสิ่งที่อยู่นอกตัว ไม่ใช่แค่รูปและนามที่คลายความยึดมั่น แต่ว่าสิ่งนอกตัวก็จะเห็นว่า มันไม่น่ายึด ไม่น่าถือ แต่สิ่งสำคัญก็คือตรงนี้แหละ ก็คือการคลายความยึดมั่นในตัวกู เวลาเห็นอะไรเกิดขึ้นกับกาย มันก็ไม่คิดว่าเป็นกู แต่มันเป็นเรื่องของกาย
ตอนที่อาจารย์กำพลเริ่มเจริญสติอยู่บนเตียง ท่านก็ไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากพลิกมือไป พลิกมือมา และหลวงคำเขียนก็สอนท่านทางจดหมายว่า ที่พลิกนี้คือรูป และความคิดที่เกิดขึ้นมันคือนาม สิ่งที่พลิกมันคือรูป สิ่งที่คิดมันคือนาม พอเจริญสติไปมากๆ เข้า ไม่เพียงจะรู้ทันความคิด แต่ยังเห็นไปอีกว่า เวลาพลิกไม่ใช่เราพลิกนะ มันคือรูปที่พลิก เวลาที่ความคิดเกิดขึ้นมันไม่ใช่เราคิดนะ มันคือนามที่คิด
พอพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เห็นเลยนะว่า ที่พิการนั้นไม่ใช่เราพิการนะ แต่มันเป็นแค่กายที่พิการ อาจารย์กำพลจึงได้เห็นความจริงที่เป็นพื้นฐานมากเลยนะ ที่พิการนั้นไม่ใช่เราพิการ หรือไม่ใช่กูพิการนะ แต่เป็นรูปที่พิการ มันไม่มีกูพิการด้วย อาจารย์กำพลบอกว่าตอนนั้นออกจากความทุกข์ได้เลยนะ ไปเผลอหลงคิดตั้งนานว่าเป็นเราที่พิการ ที่จริงไม่ใช่เราหรอก มันเป็นรูปที่พิการต่างหาก ไม่มีเราพิการ เพราะไม่มีเราตั้งแต่แรก มันมีแต่รูปกับนาม
10/3/2023 • 28 minutes, 29 seconds 25660814pm--รู้จักฉุกคิด ชีวิตเปลี่ยน
14 ส.ค. 66 - รู้จักฉุกคิด ชีวิตเปลี่ยน : ถ้าเราหมั่นสังเกต เราก็จะพบว่า ที่เรามีความทุกข์ไม่ได้เกิดจากรถติด แต่เกิดจากใจของเรา ถ้าเราวางใจไม่เป็นเราก็หงุดหงิด แต่ถ้าเราวางใจถูกหรือเราไม่สนใจ รถติดใจเราก็ไม่หงุดหงิด อยู่ที่ใจเรา เราต้องรู้จักตั้งคำถาม สังเกต รู้จักเอะใจ
คำว่าเอ๊ะ! มันสามารถที่จะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจของคนเราได้ เพราะมันจะทำให้เกิดการตั้งคำถามกับความเข้าใจเดิมๆ แล้วทำให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้ว การวางใจถ้าเราวางใจถูก หรือการที่เราเข้าใจสัจธรรมความจริง หรือการรู้จักตัวเอง ก็ช่วยทำให้เราทุกข์น้อยลง แล้วก้าวข้ามผ่านทุกข์ไปได้ ไม่จมอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ที่ครอบงำใจ
10/2/2023 • 27 minutes, 20 seconds 25660813pm--ถอนจิตจนเห็นความผิดปกติของใจ
13 ส.ค. 66 - ถอนจิตจนเห็นความผิดปกติของใจ : การถอนออกมาจากสิ่งที่คุ้นเคย ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราเห็นถึงความไม่เข้าท่า หรือว่าความผิดปกติของสิ่งที่เราเคยเห็นว่าเป็นธรรมดา ใครที่มีความทุกข์อาจจะไม่รู้ตัว หรือว่าไม่เคยรู้ว่ามันเกิดจากอะไร ก็คิดว่าฉันทำถูกแล้ว ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นพ่อเป็นลูก หรือว่าเป็นนักธุรกิจ หรือว่าเป็นใครก็ตาม พอถอนออกมาจากสิ่งที่คุ้นเคย จากวิถีชีวิต หรือจากสิ่งแวดล้อม มันจะเห็นเลยนะ เห็นปัญหา เห็นความประหลาด เห็นความพิกล
แต่ว่าถอนตัวมาจากสถานที่ที่คุ้นเคย จากชีวิตที่คุ้นเคยก็ยังไม่พอนะ มันต้องถอนใจออกมาจากอารมณ์ จากความคิดต่างๆ ที่เคยคลุกเคล้าด้วย มันจึงจะเห็นชัดเจน แล้วจะรู้ว่า เหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ไหน เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น แล้วก็จะรู้ว่าจริงๆ ความปกติคือ การที่จิตรู้สึกตัว การที่จิตนี่มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ แล้วถึงตอนนั้นมันก็จะทำให้ชีวิตกลับเข้าร่องเข้ารอย สู่ความปกติอย่างแท้จริง
10/1/2023 • 26 minutes, 34 seconds 12 ส.ค. 66 - ทำดีอย่ารีรอ : มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เมื่อถึงวาระสุดท้าย ใกล้ตาย รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำความดี เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะเพิ่งมาได้คิด คิดมานานแล้วแต่ว่าผัดผ่อนอยู่เรื่อย ผัดผ่อนจนกระทั่งสังขารมันไม่อำนวยแล้ว
แล้วนี่คือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ แต่ว่ารีรอผัดผ่อนอยู่เรื่อย ไม่ว่ากับบุพการีกับพ่อแม่ จนเขาด่วนจากไปเสียก่อน หรือไม่ก็กับคนอื่น จนกระทั่งตัวเองมีอันเป็นไปเสียเอง ไม่มีโอกาสได้ทำ ซึ่งจิตสุดท้ายก็มาหวนคิด เราไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ เช่น ขอขมาพ่อแม่ จะรู้สึกผิดติดค้างใจจนกระทั่งหมดลม อย่างนี้คงจะไปไม่ดีเลย
ฉะนั้น ความดีเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เท่านั้นไม่พอ ต้องรีบทำด้วย เพราะถ้าเราเอาแต่รีรอผัดผ่อน อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำเลยก็ได้
9/24/2023 • 29 minutes, 4 seconds 25660811pm--เปิดพื้นที่ให้กับสติในใจ
11 ส.ค. 66 - เปิดพื้นที่ให้กับสติในใจ : เดี๋ยวนี้นอกจากขาดเพื่อนแล้ว วัยรุ่นส่วนใหญ่ก็ว่าได้ ก็ไม่เป็นมิตรกับตัวเองด้วยซ้ำ ไม่มีเพื่อน ทั้งภายนอก แล้วก็ไม่มีใจที่เป็นมิตรกับตัวเอง เป็นเพราะว่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องของวัตถุ สิ่งเสพมากเกินไป จนกระทั่งข้างในกลวง ว้าเหว่ แต่ถ้าเกิดว่าหันมาให้ความสำคัญกับจิตใจ จนกระทั่งสามารถเป็นมิตรกับตัวเองได้ เรียกว่ามีใจเป็นมิตร มีจิตเป็นเพื่อน ความรู้สึกเหนื่อย ความรู้สึกล้าจนกระทั่งต้องอัดอั้น ระบายออกมา หรือจนกระทั่งบางคนถึงกับรู้สึกว่า ฉันอยู่ไม่ไหวแล้วฉันตายดีกว่า ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง
และที่สำคัญคือ ถ้าเกิดว่าคนเราสามารถจะทำให้ใจของเรามีที่ว่างให้กับสติบ้าง ก็จะช่วยได้เยอะเลย “สติสเปซ” เขาตั้งใจจะชักชวนให้สำนักงานต่างๆ มีที่ว่างสำหรับการเจริญสติ หรือสำหรับ การปลูกสติในใจ แต่ที่จริงแล้ว สติสเปซที่สำคัญ มันอยู่ข้างใน ถ้าทำใจของเราให้มันว่างพอที่จะมีสติมาสถิต มันจะช่วยทำให้ใจเป็นมิตรกับเรามากขึ้น เพราะว่าสตินี้แหละ มันจะช่วยรักษาใจไม่ให้ผิดเพี้ยน ไม่ให้ถูกครอบงำด้วยกิเลส
จิตถ้าหากว่าไม่มีสติกำกับ มันก็กลายเป็นโทษ กลายเป็นศัตรู สร้างความทุกข์ให้กับเราได้ สามารถจะเอาความทุกข์มาซ้ำเติมตัวเอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าใจเรามีที่ว่างให้กับสติ ใจมันก็จะกลายเป็นมิตร แล้วก็สามารถที่จะนำสิ่งดีๆ มาให้กับชีวิตของเราได้ ทำให้มีกำลังใจ มีเรี่ยวมีแรงที่จะทำสิ่งที่ดีงาม และปิดช่องไม่ให้ความทุกข์เข้ามาเล่นงานจิตใจ
9/23/2023 • 25 minutes, 58 seconds 25660810pm--อย่ามองข้ามธรรมขั้นพื้นฐาน
10 ส.ค. 66 - อย่ามองข้ามธรรมขั้นพื้นฐาน : แต่แม้กระทั่งความรู้สึกตัว คนจำนวนมากก็มองข้าม เห็นว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องพื้นๆ ฉันมีอยู่แล้วความรู้สึกตัว อยากจะมุ่งเรื่องฌานไปเลย เอาให้เข้าถึงฌาน ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ฌาน 4 ฉันจะเอาให้ได้ แต่ว่าไม่สนใจความรู้สึกตัว อันนี้ก็เรียกว่าข้ามขั้น
เหมือนกับการที่เราจะเรียนคณิตศาสตร์ชั้นสูงได้ มันก็ต้องรู้เรื่องเลขคณิตเบื้องต้นก่อน การที่คนเราจะมีความรู้สูงระดับด็อกเตอร์ อย่างน้อยมันต้องอ่านออกเขียนได้ แล้วก็รวมทั้งรู้เลขคณิตขั้นพื้นฐาน ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า 3Rs; Read, Write, Arithmetics คือถ้ามีพื้นฐานอย่างนี้ ก็สามารถจะมีความรู้ชั้นสูงต่อไปได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราจะบรรลุธรรมขั้นสูง ปรมัตถธรรมก็ดี นิพพานก็ดี หรือแม้แต่การเข้าใจเรื่องพระไตรลักษณ์ ก็ต้องไม่มองข้ามเรื่องของความรู้สึกตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานของจริยธรรม อันจะนำไปสู่การเข้าใจเรื่องสัจธรรม
ที่จริงแม้กระทั่งการบริโภคก็สำคัญเหมือนกัน มีบางคนบอกว่านิพพานก็อยากได้ แต่ว่ายังติดหนังเกาหลีซีรีย์ เลิกไม่ได้สักที อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ายังติดซีรีย์ละคร ติดซีรีย์โทรทัศน์ เรื่องนิพพานก็ไม่ต้องพูดถึง อันนี้ก็เป็นเรื่องของการรู้จักประมาณในการบริโภคเหมือนกันนะ ถ้าไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ยังเสพติด ยังพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่ากามสุข ประเภทที่เรียกว่าไม่รู้จักประมาณในการบริโภค แทนที่จะเสพวันละชั่วโมง เสพทั้งคืนเลย แล้วก็ยังเสพต่อไปเรื่อยๆ อย่างนี้ไม่ต้องพูดถึงนิพพานแล้ว
ฉะนั้น จะเข้าถึงนิพพานได้ หรือเข้าใกล้มันได้ ก็ต้องรู้จักละ หรือให้ความสำคัญกับธรรมะพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าตรัส รู้จักประมาณในการบริโภค
9/22/2023 • 26 minutes, 54 seconds 25660809pm--คาดหวังให้น้อย ยอมรับให้มาก
PS660809pm-คาดหวังให้น้อย ยอมรับให้มาก : ถ้าเรารู้จักยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ มันช่วยได้เยอะเลย ต่อไปเวลาเจอเหตุการณ์ที่ย่ำแย่ ที่ไม่ถูกใจหรือที่ทางพระเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ เจอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ เจอเหตุการณ์ในทางลบ เช่นเสื่อมลาภเสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย เราก็สามารถที่จะรักษาใจปกติได้ ไม่ซ้ำเติมตัวเอง เพราะยอมรับมันได้ เวลาเสียเงิน เสียทรัพย์ มันก็เสียแต่ทรัพย์แต่ใจไม่เสีย เพราะยอมรับมันได้ ไม่โวยวายตีโพยตีพาย ถึงเวลาเจ็บป่วย มันก็ป่วยแต่กาย แต่ใจไม่ป่วย เพราะยอมรับได้ ไม่ใช่ว่าโวยวายตีโพยตีพาย หรือคร่ำครวญว่าทำไมต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์ทำความดีมา ฉันอุตส่าห์สร้างบุญสร้างกุศลมา ทำไมต้องเป็นฉัน
เราจะไม่มีอาการแบบนี้ซึ่งเป็นการทำร้ายตัวเองหรือซ้ำเติมตัวเอง เพราะเรารู้จักยอมรับมันได้ จนถึงขั้นว่าปฏิบัติแล้วมันไม่สงบ ก็ยอมรับได้ ไม่โวยวาย บางทีปฏิบัติแล้วจิตเจ็บป่วยขึ้นมา เกิดความทุกข์ ทุกข์กายไม่พอ ทุกข์ใจ บางคนยอมรับไม่ได้ว่าทำไมฉันถึงทุกข์ใจอย่างนี้ อุตส่าห์ปฏิบัติมา ผิดหวังตัวเองที่ทำไมถึงมีความทุกข์อย่างนี้ เพราะยอมรับตัวเองไม่ได้ ยอมรับความเจ็บปวดทางกายไม่พอ ยอมรับความหงุดหงิดทางใจไม่ได้ เพราะว่าฉันอุตส่าห์ปฏิบัติมา ทำไมมันถึงช่วยฉันไม่ได้
ก็กลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะคนธรรมดาก็เจอแค่สองเด้ง คือยอมรับความทุกข์ทางกายไม่ได้ ก็เลยเกิดความทุกข์ทางใจ แต่นักปฏิบัติบางทียอมรับความทุกข์ทางใจไม่ได้ เพราะว่าอุตส่าห์ปฏิบัติมาตั้งนาน ทำไมฉันก็ยังโกรธอยู่ ทำไมฉันก็ยังหงุดหงิด ทำไมฉันยังทุกข์ทรมานอยู่ ก็กลายเป็นโทษตัวเอง โทษการปฏิบัติ หนักเข้าไปใหญ่
ฉะนั้นฝึกใจให้ยอมรับมันได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อันนี้เป็นวิชาสำคัญเลยนะ แล้วก็เป็นคุณูปการที่มีค่ามากที่เราจะได้จากการปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติได้ถูกต้อง หรือวางใจได้ถูกต้อง
9/21/2023 • 23 minutes, 41 seconds 25660808pm--ธรรมที่มีอุปการะต่อชีวิต
8 ส.ค. 66 - ธรรมที่มีอุปการะต่อชีวิต : เพราะฉะนั้นทำใหม่ๆ จึงควรเอาปริมาณเป็นหลัก อย่าเพิ่งเอาคุณภาพ บางคนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องทางโลก พอมาปฏิบัติธรรม พอเริ่มทำ ก็จะเอาคุณภาพเลย คือว่ามันต้องมีสติ ต้องมีความรู้สึกตัว ใจต้องสงบเลย ดังนั้นก็จะทำผิดทำพลาดได้
พอสติรู้ทันความคิด ลักษณะเด่นของการรู้ทันคือ มันจะรู้เฉยๆ โดยไม่ตัดสิน ไม่ทำอะไรกับความคิดนั้น ไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม การรู้ทันความคิดหรือรู้ใจ มันจะมีลักษณะเด่นคือรู้เฉยๆ ส่วนรู้กายมีลักษณะเด่นคือรู้ตัวทั่วพร้อม แต่ว่ารู้ใจ หรือรู้ความคิด รู้อารมณ์ ลักษณะเด่นของมันคือ รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่าหลายคนพอรู้แล้ว มันไม่เฉย จะเข้าไปบี้ ไปจัดการกับความคิดและอารมณ์ ฉะนั้น ต้องยั้งเอาไว้นะ แล้วก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ตัดสิน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง ไม่เป็นไรๆ ต้องใจเย็น
25660807pm--ทิ้งขยะในใจให้ฉับไว
7 ส.ค. 66 - ทิ้งขยะในใจให้ฉับไว : สิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเรารู้สึกตัวอยู่เปล่า หรือว่าใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวไหม ก็คือ มันรู้สึกไหมถึงการเคลื่อนไหวของกายเวลาสร้างจังหวะ เวลาเดินจงกรม ต่อไปมันจะรู้สึกละเอียดขึ้นๆ จนแม้กระทั่งกลืนน้ำลาย กระพริบตาก็รู้ แต่ใหม่ๆ มันยังไม่รู้หรอก อย่าว่าแต่กลืนน้ำลายเลย กระพริบตาหรือแม้กระทั่งลมหายใจก็ยังไม่รู้เลย เพราะมันละเอียด
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเทียนท่านก็เลยให้มารู้สึกกับการสร้างจังหวะ กับการเดินจงกรมก่อน มันเป็นความรู้สึกที่หยาบ รู้สึกชัด และถ้ารู้สึกเมื่อไรก็แสดงว่าใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันเป็นตัวบ่งชี้ และต่อไปเวลาใจมันลอย ทันทีที่มีความรู้สึกว่ามือกำลังเคลื่อนไหว เท้ากำลังเดิน ตัวขยับ ความรู้สึกนี้แหละที่มันจะไปสะกิดใจให้กลับมา ผละจากความคิด ทิ้งความคิดที่กำลังเพลิน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
ทีแรกต้องรู้สึกตัวก่อนจึงจะมารู้สึกกายเคลื่อนไหว แต่ต่อไปความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว นั่นแหละที่มันจะไปชักนำให้จิตกลับมารู้สึกตัว จากเดิมที่หลง จากเดิมที่ใจลอยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็จะกลับมารู้สึกตัว ลองสังเกตได้ พอเราเดินจงกรมสร้างจังหวะไป ใจลอยคิดไปเรื่องนู้นเรื่องนี้ อยู่ดีๆ มันรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว มันรู้สึกว่าตัวกำลังขยับ เท้ากำลังเขยื้อน ความรู้สึกนี้แหละที่มันจะไปทำให้จิตมันได้สติ แล้วกลับมา จากเดิมที่หลง จมอยู่ในความคิด มันได้สติแล้วกลับมา อยู่กับเนื้อกับตัวเลย
ความรู้สึกทางกาย มันเป็นตัวช่วยให้สติหลุดจากความคิด และต่อไปก็จะเห็นความคิดได้เร็ว แล้วก็ชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นการทำการเคลื่อนไหวด้วยกาย ไม่ว่าจะโดยการสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรม จึงมีประโยชน์ เป็นตัวช่วยในการเจริญสติ และยังทำให้สติคล่องแคล่วว่องไวจนกระทั่งมารู้ทันความคิด แล้วก็ฉลาดในการทิ้งขยะในใจได้อย่างรวดเร็ว
9/19/2023 • 27 minutes, 35 seconds 25660806pm--รักษาใจไม่ให้จมทุกข์
6 ส.ค. 66 - รักษาใจไม่ให้จมทุกข์ : การเจริญสติ เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เรารักษาใจห่างไกลจากความทุกข์ได้ เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น แต่ว่าใจไม่ทุกข์ก็ได้ หรือว่ามีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ สภาวะเช่นนี้เราทำได้ ก็ด้วยการฝึก ฝึกอะไร ฝึกสติ ทำความรู้สึกตัว ถ้าเรามีสติที่เข้มแข็ง มีสติที่พัฒนาแล้ว เราก็จะมีความไวเมื่ออารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเกิดเพราะ ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง หรือพูดง่ายๆคือ เจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ ที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์
เวลาเจออนิฏฐารมณ์ ปุถุชนอย่างเราก็ต้องเกิดความโกรธ เกิดความเศร้า เกิดความเกลียด เกิดความเครียด ความวิตก แต่ถ้าเรามีสติเห็นมัน มันเข้ามาทำร้ายใจเราไม่ได้ เหมือนกับเรือที่ไม่มีรูรั่ว ไม่มีรูรั่วน้ำจะเข้ามาได้อย่างไร ถ้าน้ำเข้ามาในเรือไม่ได้แล้ว เรือก็ไม่มีวันจม เรือกับน้ำก็อยู่ ด้วยกันได้
เช่นเดียวกัน ใจของเรากับอารมณ์อกุศลก็อยู่ด้วยกันได้ ถ้ามีสติเป็นเครื่องรักษา เพราะฉะนั้น การที่เรามาเจริญสติจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่คุ้มค่ากับการทุ่มเทแล้วยังช่วยทำให้เราสามารถอยู่กับความผันผวนปรวนแปรของโลกได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
9/18/2023 • 24 minutes, 59 seconds 25660805pm--ปลดทุกข์จากใจ
5 ส.ค. 66 - ปลดทุกข์จากใจ : เรามีวิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกได้ ถ้าเราเข้าใจ หรือว่ามีตัวช่วยที่จะทำให้เราสามารถจะปล่อยมันออกไปจากใจได้ แต่ถ้าเราฝึกสติ ฝึกความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เราก็ไม่ต้องรอให้อารมณ์มันท่วมท้นจนยากที่จะจัดการ เรามีสติไว เพียงแค่มันมีอารมณ์เกิดขึ้นเป็นประกาย หรือยังไม่โตเท่าไหร่ เราก็จะรู้ทัน แล้วก็วางมันลงได้ง่าย ส่วนใหญ่ไม่รู้ทัน ปล่อยให้มันลุกลาม เช่น ความหงุดหงิดกลายเป็นความโกรธ เหมือนกับประกายไฟที่มันกลายเป็นเพลิงที่เผาไหม้ป่า ตอนนี้ดับยาก
ฝึกเอาไว้นะ รู้ทันอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะคนทุกวันนี้ มีความเหนื่อย ความท้อ มีความเครียดสูงมากจากการทำงาน จนปล่อยให้ความรู้สึกนั้นมาทำร้ายจิตใจ บั่นทอนร่างกาย ถ้าเกิดว่าเรา หันกลับมามองใจอยู่เสมอในทุกโอกาส มันก็จะช่วยทำให้เราสามารถปลดเปลื้องความรู้สึกที่เป็นลบออกไปจากใจได้ง่ายขึ้น แล้วที่เขาทำสติสเปซก็เป็นโครงการที่น่าอนุโมทนา ใครที่สะดวกก็น่าจะหาโอกาสไปชมนิทรรศการนี้ แล้วมาลองใช้กับชีวิตประจำวันของตัวเองบ้าง
9/17/2023 • 26 minutes, 29 seconds 25660804pm--สิ่งดีๆที่ควรมอบให้กับชีวิต
4 ส.ค. 66 - สิ่งดีๆที่ควรมอบให้กับชีวิต : “ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น” ฝึกเอาไว้ มันเป็นหลักง่ายๆ ที่มีอานิสงส์มาก ยิ่งมาอยู่วัดแล้ว ปัจจัยก็เอื้ออำนวยให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพราะว่าถ้าอยู่บ้าน อยู่ข้างนอก มันก็จะมีสิ่งดึงจิตดึงใจออกไปจากเนื้อจากตัว ทำอะไรด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่พออยู่ที่นี่ มันก็มีปัจจัยมากมายที่เอื้อให้ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น สิ่งที่จะดึงจิตให้มันไหลออกไปนอกตัว มันมีน้อยลง มีสิ่งแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราเจริญสติ ทำความรู้สึกตัว เพราะมีเพื่อนทำกัน ทั้งในรูปแบบ และในชีวิตประจำวัน เป็นแบบอย่างให้กับเรา
ถ้าไม่ใช้โอกาสนี้เวลานี้ในการมอบสิ่งดีๆ ให้กับใจ คือ ความรู้สึกตัว หรือสติแล้วเนี่ย มันก็ไม่รู้ว่าจะหาโอกาสไหนอีกนะ แต่ถึงแม้ไม่ได้อยู่วัดก็ต้องพยายามเปิดโอกาส สร้างโอกาสให้กับชีวิตของตัวเอง อย่าคิดแต่จะใช้ชีวิตเต็มร้อย แต่ว่าไม่สามารถที่จะทำอะไรด้วยใจเต็มร้อยได้ อย่าคิดแต่จะเอาอะไรต่ออะไรมากมายจากชีวิต โดยที่ไม่คิดที่จะให้สิ่งดีๆ หรือความรู้สึกตัว สติ สมาธิ หรือกุศลธรรมให้กับจิตใจ
ต้องเตือนใจอยู่เสมอนะ ที่จะดูแลใจ หรือสร้างความรู้สึกตัวไม่ว่าทำอะไร ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็จะพยายามมีความรู้สึกตัว มีสติ กับสิ่งที่ทำ อยู่กับปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
9/16/2023 • 23 minutes, 56 seconds 25660803pm--อยู่สบายเพราะไม่หวังความสบาย
3 ส.ค. 66 - อยู่สบายเพราะไม่หวังความสบาย : ถ้ามาโดยไม่คาดหวังความสบายเลย ไม่ว่าจะเป็นความสบายจากที่นี่ หรือจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว มันก็จะสบายขึ้นมาเอง แต่เป็นเพราะความคาดหวังหรือความอยาก ตรงนี้แหละที่มันทำให้เราทุกข์ง่าย พอคาดหวังแล้ว มันก็อยากจะได้เห็นอย่างที่หวัง พอไม่ได้อย่างที่หวัง มันก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา ละความอยากเสียได้ ละความหวังเสียได้มันก็สบายขึ้นมาเอง
เหมือนกับเจริญสติ ถ้าไม่หวังความสงบมันก็สงบได้ง่าย แต่พอหวังความสงบแล้วมันกลับสงบได้ยาก เพราะว่ามันจะหงุดหงิดขัดเคืองใจไปหมด มีความคิดเกิดขึ้นก็รำคาญ มีความคิดเกิดขึ้นก็หงุดหงิด ก็ไปผลักไสมัน มันก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น และที่ผลักไสกดข่มมันเพราะอะไร เพราะอยากจะสงบ แต่พอไม่อยากสงบแล้ว มันก็ยอมรับอะไรต่ออะไรได้ ฟุ้งก็ยอมรับได้ มีความคิดเกิดขึ้นก็ยอมรับได้ พอยอมรับได้ ใจมันก็สงบเอง
เรามาที่นี่ก็ตั้งจิตถามใจตัวเองว่าเรามาเพื่ออะไร เพื่อหวังความสบาย หวังความสงบ หรือเพื่อมาฝึก ถ้าคิดว่ามาที่นี่เพื่อฝึก ก็จะได้ประโยชน์เต็มที่จากการมา
25660802pm--อยู่ร่วมกันด้วยความหนักแน่น
2 ส.ค. 66 (เย็น) - อยู่ร่วมกันด้วยความหนักแน่น : ถ้าเกิดว่าเราปากหนัก หูหนัก แล้วก็ใจหนักแน่น ถือว่าเราได้ฝึกวิชาที่สำคัญเลยนะ แล้วมันไม่ได้เป็นประโยชน์ตนอย่างเดียว เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย ทำให้ชุมชนอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น ราบรื่นนี่ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีการกระทบกัน มี แต่ว่าสามารถที่จะรับมือ ไม่ได้คิดแต่จะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น แต่ว่าเปลี่ยนแปลงจากกลางใจของตัวเอง
ที่โบราณเขาว่า อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา ต้องระลึกนึกถึงไว้เสมอ เมื่อเราอยู่คนเดียว เราก็ให้มีสติรู้ทันความคิด สามารถอยู่กับตัวเองได้โดยที่ไม่ถูกความคิดรบกวนรังควาญ อยู่กับคนอื่นก็อยู่ได้ ไม่เป็นทุกข์เพราะวาจาของตนหรือวาจาของคนอื่น หรือว่าการที่เจอกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ
9/14/2023 • 29 minutes, 10 seconds 25660802am--ตั้งใจทำดีในพรรษา
2 ส.ค. 66 (เช้า) - ตั้งใจทำดีในพรรษา : เพราะฉะนั้นการเข้าโอกาสเข้าพรรษาเป็นโอกาสที่เราจะบำเพ็ญบารมี อธิษฐานมันก็เป็นบารมีข้อหนึ่ง ถ้าเราอธิษฐานถูกต้อง บารมีหรือคุณความดีในตัวเราก็จะเพิ่มพูนขึ้น ทำให้เรามีกำลังแกร่งกล้าในการเอาชนะกิเลส และการทำความดีที่ยากขึ้นไปได้เรื่อยๆ มันคงไม่มีโอกาสใดที่จะเหมาะสำหรับการทำความเพียรเท่ากับช่วงเข้าพรรษา เพราะว่าใครๆเขาก็ทำกัน เรียกว่ามีเพื่อน ถึงแม้จะไม่ใช่พระ แต่เราก็ควรทำด้วยแม้ว่าเป็นฆราวาส
และนอกจากใครๆเขาก็ทำกันทั้งประเทศ แล้วมันยังเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานต่อเนื่อง 3 เดือน ถ้าตั้งใจทำจริงจังก็จะเห็นผลได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลิกกินเหล้า งดกินกาแฟ หรือว่างดใช้โซเชียลมีเดีย หรือว่าใช้น้อยลงแค่วันละชั่วโมง หรือว่ารักษาศีล 5 ให้ครบ หรือว่างดช็อปปิ้งหรือว่าช้อปแค่เดือนละครั้ง ถ้าทำ 3 เดือนต่อเนื่อง เห็นผลแน่นอน แล้วต่อไปก็จะมีกำลังในการที่จะทำให้ได้ยิ่งขึ้นๆไป
9/13/2023 • 21 minutes, 15 seconds 25660805pm--ปลดทุกข์จากใจ
5 ส.ค. 66 - ปลดทุกข์จากใจ : เรามีวิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกได้ ถ้าเราเข้าใจ หรือว่ามีตัวช่วยที่จะทำให้เราสามารถจะปล่อยมันออกไปจากใจได้ แต่ถ้าเราฝึกสติ ฝึกความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เราก็ไม่ต้องรอให้อารมณ์มันท่วมท้นจนยากที่จะจัดการ เรามีสติไว เพียงแค่มันมีอารมณ์เกิดขึ้นเป็นประกาย หรือยังไม่โตเท่าไหร่ เราก็จะรู้ทัน แล้วก็วางมันลงได้ง่าย ส่วนใหญ่ไม่รู้ทัน ปล่อยให้มันลุกลาม เช่น ความหงุดหงิดกลายเป็นความโกรธ เหมือนกับประกายไฟที่มันกลายเป็นเพลิงที่เผาไหม้ป่า ตอนนี้ดับยาก
ฝึกเอาไว้นะ รู้ทันอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะคนทุกวันนี้ มีความเหนื่อย ความท้อ มีความเครียดสูงมากจากการทำงาน จนปล่อยให้ความรู้สึกนั้นมาทำร้ายจิตใจ บั่นทอนร่างกาย ถ้าเกิดว่าเรา หันกลับมามองใจอยู่เสมอในทุกโอกาส มันก็จะช่วยทำให้เราสามารถปลดเปลื้องความรู้สึกที่เป็นลบออกไปจากใจได้ง่ายขึ้น แล้วที่เขาทำสติสเปซก็เป็นโครงการที่น่าอนุโมทนา ใครที่สะดวกก็น่าจะหาโอกาสไปชมนิทรรศการนี้ แล้วมาลองใช้กับชีวิตประจำวันของตัวเองบ้าง
9/12/2023 • 26 minutes, 29 seconds 25660801pm--ทางสายกลางคือทางเดินของชีวิต
1 ส.ค. 66 - ทางสายกลางคือทางเดินของชีวิต : ชาวพุทธจำนวนมากก็เหมือนกัน รู้อริยสัจ 4 เยอะแต่ว่าเอาเข้าจริงๆ ไม่เข้าใจ หรือไม่ตระหนักว่าสมุทัยหรือเหตุผลที่แท้จริง โดยเฉพาะความทุกข์ใจมีเหตุจากอะไร แล้วก็คิดแต่จะไปแก้ไขสิ่งภายนอก แต่ว่าลืมจัดกาที่ใจของตัว เพราะฉะนั้นอริยสัจ 4 ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ มันไม่ใช่หญ้าปากคอก แต่เป็นสิ่งที่ต้องนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง แล้วจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องรู้จักฝึกจิตให้รู้ทุกข์ ให้เป็น ด้วยการหันมามองที่ใจของตน รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ แล้วมันก็จะเห็นเลยว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจมีรากเหง้าสาเหตุมาจากความอยาก ความยึด หรือว่าการวางจิตวางใจของเราที่ไม่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ปฐมเทศนาก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ แม้พระพุทธองค์จะตรัสสอนมา 2,600 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังมีความหมาย เราจะมาเวียนเทียนหรือไม่ หรือว่าจะรู้ความหมายของวันอาสาฬหบูชาหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราเข้าใจอริยสัจ 4 และปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะกิจในอริยสัจ 4 ทุกข์เป็นสิ่งต้องรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ นี่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นได้เพราะว่าทำให้มรรคเจริญงอกงามก็คือปฏิบัตินั่นเอง
ในวันอาสาฬหบูชานี้ก็ขอให้เราได้เข้าใจสาระที่แท้ของปฐมเทศนาโดยเฉพาะอริยสัจ 4 แล้วก็ดูแลใจของตัวไม่ให้ถลำไปสู่ทางสุดโต่ง สอง ทาง ประคองใจให้อยู่บนทางสายกลางให้ถูกต้อง แล้วก็หวังว่าการมาศึกษาธรรมของเราในวันอาสาฬหบูชาจะช่วยทำให้เกิดปัญญาในใจของเรา ให้เข้าใจเรื่องกิจญาณ กิจที่พึงทำต่ออริยสัจ จนกระทั่งเกิดกตญาณ คือความรู้ว่าได้ทำสำเร็จแล้ว เพื่อให้ได้เข้าถึงความสิ้นทุกข์โดยถ้วนหน้ากัน
9/12/2023 • 40 minutes, 52 seconds 25660729pm--ยอมรับทุกอย่าง ไม่ผลักไสสิ่งใด
29 ก.ค. 66 - ยอมรับทุกอย่าง ไม่ผลักไสสิ่งใด : การปฏิบัติต้องฝึกให้เรายอมรับทุกสิ่ง ไม่ว่าอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ แล้วถ้าคุณทำได้เรียกว่า ใจจะมีอิสระจากความทุกข์ได้ง่ายขึ้น แต่คนไม่เข้าใจว่า ปฏิบัติคือการยอมรับทุกสิ่ง แต่ถ้ายอมรับได้มันสุขมาก นี่คือเหตุที่ไรน์โฮลด์ นีเบอร์ภาวนาว่า ขอให้ข้าพเจ้ามีความสงบใจที่จะยอมรับทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้
แต่อาตมาคิดว่าต้องทำมากกว่านั้น แม้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้ไม่ถูกใจก็ต้องยอมรับ คนเปิดโทรศัพท์ทิ้งไว้แล้วส่งเสียงดังริงโทน เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็ไปบอกเขาให้หยุด แต่ในขณะที่เสียงยังดังอยู่ก็ยอมรับมันได้ แล้วถ้าหากว่าเราตระหนักว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เรายอมรับได้ รถติดก็ไม่หงุดหงิด ถ้าเรายอมรับได้ เราก็ไม่ทุกข์ เพื่อนผิดนัด เพื่อนมาช้ามาสาย เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ต้องรอเพื่อนอย่างเดียว ก็รอด้วยใจสงบ
ถึงเวลาเจอความทุกข์ ความเจ็บปวด ความสูญเสีย เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เขาตายไปแล้ว แต่เราก็ยอมรับได้ ใจสงบ ถึงเวลาเราจะต้องตายเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ยอมรับมันได้ ใจก็สงบ ฉะนั้นลองฝึกเอาไว้ หลักข้อแรกของแฟรงค์ สำคัญมากไม่ใช่เฉพาะกับผู้ป่วยระยะท้าย แต่กับการดำเนินชีวิต กับการทำงานทุกอย่าง
9/11/2023 • 55 minutes, 18 seconds 25660724pm--เป็นอยู่อย่างประเสริฐ
24 ก.ค. 66 - เป็นอยู่อย่างประเสริฐ : ถ้าเราฝึกจิต ปฏิบัติธรรมในฐานะผู้ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา เราจะได้ประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าดีหรือร้าย เราจะได้ประโยชน์จากทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล ไม่ว่าอาการของใจมันจะฟูหรือแฟบ มันก็ให้ประโยชน์กับเราในการให้ความรู้เกี่ยวกับสัจธรรมของกายและใจ ให้แก่เรา
แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมชนิดที่แสวงหาความสงบบางทีมันทำให้เราตกหลุม เพราะว่าพอเราเจอสิ่งกระทบต่างๆ ที่ไม่ถูกใจ เราก็จะโวยวายตีโพยตีพาย หรือเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที แต่ไม่รู้จักหาประโยชน์จากมัน ในทางตรงข้ามถ้าเราปฏิบัติ ฝึกจิตอย่างผู้ใฝ่รู้ อย่างนักศึกษา หรือว่าเอาสติเป็นเครื่องมือในการศึกษา เราจะได้ประโยชน์มากเลย ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของเราก็ตาม
เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติธรรม ถ้าเราปรับใจให้เป็นผู้ใฝ่รู้ หรืออย่างน้อยก็หมั่นมองตน และคิดอยู่เสมอว่า เมื่อมีทุกข์เราก็จะแก้ที่ตน ไม่คิดไปเรียกร้องให้คนอื่นแก้ไขให้มันถูกใจเรา เราก็จะได้ประโยชน์จากการปฏิบัติ จากธรรมะ
9/3/2023 • 27 minutes, 46 seconds 25660723pm--เจอทุกข์จึงเปิดรับธรรม
23 ก.ค. 66 - เจอทุกข์จึงเปิดรับธรรม : คนที่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ หรือใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ากลับกลายเป้นคนที่สอนยาก อันนี้เราก็เห็น ไม่ใช่มีแต่พระฉันนะเท่านั้น พระที่โกสัมพีที่เคยทะเลาะกันโดยไม่ฟังคำทัดทานของพระพุทธเจ้าเลย จนพระองค์ต้องประท้วงด้วยการเสด็จออกไปปลีกวิเวกที่วัดป่าเลไลย์นี่ก็เหมือนกัน พวกนี้ถือว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าทัดทาน ไม่ฟัง ในขณะที่ญาติโยมหรือว่าพระที่อยู่ไกลนี่ยังฟังมากกว่า
ที่จริงแม้กระทั่งการใกล้ชิดธรรมะมันก็มีข้อเสียเหมือนกัน บางทีใกล้ชิดธรรมะมาก ได้ยินได้ฟังธรรมะทุกวันๆๆ กลับปรากฏว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะว่าฟังจนชิน เห็นว่าธรรมะเป็นหญ้าปากคอก หรือว่าอาจจะเกิดอาการด้านชา แต่บางคนเป็นคนห่างไกลธรรมะ ห่างไกลวัด พอได้ฟังธรรมะไม่กี่ประโยค จิตเปลี่ยนเลย
พวกเราก็ต้องระวังนะ ฟังธรรมะทุกวันๆ อยู่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ แล้วก็อยู่ในวัด บางทีอยู่ไปๆ อาจจะเกิดอาการที่เรียกด้าน หรือชาขึ้นมา ไม่เกิดความตื่นตัวในการปฏิบัติ หรือถึงแม้จะไม่ได้อยู่วัด แต่ว่าฟังธรรมะทุกวันๆๆ ฟังจนบางทีท่องได้แต่ว่านิสัยเหมือนเดิม เพราะว่าฟังจนชินเลยไม่มีอะไรที่จะสะดุดใจ พอไม่มีอะไรสะดุดใจก็เลยขาดการตื่นตัว ยิ่งไปเข้าใจว่าตัวเองรู้ธรรมะแล้ว ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พอรู้ธรรมะเพราะฟังเยอะอ่านเยอะ ก็เลยเกิดความประมาท
เพราะฉะนั้น การที่ใกล้ชิดกับธรรมะ หรือใกล้ชิดครูบาอาจารย์มันก็ไม่ใช่ว่าดีเสมอไป มันก็ทำให้เกิดความประมาทขึ้นมาได้
9/2/2023 • 27 minutes, 20 seconds 25660722pm--โจทย์สำคัญของชีวิต
22 ก.ค. 66 - โจทย์สำคัญของชีวิต : คนเราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพระโสดาบันถึงจะยอมรับได้ด้วยใจสงบ คนที่ฝึกมา เข้าใจความจริงของชีวิตก็จะยอมรับได้ง่าย ทั้งยอมรับด้วยหัวหรือเหตุผล แล้วก็ยอมรับด้วยใจ เพราะมีปัญญาเห็นความจริงของชีวิต ของโลก เป็นเช่นนั้นเอง แต่ถ้ายังไม่มีปัญญา อย่างน้อยก็ยังมีช่องทางให้เรายอมรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ก็คือการมีสติ โดยเฉพาะสัมมาสติที่ทำให้เราเห็น ไม่เข้าไปเป็น
เมื่อมีความสูญเสีย มีความเศร้าโศกเกิดขึ้น ก็เห็น ไม่เข้าไปเป็น เมื่อมีความคับแค้นเกิดขึ้น โกรธ ก็เห็นไม่เข้าไปเป็น แล้วก็รู้ที่จะทำใจ วางใจเป็นกลาง อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านใช้คำว่ารู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ นี่เป็นวิชาที่สำคัญมากสำหรับปุถุชน เพราะมันทำให้เราสามารถยอมรับสิ่งต่างๆ ได้ด้วยใจสงบ ทีแรกก็ยอมรับความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง เพราะว่าไม่ผลักไส ไม่กดข่มมัน พอยอมรับอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในใจได้ ต่อไปมันก็จะยอมรับเหตุการณ์ หรือสิ่งที่มากระทบใจได้
จริงๆ แล้วการยอมรับด้วยใจสงบ มันไม่ควรจะใช้กับเฉพาะสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้กระทั่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่ามันไม่ถูกใจเรา เราก็ควรจะฝึกให้ยอมรับได้ ของบางอย่าง ปัญหาบางอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตราบใดที่มันยังไม่เปลี่ยนแปลง เราก็ยังสามารถที่จะรักษาใจให้สงบได้ อย่างเช่นเสียงดังจากเพื่อนบ้าน ที่จริงก็เปลี่ยนแปลงได้ ไปบอกให้เขาหยุดส่งเสียง หรือเสียงหมาเห่า เราก็เปลี่ยนแปลงได้ ลงไปแล้วก็ไปสั่งให้มันหยุดเห่า ถ้ามันเชื่อง แต่ระหว่างที่มันยังไม่หยุดเห่า ระหว่างที่ยังมีเสียงจากเพื่อนบ้าน ตราบใดที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ เราก็สามารถฝึกใจให้ยอมรับด้วยใจสงบได้
9/1/2023 • 26 minutes, 54 seconds 25660721pm--อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
21 ก.ค. 66 - อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก : แล้วถ้าเรายอมรับความคิดที่เกิดขึ้นไม่ได้ ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ การที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบทางตาทางหู มันก็เป็นเรื่องยาก ก็จะรู้สึกว่าอะไรมันขวางหูขวางตาไปหมด อะไรมันก็ขัดหูขัดใจไปหมด เสียงดังบ้าง คนพูดคุยกันบ้าง หรือว่าอากาศร้อนบ้าง หงุดหงิดกันใหญ่ เพราะว่าไม่สามารถจะทำใจให้ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน อาจจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งกระทบจากภายนอกยังไม่ได้
แต่อย่างน้อยถ้าฝึกให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน เช่นความคิดและอารมณ์ เช่นความหงุดหงิด ความรำคาญ แล้วก็แค่รู้เฉยๆ แค่ดูมันเฉยๆ รู้เฉยๆ นี่เป็นสิ่งที่จะเรียกว่ายากสำหรับนักปฏิบัติ การปฏิบัติถ้าจะว่ายากก็ตรงนี้แหละ ก็คือรู้เฉยๆ เพราะว่าเวลารู้แล้วมันไม่ยอมเฉย มันจะเข้าไปจัดการ เพราะมันเป็นนิสัยความเคยชินเดิมๆ ที่จะต้องเข้าไปจัดการกับความคิดและอารมณ์ต่างๆ
แต่ถ้าเราฝึกที่จะยอมรับมันได้ มันจะเกิดขึ้นก็แค่รู้มัน แล้วจากรู้ก็จะพัฒนา รู้ทันก็เป็นการรู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ปฏิบัติมาบางทีหลายปีแต่ว่าทำตรงนี้ไม่ได้คือรู้เฉยๆ เพราะว่ามันคิดแต่จะไปจัดการกับความคิด จัดการกับอารมณ์ เพราะว่ายอมไม่ได้ สุดท้ายความคิดและอารมณ์มันไม่ได้ทำร้ายเรา การที่ยอมไม่ได้ การที่ไปมีปฏิกิริยากดข่มมันต่างหาก ที่มันสร้างทุกข์ให้กับจิตใจของเรา แล้วถ้าเราลองปรับความเข้าใจเสียใหม่ ว่าการปฏิบัติจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่มันยากเพราะเราวางใจไม่ถูกต่างหาก
8/31/2023 • 25 minutes, 52 seconds 25660720pm--อย่าให้ความถูกใจบดบังความถูกต้อง
20 ก.ค. 66 - อย่าให้ความถูกใจบดบังความถูกต้อง : หลายคนบอกว่าโกหกเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอด แต่การนินทานี่มันไม่ได้เป็นเรื่องความเป็นจำเป็นเพื่อความอยู่รอดทางอาชีพเลย แต่มันทำแล้วเมามัน เม้าท์มอยนี่มัน ทั้งที่อาจจะไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกกล่าวถึง ถูกนินทา ในแง่นี้ถ้าเราเลือกเอาความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ เราก็จะเบรก ยับยั้งใจตัวเองเอาไว้ว่าเราไม่ควรทำ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าคนเราไม่ใส่ใจตรงนี้
เวลานินทาใคร เราจะมีความสุขมาก เพราะมันถูกใจเวลาเราได้นินทาคนที่เราไม่ชอบ นินทาคนที่เราโกรธ เราเกลียด แต่ว่ามันอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ ฉะนั้นถ้ารู้จักทักทวงใจตรงนี้บ้าง มีสติเอาไว้ ไม่ยินดีกับการไปนินทาใคร เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันก็จะค่อยๆ เสริมสร้างสำนึกเรื่องความถูกต้องเอาไว้ในใจเรา พอถึงเวลาเราไปรับรู้ข้อมูลจากข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับคนที่เราไม่ชอบ ไม่ถูกใจ แล้วเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาถูกกลั่นแกล้ง เราก็จะไม่ยินดีในความเดือดร้อนในความฉิบหายของเขา แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะถูกใจเรา แต่เราไม่ยินดีเพราะมันไม่ถูกต้อง
แล้วสิ่งนี้มันจะช่วยทำให้คุณธรรมในใจเรางอกงามมั่นคง แล้วก็ส่งเสริมเมตตาธรรมในใจเราด้วย แล้วถ้าเกิดว่าเรายินดีหรือสะใจในความฉิบหาย ความเดือดร้อนของคนที่เราไม่ชอบ โดยเฉพาะเขาเจอกับความไม่ถูกต้อง มันก็จะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ของเรา เมตตากรุณาก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็จะมีจิตใจที่ไร้คุณธรรมหรือหยาบก็ได้ ซึ่งนั่นก็คงเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ
ฉะนั้นก็อย่าให้ความถูกใจมาบดบังความถูกต้อง ชัยชนะแม้จะเป็นสิ่งที่น่ายินดี ก็อย่าให้มันมาบดบังความถูกต้อง ความยุติธรรมเอาไว้
8/30/2023 • 30 minutes, 35 seconds 25660719pm--ทุกข์ใจเพราะไม่ยอมรับความจริง
19 ก.ค. 66 - ทุกข์ใจเพราะไม่ยอมรับความจริง : การที่เรายอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หรือตระหนักว่าเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอกหรือสิ่งใด แต่มันอยู่ที่ใจเราที่ไม่ยอมรับ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ก็เท่ากับเราเข้าใจธรรมะได้มากขึ้น แต่ไม่ว่าเราจะปฏิบัติแค่ไหน แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถทำใจยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็ยังเรียกว่าเรายังห่างธรรมะอยู่ หรือตราบใดที่เรายังคิดว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นจากสิ่งภายนอก ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่เรารู้สึกลบกับมัน หรือว่าไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรามองไม่เห็นตรงนี้ก็เรียกว่ายังห่างไกลธรรมะ ถึงแม้เราจะรู้ธรรมะเยอะ
ฉะนั้นการฝึกใจให้ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น มันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ที่จะพาเราเข้าถึงแก่นของธรรมได้ เพราะถ้ายอมรับเท่าไหร่ มันก็จะยึดมั่นถือมั่นได้น้อยลง แล้วมันก็จะปล่อยวางได้มากขึ้นเท่านั้น
8/29/2023 • 27 minutes, 44 seconds 25660718pm--อย่าเติมเชื้อให้ความทุกข์
18 ก.ค. 66 - อย่าเติมเชื้อให้ความทุกข์ : การอยู่กับตัวเองให้เป็น อยู่กับทุกขเวทนาโดยไม่ปวด สำคัญมาก ถ้าเรามีเวลาต้องรีบทำเสียแต่เดี๋ยวนี้ เพราะถ้าเกิดว่าเราต้องป่วย ยังไม่ถึงขั้นต้องนอนติดเตียงนะ ถ้าเราไม่เตรียมใจไว้เลยไม่ฝึกใจไว้เลยมันทรมาน เพราะใจยอมรับไม่ได้ ความป่วยกายไม่ได้ทำร้ายเราเท่ากับใจที่ยอมรับความป่วยไม่ได้ บางคนหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง ตกใจมาก พอกลับไปบ้านอยู่ได้ 12 วันก็ตาย มีคุณป้าอายุ 70 ปีเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลไม่รู้กี่ครั้ง ไม่รู้เป็นอะไร แล้วมีวันหนึ่ง หมอบอกว่า ป้าเป็นมะเร็งตับอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน แกกลับไปบ้านอยู่ได้ 12 วัน ที่อยู่ได้แค่ 12 วันนี้แปลว่ามะเร็งมันลามไปถึงสมอง ไปถึงอวัยวะสำคัญหรือเปล่า เปล่า แกตายเพราะใจยอมรับไม่ได้
พูดอีกอย่างก็คือว่ามะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย แต่ที่กลัวมะเร็ง กลัวตายหรือกลัวแก่เพราะมันไม่ได้ฝึกใจ อย่าว่าแต่จะกลัวมะเร็ง กลัวความตาย แค่กลัวเข็มฉีดยานี้ก็แย่แล้ว มีคนทำวิจัยบอกว่า คนที่กลัวเข็มฉีดยาพอโดนเข็มจิ้ม มันเจ็บเป็น 3 เท่าของคนที่ไม่กลัว แปลว่าความกลัวมันเป็นตัวขยาย ตัวทวีคูณความความปวด เรียกว่าทุกข์คูณ 3 . ขอจบตรงนี้
8/28/2023 • 28 minutes, 32 seconds 25660716pm--ฝึกใจด้วยสิ่งที่ไม่ถูกใจ
16 ก.ค. 66 - ฝึกใจด้วยสิ่งที่ไม่ถูกใจ : ความไม่สะดวกสบายสามารถเป็นตัวกวน กวนจิตกวนใจให้เกิดอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นมา อาจจะรวมถึงความกลัวด้วย กลัวเพราะว่า อยู่ในที่เปลี่ยว อันนี้มันก็เป็นแบบฝึกหัดให้เราได้เจริญสติ คือรู้ทันมัน อาจจะไม่ใช่แค่ความสะดวกสบาย อาจจะเป็นคำติฉินนินทา คำวิจารณ์ เวลาได้ยินคำเหล่านี้ ก็จะเกิดความไม่พอใจ แต่ถ้าเราฉลาด เราก็จะเอาความไม่พอใจมาเป็นแบบฝึกหัดในการเจริญสติคือรู้ทัน หัดมาดูใจ เห็นความไม่พอใจเกิดขึ้นเมื่อมีเสียงต่อว่ามากระทบหู ตัวกวนนี้คือเสียงวิจารณ์ เสียงต่อว่า ซึ่งมีประโยชน์ต่อการฝึกจิตของเรา
บางทีบางคนพูดไม่ถูกหู หรือว่าเขาพูดไม่ถูกใจเรา เพราะเขามีความคิดความเห็นต่างจากเรา เราได้ยินก็ขุ่นมัว ถ้าเราไว เราก็จะเห็นความขุ่นมัวที่เกิดขึ้นในใจ แล้วเดี๋ยวนี้เคนก็ติดโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊กนี้มีข้อความบางข้อความที่เราอ่านแล้วไม่พอใจ เพราะมีความคิดทางการเมืองต่างจากเรา หลายคนก็ใช้วิธีบล็อกเลย เพราะว่าทนไม่ได้ที่เห็นข้อความที่มันไม่ถูกใจเรา
แต่ถ้ามองให้ดี การที่มีข้อความแบบนี้แหละที่สามารถจะเอามาใช้ฝึกใจเราได้ ไม่ต้องบล็อกก็อ่านซะเลยแล้วก็เห็นความไม่พอใจ เห็นความไม่พอใจแล้ว นอกจากรู้ทันความไม่พอใจและพิจารณาต่อไปก็จะเห็น เห็นรากเหง้าของมันนะ คือกิเลสตัวใหญ่ๆ นั่นคือความยึดติดถือมั่นในความคิด ยึดว่าความคิดของเราถูก พอมีใครมาพูดจากระทบความคิดนี้ หรือมีความคิดต่างจากเราก็เกิดความไม่พอใจ เราจะเห็นเลยนะว่า ตัวกิเลสคือทิฏฐุปาทาน ซึ่งเราก็ต้องมองให้ทัน หรือว่ารู้ให้ชัด เพราะไม่งั้นมันก็จะมาสร้างความทุกข์ให้กับเรา
8/27/2023 • 29 minutes, 30 seconds 25660715pm--เพราะคาดหวังจึงเป็นทุกข์
15 ก.ค. 66 - เพราะคาดหวังจึงเป็นทุกข์ : การภาวนาเพื่อจะดับระงับ เช่นความคิดฟุ้งซ่าน มันไม่ดีเท่ากับการภาวนาเพื่อที่จะยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ด้วยการรู้ซื่อๆ รู้โดยไม่ผลักไสไม่ไหลตาม ไม่ใช่เพราะคาดหวังให้มันหายไป แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และดูมัน เห็นมันไม่เข้าไปเป็นมัน เรียกว่าการรู้ซื่อๆ อันนี้ใช้สติในการที่จะอยู่กับมัน หรือมิฉะนั้นก็ใช้ปัญญา คือเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเองๆ เห็นว่าเป็นธรรมดา
ฉะนั้นถ้าจะภาวนา ภาวนาเพื่อเห็นไม่เข้าไปเป็น จะดีกว่า ภาวนาเพื่อที่จะยอมรับหรืออยู่กับมันด้วยการรู้ซื่อๆ ดีกว่าคาดหวังว่าทำแล้วมันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะไม่มีทุกขเวทนา เพราะถ้าทำอย่างนั้น วางใจแบบนั้น มันจะเกิดความคาดหวัง แล้วความคาดหวังนี่แหละที่มันจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา
แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ โดยไม่คาดหวังว่ามันจะต้องหายไป มันอยู่ ก็อยู่ เราก็เรียนรู้ดูมันไป เห็นมันเป็นธรรมดา แบบนี้ยากนะ ไม่ใช่ง่าย แต่ว่ามันจะเป็นหลักประกันว่าการภาวนานี่มันจะไม่ก่อผลในทางลบ เพราะว่าถ้าภาวนาผิด มันก็สร้างทุกข์ให้กับเราได้มาก เหมือนกับหญ้าคาถ้าจับไว้ไม่ดีมันก็บาดมือ การภาวนาถ้าทำไม่เป็นหรือวางใจผิด มันก็สร้างทุกข์ให้กับเรามากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่นักภาวนาจะต้องระมัดระวังมากแล้วก็ใส่ใจ
8/22/2023 • 27 minutes, 31 seconds 25660707pm--ปล่อยวางได้ ใจเป็นสุข
7 ก.ค. 66 - ปล่อยวางได้ ใจเป็นสุข
8/21/2023 • 42 minutes, 50 seconds 25660706pm--อย่าให้ความคิดลบครอบงำใจ
6 ก.ค. 66 - อย่าให้ความคิดลบครอบงำใจ : นิสัยจำนวนไม่น้อยมีอำนาจครองใจเราได้ จนเราไม่สามารถจะกระดิกกระเดี้ยไปได้เลย เพราะว่าเราคอยให้อาหารมัน คล้อยตามมันตลอดเวลา แต่ถ้าเรารู้จักแข็งขืนมันบ้าง มันชอบเป็นห่วงคนนั้นคนนี้ก็ลองไว้วางใจเขาบ้าง ไม่ต้องไปโทรศัพท์ไถ่ถามเขาทุกวันทุกคืน ฝึกไว้วางใจเขา ต่อไปนิสัยขี้เป็นห่วงก็จะลดลง
บางคนมีนิสัยชอบโกรธ ก็ต้องฝึกมีเมตตากับเขาบ้าง แผ่เมตตาให้เขาบ่อยๆ หรือมองเขาในทางบวกบ้าง เพราะไม่งั้นความโกรธนี้มันจะครองใจเราจนอาจจะถึงวันตายเลย โกรธกราดเกรี้ยวกับทุกอย่างทุกสิ่ง แม้กระทั่งในยามที่ตัวเองย่ำแย่ โกรธใครไม่ได้ก็โกรธตัวเอง โกรธชะตากรรม หาเรื่องโกรธ หาเหยื่อที่โกรธไปเรื่อยๆ ต้องรู้จักเปลี่ยนนิสัย ดัดนิสัย ให้มามีความเมตตาเผื่อแผ่มีน้ำใจบ้าง
8/20/2023 • 25 minutes, 12 seconds 25660705pm--ชีวิตสมบูรณ์แบบ
5 ก.ค. 66 - ชีวิตสมบูรณ์แบบ : ถ้ามองให้ดี ชีวิตสมบูรณ์แบบที่ท่านอาจารย์พุทธทาสแยกเป็น 4 ระยะ จริงๆ มันไม่ใช่ 4 ระยะเท่านั้น มันเป็นกิจกรรม 4 ประเภทที่คนเราควรจะมี เป็นกิจกรรม 4 ประเภทที่คนเราควรจะทำ เพียงแต่ว่าอาจจะเน้นหนักแตกต่างกันในแต่ละวัย แต่ก็ไม่ควรจะทำแต่งานใดงานหนึ่งแล้วก็ทิ้งงานอื่น เพราะว่าแต่ละงานก็สำคัญ ถ้าทำให้ครบถ้วน ก็จะได้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามคือสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ถึงพร้อมทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
ที่จริงสงบเย็นและเป็นประโยชน์ เป็นหัวใจของชีวิตที่ดีงามในพุทธศาสนาเลยทีเดียว มันสะท้อนให้เห็นจากพุทธคุณ พุทธคุณจะมี 2 อย่างที่สำคัญคือ ปัญญาและกรุณา ปัญญาคือการเข้าถึงความจริงอย่างลึกซึ้ง ถ้าเข้าถึงอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ แล้วเมื่อจิตปล่อยวางสิ่งทั้งปวง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสงบ สงบชนิดที่ว่าพ้นจากกิเลสเลยทีเดียว อันนั้นคือนิพพาน อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สุขอื่นเหนือความสงบไม่มี แล้วความสงบที่ว่าคือนิพพานนั่นเอง
เพราะฉะนั้นปัญญาทำให้เข้าถึงความสงบเย็น พอความสงบเย็นเกิดขึ้นเพราะไม่มีกิเลส ก็หมายถึงความเห็นแก่ตัวไม่หลงเหลือ ไม่มีความยึดถือในตัวตน ก็เกิดกรุณา กรุณาเป็นแรงผลักดันให้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น
เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ปัญญาคุณและกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า มันก็คือสงบเย็นและเป็นประโยชน์นั่นเอง เพราะฉะนั้นชีวิตที่ดีงามในทัศนะชาวพุทธ มันก็ต้องพยายามเข้าถึงความสงบเย็นด้วยปัญญาแล้วบำเพ็ญประโยชน์ด้วยกรุณาอย่างเต็มที่ แล้วถ้าหากว่าสามารถจะดำเนินชีวิตหรือกิจกรรม 4 ประเภทอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า ชีวิตศึกษา ชีวิตครองเรือน ชีวิตสงบพักผ่อน ชีวิตแจกธรรมะ ถ้าทำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็เข้าถึงทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เข้าถึงความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
อันนี้ก็เป็นแนวคิดที่เข้าใจง่าย ไม่ได้ยากอะไรเลย ความคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส คำสอนบางอย่างก็ลึกซึ้งเข้าใจยาก แต่คำสอนบางอย่างก็เข้าใจง่ายแต่ว่าปฏิบัติได้ แล้วก็เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธธรรมได้ด้วย
8/19/2023 • 24 minutes, 39 seconds 25660704pm--เวลาใดเหมาะกับการปฎิบัติธรรม
4 ก.ค. 66 - เวลาใดเหมาะกับการปฎิบัติธรรม : ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ตราบใดที่ยังทำกิจต่างๆ นั่นแหละคือเวลาสำหรับการปฏิบัติ เวลาสำหรับการเจริญสติ เวลาสำหรับการทำความรู้สึกตัว ทำอะไรก็รู้ว่าทำ เมื่อทำด้วยกายก็รู้สึกหรือเห็นกายเคลื่อนไหว เมื่อเจออะไร มีการกระทบเกิดขึ้น ก็เห็นความคิดนึกที่มันเกิดขึ้นหรือมันปรุงแต่งขึ้นมา แล้วควรถือว่าสิ่งที่มากระทบมันคือแบบฝึกหัดอย่างดี มันไม่ใช่เป็นโอกาสของการเอาธรรมะมาใช้เท่านั้น แต่มันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการฝึกให้มีธรรมะ ฝึกให้มีสติ หรือฝึกจิต
มันจะไม่มีการบ่น ไม่มีการโวยวายตีโพยตีพายว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมเขาทำกับเราแบบนี้ มันจะไม่มีการบ่นแบบนี้ แต่ว่าจะมีการพร้อม พร้อมที่จะเอาธรรมะมาใช้โดยเฉพาะสติ มารู้ทันความคิด มารู้ทันอารมณ์ ยิ่งมีการกระทบเท่าไหร่ จะไม่มัวแต่ส่งจิตออกนอก หรือว่าปล่อยให้ความโกรธแค้น ความโศกเศร้ามันครอบงำใจ แต่กลับมาดูอารมณ์เหล่านั้นที่มันเกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้มันครองใจ
เพราะฉะนั้นถ้าเราตระหนักว่าทุกเวลาที่เหมาะกับการปฏิบัติธรรมคือทุกวัน ทุกนาที เราก็จะไม่มีวินาทีหรือเวลาที่สูญเปล่า แต่ละนาทีจะมีค่า เป็นทั้งช่วงเวลาของการฝึกสติ ฝึกจิต เพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือกับความทุกข์ และความผันผวนปรวนแปรที่จะเกิดขึ้น ถึงเวลาก็จะไม่มัวแต่จมอยู่ในอารมณ์โศกเศร้า โกรธ โมโห แต่จะเกิดความรู้สึกตัว และเอาธรรมะ เอาสติ เอาปัญญามาใช้อย่างทันท่วงทีและถึงพร้อม
8/18/2023 • 25 minutes, 46 seconds 25660703pm--ทุกข์หลุดเพราะวาง
3 ก.ค. 66 - ทุกข์หลุดเพราะวาง : การเจริญสตินี่เราสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าทำอะไรก็เจริญสติได้ แล้วเวลาเราเจออะไรมากระทบมีอารมณ์เกิดขึ้น มันก็ฝึกสติให้รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทบนั้น ตลอดทั้งวัน เราเจอสิ่งกระทบเยอะแยะ มีอารมณ์เกิดขึ้นมากมาย บางทียินดียินร้าย บางทีใจฟูใจแฟบ พวกนี้เป็นแบบฝึกหัดการเจริญสติได้ทั้งนั้น ทำอะไรใจก็รู้ รู้กาย เจออะไรก็รู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น ใจฟูใจแฟบ ใจแกว่งไปแกว่งมาก็รู้ แค่นั้นเอง
การรู้อย่างนี้ทำมากเข้า มากเข้า จะทำให้เกิดพลังในการปล่อยการวาง วางอะไร วางความคิดที่ทำให้ทุกข์ วางอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์ ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย จะปล่อยได้ไม่ใช่เกิดจากความอยากจะปล่อย มันต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือนั่นคือสติ ความรู้สึกตัวเป็นเบื้องต้น ทำได้ชีวิตประจำวัน
แต่อย่าใจร้อน ต้องให้เวลากับมันเหมือนกับที่เราให้เวลากับอะไรต่ออะไรมากมาย รวมทั้งเวลาในการดูหนังฟังเพลง เวลาในการเที่ยว เราให้เวลากับสิ่งพวกนี้ไม่อั้น แต่เวลาที่จะช่วยทำให้เราหลุดจากทุกข์จริงๆ กลับไม่ยอมให้เวลากับมันเท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยต้องจมอยู่กับความทุกข์เรื่อยไป จนกว่าความทุกข์มันจะสอนว่า มีแต่ฝึกจิตเท่านั้นแหละที่จะทำให้ใจหลุดจากทุกข์ได้
8/17/2023 • 22 minutes, 34 seconds 25660702pm--สวดมนต์ให้ได้ธรรม
2 ก.ค. 66 - สวดมนต์ให้ได้ธรรม : จะเห็นได้ว่า การสวด สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจความหมาย แล้วก็วางใจให้ถูก อย่าทำตามรูปแบบ คนเดี๋ยวนี้ เวลาปฏิบัติไปเน้นที่รูปแบบมากกว่าตัวเนื้อหาสาระ และไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสวดมนต์นะ แม้แต่เรื่องการปฏิบัติธรรม คนจำนวนมากก็ไปเน้นที่รูปแบบ เช่นเวลาพูดถึงการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติ ก็นึกถึงการหลับตาตามลมหายใจ การนั่งนิ่งๆ ก็คิดได้เพียงเท่านี้
หรือถ้ามาพูดถึงการเจริญสติ หลายคนก็นึกถึงการสร้างจังหวะ เดินจงกรม แล้วเวลาจะเจริญสติก็นึกถึงแต่เรื่องการยกมือสร้างจังหวะ ทั้งๆ ที่การยกมือสร้างจังหวะนี้มันก็เป็นแค่รูปแบบ ถ้าจับเนื้อหาสาระได้หรือวางใจถูก ไม่ต้องยกมือก็ได้ คลึงนิ้ว พลิกมือไปพลิกมือมา หรือแม้กระทั่งเวลาทำกิจต่างๆ ที่มีการใช้มือ มีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ซักผ้า ทำครัว หั่นผัก ก็เป็นการปฏิบัติได้
หลายๆ คนไม่เข้าใจ เวลาจะเจริญสติ เอะอะอะไรก็จะยกมืออย่างเดียว ซึ่งบางทีทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นอยู่บนรถเมล์ก็ยกมือสร้างจังหวะ เพราะคิดว่าคือการเจริญสติ ความตั้งใจก็ดีนะ คืออยากจะเจริญสติในขณะที่อยู่บนรถเมล์ ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าหรือปล่อยใจให้ลอย แต่ไม่เข้าใจว่ามันไม่ต้องยกมือก็ได้ แค่ขยับนิ้ว คลึงนิ้ว ก็สามารถจะเป็นอุบายในการเจริญสติได้ หรือตามลมหายใจแบบรู้สึกตัวเบาๆ
พอเราไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย ก็เลยกลายเป็นการปฏิบัติแบบสีลัพพตปรามาส คือว่าการยึดติดในรูปแบบ พิธีกรรมหรือกรรมวิธี ซึ่งรวมไปถึงศีลด้วยนะ โดยที่ไม่เข้าใจความหมาย เช่นเวลาจะสมาทานศีล ก็มีความเข้าใจจะต้องมีพระมาให้ศีล จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมในวัด ถึงจะเรียกว่าเป็นการสมาทานศีลได้
ถ้าไม่มีพระให้ศีลหรืออยู่ที่บ้าน ทำไม่ได้ ยิ่งไม่ใช่เลย
อย่างเรื่องการอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หลายคนเข้าใจว่าต้องมีการกรวดน้ำ ต้องมีที่หยาดน้ำ ต้องมีพระมาสวด และต้องมีสวดบท ยะถา สัพพี ฯลฯ สวดบทอื่นไม่ได้ หรือถ้าไม่มีพระสวด ก็อุทิศบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไม่ได้ อันนี้ไม่เข้าใจ เรียกว่าเป็นเพราะติดในรูปแบบ ไม่เข้าใจความหมาย เป็นสีลัพพัตปรามาสแบบหยาบๆ ซึ่งตรงข้ามกับการปฏิบัติให้ถูกต้อง การปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักการหรือตามวัตถุประสงค์ ท่านเรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือการปฏิบัติอย่างถูกธรรม บางทีก็แปลว่า ธรรมน้อยคล้อยธรรมใหญ่ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือปฏิบัติให้ถูกหลัก ถูกต้องตามวัตถุประสงค์
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจการปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการฝึกสติ เราก็จะรู้ว่าการสวดมนต์ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็น แต่มันช่วย ดังนั้นเวลาจะให้ลูกหลานมาสนใจธรรมะ ไม่ใช่ว่าจะต้องให้เขามาสวดมนต์หรือนั่งหลับตาทำสมาธิ ให้เขาฝึกสติจากการดำเนินชีวิตประจำวันก็ได้ ถ้าหากวางจิตวางใจเป็น ทำอะไรก็เป็นการเจริญสติ ปฏิบัติธรรมอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ถูกด้วย
25660701pm--ขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังบวก
1 ก.ค. 66 - ขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังบวก : ใช้ความรักความเมตตาเป็นแรงผลัก ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีงามโดยที่สูญเสียเลือดเนื้อน้อย อย่างเนลสัน แมนเดลา ก็ใช้ความรักความเมตตาที่ทำให้แอฟริกาใต้มีการรังเกียจเหยียดผิวน้อยลง มีการเคารพศักดิ์ศรีของคนสีผิวได้มากขึ้น รวมทั้งมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งใช้ความรักในการทำให้การเหยียดผิวลดน้อยลง ถ้าเราใช้ความรักความเมตตา หรือว่าความห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์เป็นแรงผลัก ก็จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ได้มาก
นอกจากนั้นสติก็สำคัญ สติก็เป็นแรงผลักได้ เวลาเราเกียจคร้าน ไม่อยากจะทำอะไร สติก็สามารถจะขับเคลื่อนให้เราเกิดความขยันขันแข็งขึ้นมา มันเป็นแรงผลักที่ดีกว่าความโกรธ หลายคนพอมีความโกรธเป็นแรงผลัก บางทีห้ามใจตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะว่าความโกรธครองใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดและการกระทำที่นำไปสู่ความรุนแรง ถ้าเราใช้ความโกรธเป็นแรงผลัก ถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่สามารถคุมตัวเองได้
แต่ถ้าเราใช้สติเป็นแรงผลัก อันนี้เป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่า และยังสามารถจะทัดทานไม่ให้ความโกรธมาครองใจเราได้ คนเราเวลาโกรธแล้ว มันอยากจะทำอะไรหลายอย่างที่เป็นผลร้ายกับตัวเอง แต่พอได้สติขึ้นมามันหยุดเลย สติเป็นทั้งแรงผลักที่ไว้ใจได้ และเป็นแรงเบรกที่ช่วยทำให้แรงผลักที่เป็นลบที่เป็นโทษ ไม่สามารถจะครอบงำจิตใจเราได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราพยายามสร้างกุศลธรรมมาเป็นแรงผลักในการทำสิ่งดีๆ จะเกิดผลที่ดีงามและปลอดภัยกว่า และจะช่วยทำให้เราสามารถจะเปิดรับสิ่งที่เป็นแรงดึงดูดให้เราทำสิ่งที่ดีงามได้
8/15/2023 • 26 minutes, 13 seconds 25660627pm--เป็นสุขในยามแก่ชรา
27 มิ.ย. 66 - เป็นสุขในยามแก่ชรา
8/14/2023 • 52 minutes, 15 seconds 25660626pm--ฟังให้ได้ธรรม
26 มิ.ย. 66 - ฟังให้ได้ธรรม : เวลามีคำพูดอะไรที่กระทบใจให้เกิดความไม่พอใจ หรือเกิดความสงสัย พอมันเกิดความสงสัย ใจมันก็จะวนอยู่ตรงนั้นแหละ มันไม่ไปไหน หรือบางทีคำพูดบางอย่าง คำพูดบางประโยค มันทำให้ไปนึกถึงเหตุการณ์บางอย่างขึ้นมา ใจเราก็จะไปวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์เหล่านั้น จนกระทั่งไม่รู้ว่า ผู้พูดพูดไปถึงไหนแล้ว ตรงนี้เราก็ฝึกให้มีสติรู้ทัน รู้ทันใจที่มันกำลังวนเวียนอยู่กับข้อความที่เป็นอดีตไปแล้ว ให้หลุดจากอดีตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
เพราะบางทีมันมีความสงสัย จริงหรือเปล่า ไม่ใช่มั้ง เสร็จแล้วก็คิดวนเวียนอยู่ตรงนี้ ทั้งที่ผู้พูดพูดไปไกลแล้ว อันนี้เรียกว่าไม่มีสติเหมือนกัน มันไปจมอยู่กับความสงสัย เราก็ต้องรู้ว่า ตอนนี้ใจมันมีภาวะอะไร มันกำลังจมอยู่กับบางข้อความ เราต้องหลุดออกจากความสงสัย หรือความไม่พอใจนั้น เพื่อที่จะตามคำพูด หรือเนื้อความของผู้พูดไปได้อย่างต่อเนื่อง นี่ก็เป็นการปฏิบัติเหมือนกัน
รวมไปถึงแม้กระทั่งมีเสียงแทรก เสียงโทรศัพท์มือถือดัง เสียงหมาเห่า เสียงคนคุยอยู่ข้างล่าง บางคนจะรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาเลย คนที่หงุดหงิดอาจจะเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังด้วย ส่วนผู้ฟังเวลาหงุดหงิดขึ้นมาก็ให้รู้ว่ามันหงุดหงิดแล้ว ใจมันไปจดจ่ออยู่ที่เสียงนั้นแล้ว ให้รู้จักปล่อยวางเสียงนั้น กลับมาอยู่กับเสียงที่กำลังฟังจากการบรรยาย นี่ก็ปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นเราควรจะรู้จักทำให้การฟังธรรมกับการปฏิบัติ เป็นเรื่องเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็ให้การฟังธรรมเป็นส่วนส่งเสริมการปฏิบัติ ไม่ใช่ฟังธรรมแล้วก็ฟังเฉยๆ การปฏิบัติไม่เกิดขึ้น อันนี้ก็เรียกว่าเสียโอกาส ถึงแม้มันจะดีกว่าไปเที่ยว ไปฟังเพลง ไปดูหนังดูละคร แต่ว่าเราสามารถจะได้ประโยชน์จากการฟังธรรมมากกว่านี้
8/13/2023 • 24 minutes, 39 seconds 25660625pm--รู้ทันความคิดที่ไม่ได้รับเชิญ
25 มิ.ย. 66 - รู้ทันความคิดที่ไม่ได้รับเชิญ : ความคิดถ้าเกิดขึ้นแล้วเรารู้ทัน มันทำอะไรเราไม่ได้ แถมเราได้ประโยชน์จากมันด้วย ทำให้เรารู้ว่า เรายังมีความคิดแบบนี้อยู่ เรายังมีมุมมองแบบนี้อยู่ ก็ทำให้เราระมัดระวัง เพราะแม้เราจะปฏิบัติตนดีอย่างไร บางทีมันมีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น ความอิจฉา ความคิดร้ายต่อเพื่อน บางทีมันมีความคิดตำหนิพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลายคนไม่รู้ เพราะไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้เท่าทัน ทั้งที่มันมี แต่ไม่รู้ ไม่เห็น
แต่ถ้าเกิดเมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกิดขึ้นแล้วเราเห็น อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามันมีความคิดแบบนี้ เราก็จะได้รู้ว่า เราก็ไม่ได้เป็นคนวิเศษวิโส เราก็ยังเป็นปุถุชน แต่ขณะเดียวกันเราก็พยายามรักษาใจเรา ไม่ให้ความคิดเหล่านี้ครอบงำ ก็เรียกว่าได้ประโยชน์จากความคิดเหล่านี้ ที่จะทำให้เราหันมาพัฒนาตนให้มากขึ้น ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความรู้เท่าทันกิเลสในใจ
8/12/2023 • 26 minutes, 26 seconds 25660624pm--อย่ายึดมั่นความถูกต้องจนไร้เมตตา
24 มิ.ย. 66 - อย่ายึดมั่นความถูกต้องจนไร้เมตตา : ความยึดมั่นในความถูกต้อง มันสามารถนำไปสู่การมีความรู้สึกที่สวนทางกับธรรมะได้ คือขาดเมตตา และเดี๋ยวนี้เราก็เห็นบ่อย ที่จริงมันก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถ้าใครที่ผิดอะไรสักอย่าง เช่น มีเชื้อชาติที่ผิด มีศาสนาที่ผิด มีความเห็นที่ผิดในสายตาของเรา ก็พร้อมที่จะทำร้ายเขาได้ อย่างเช่นพวกนาซี พวกเยอรมันเห็นว่าพวกยิวเป็นพวกที่มีเชื้อชาติที่ผิด มีชาติพันธุ์หรือว่าเชื้อชาติผิด ก็สมควรกำจัดออกไปจากโลกนี้
คนที่เคร่งศาสนามากๆ ถ้าเห็นใครที่นับถือศาสนาผิดนิกายในสายตาของตัวก็ฆ่าได้ แม้ว่าจะเป็นศาสนาเดียวกันอย่างเช่น ชีอะห์กับสุหนี่ฆ่ากันแบบเข้มข้นมากเลยเพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าพวกแกนับถือผิดศาสนา ผิดนิกาย พอผิดแล้วมีสิทธิ์เป็นศูนย์ สิทธิ์แม้กระทั่งการมีชีวิตในโลกนี้ หรือว่ามีความคิดผิดระบอบก็ต้องกำจัด
อันนี้รวมถึงอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย เดี๋ยวนี้บ้านเมืองเรามีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองมาก แล้วพอไปยึดมั่นความถูกต้องของความคิดตัวเอง ใครที่คิดผิดจากของตัวก็เห็นเป็นคนเลวร้าย ต้องกำจัด มันไม่มีความเมตตาเหลือ แล้วคนที่คิดแบบนี้ก็เป็นคนชาวพุทธไม่น้อย ทั้งๆที่พุทธศาสนาไม่ได้เน้นแต่เรื่องความถูกต้องอย่างเดียว เน้นเรื่องความเมตตาด้วย เมตตาเป็นธรรมะข้อสำคัญ เป็นคุณธรรมสำคัญของชาวพุทธเลย
8/11/2023 • 28 minutes, 1 second 25660623pm--ความเข้าใจผิดของนักปฎิบัติ
23 มิ.ย. 66 - ความเข้าใจผิดของนักปฎิบัติ : ก็เลยเกิดความเครียดหนักจนถึงกระทั่งจิตสลาย เสียศูนย์ หรือซึมเศร้าไปเลย เป็นกันเยอะนะ ยิ่งนักปฏิบัติด้วยแล้ว หลายคนการจะอนุญาตหรือยอมให้ความคิดมันเกิดขึ้นได้ อารมณ์เกิดขึ้นได้ นี่ไม่ยอมนะ อาจจะเรียกว่าติดดีก็ได้ หรือว่าไปเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าปฏิบัตินี่มันต้องดับความคิด
ก็ต้องตั้งหลักเสียใหม่ ทำใจให้ถูก ยอมให้มันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดใด บวกหรือลบ อารมณ์ดีหรืออารมณ์ที่ไม่ดี กุศลหรืออกุศล แล้วพอมันเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ก็แค่ดูมันเฉยๆ วิธีนี้แหละจะทำให้สติค่อยๆ โตไว แล้วความรู้สึกตัวก็ค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้น
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ให้ทำความเข้าใจให้ดี ว่าเราไม่ปฏิบัติเพื่อดับความคิด แต่เพื่อให้รู้ทันความคิด ความคิดมันเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวร้ายไปหมด อยู่ที่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ใช้มันให้ถูกมันก็เกิดประโยชน์ และสำหรับการปฏิบัติเพื่อเจริญสติ เป็นวัตถุดิบที่จำเป็นมากเลย
8/10/2023 • 25 minutes, 41 seconds 25660622pm--รักษาใจอย่าให้สติแตก
22 มิ.ย. 66 - รักษาใจอย่าให้สติแตก : ถ้าเราครองสติได้ดี เจอเหตุร้าย สติไม่แตก ตั้งสติครองตนได้ สิ่งที่เรียนมาสิ่งที่รู้มามันก็เอานำมาใช้ รับมือกับสิ่งต่างๆ รับมือกับปัญหาได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า รวมทั้งเวทนาด้วย ต้องฝึกสติเพื่อที่จะรับมือกับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าเกิดว่ารับมือกับอารมณ์ได้ เวลาเจอทุกขเวทนา มันก็ยังพอไหวอยู่ แต่ถ้าไม่มีสติเท่าทันอารมณ์ พอเจอทุกขเวทนาเข้า มันก็เกิดความคับแค้น เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เกิดความกลัวท่วมท้นเลย ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นในเวลาที่เราไม่ป่วย
ฝึกสติเอาไว้ในขณะที่เรามีเวลา ในขณะที่เรายังมีสุขภาพดี แม้บางครั้งจะมีความเกียจคร้าน หรือมาคิดว่าฉันเอาอยู่ ทำไมต้องมาฝึกให้มันมากกว่านี้ ไอ้ที่คิดว่าเอาอยู่เป็นเพราะว่ายังไม่เจอของจริง เป็นเพราะว่ายังเป็นคนเดิมอยู่ ถึงเวลามันกลายเป็นอีกคนไปแล้ว ถึงตอนนั้นถ้าไม่มีสติเอาไว้รับมือ คนใหม่ก็จะกลายเป็นคนที่หมดความสามารถ แต่ถ้ามีสติ เราก็ยังอาจจะเป็นคนเดิมได้ที่รู้ว่าจะรับมือเหตุร้ายอย่างไร
เพราะฉะนั้นอย่าประมาท มีเวลาก็ฝึกเจริญสติ แม้ว่ามันจะมีความเบื่อก็อย่าท้อถอย เพราะว่าถ้าเราฝึกสติ มันคุ้มแน่นอน ไม่มีคำว่าสูญเปล่า ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะความเบื่อความง่วงได้ ถึงเวลาเราจะชนะความคับแค้น ความโกรธ ความเศร้า ความเจ็บป่วยได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกเอาไว้นะ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
8/9/2023 • 25 minutes, 50 seconds 25660621pm--สร้างนิสัยใหม่ให้ใจ
21 มิ.ย. 66 - สร้างนิสัยใหม่ให้ใจ : นิสัยตื่นรู้ นิสัยที่รู้ทันความคิดได้ไว รู้ทันอารมณ์ได้เร็ว ถ้าเราฝึกสติจนเป็นนิสัย ทำความรู้สึกตัวจนเป็นนิสัย ไม่ว่าทำอะไร ตื่นเช้าขึ้นมาเราก็ทำความรู้สึกตัว แม้ว่ามันจะหลงเป็นส่วนใหญ่ แต่พอทำไปเรื่อยๆทำไปเรื่อยๆ ความรู้สึกตัวก็จะเพิ่มขึ้นๆๆ จนเป็นใหญ่เหนือความหลง โดยเฉพาะหลงคิดหรือหลงเข้าไปในอารมณ์
ถ้าเรามีนิสัยใหม่แบบนี้ มันจะช่วยทัดทานไม่ให้นิสัยในทางลบทางร้ายหรือนิสัยที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาหรือกิเลสมันเข้ามาบงการจิตใจเราได้ ไม่เช่นนั้นพอเราแก่ตัวลงไป สติเราเริ่มอ่อน นิสัยพวกนี้มันจะครอบงำใจเรา มันจะเป็นสะพานอารมณ์ต่างๆเข้ามา มาบงการชีวิตจิตใจของเรา จนเราไม่ต่างจากซอมบี้เลย ทำอะไรโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว สะสมข้าวของโดยไม่รู้ตัวอยู่นั่นแหละ โวยวายตีโพยตีพาย หรือว่ามองลบมองร้าย หรือว่าบางคนเป็นเจ้าคิดเจ้าแค้น ถอนใจออกจากอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้
แต่จริงๆไม่ต้องรอให้แก่ บางคนแค่วัยกลางคนหรืออายุไม่มากก็ถูกนิสัยพวกนี้ฝังรากลึก นิสัยพวกนี้บางทีเขาเรียกว่าสันดาน ซึ่งมันมีแต่ทำความทุกข์ให้จิตใจของเรา หรือบางทีก็ทำให้ชีวิตของเราย่ำแย่ด้วย ตัวเองย่ำแย่ไม่พอครอบครัวคนรักก็ย่ำแย่ อย่างคนที่ติดยาติดการพนันหรือคนที่คิดลบคิดร้ายก็สร้างความปั่นป่วนให้กับคนในครอบครัวมากทีเดียว
เพราะฉะนั้นเราต้องขยันสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมา นิสัยตื่นรู้ นิสัยที่รู้ทันความคิดและอารมณ์ เผลอคิดไปก็รู้ทัน ถอนกลับมา หรือว่าจะเป็นนิสัยที่กลับมารู้สึกตัวบ่อยๆก็ได้ จะห้ามไม่ให้หลงมันยาก แต่หลงแล้วกลับมา กลับมารู้สึกตัวบ่อยๆ กลับมารู้สึกตัวไวๆ สร้างนิสัยนี้ขึ้นมาแล้ว ชีวิตเราก็จะปลอดภัยได้มากขึ้น
8/8/2023 • 26 minutes, 7 seconds 25660620pm--ทุกข์ห่างไกล ถ้าวางใจเป็น
20 มิ.ย. 66 - ทุกข์ห่างไกล ถ้าวางใจเป็น : ถ้าเราสามารถเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง หรือว่าเริ่มต้นจากการที่เห็นสิ่งต่างๆแบบซื่อๆตรงๆ ไม่เข้าไปผลักไส หรือไขว่คว้าซึ่งเป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ต่อไปมันก็ไม่ใช่แค่เห็นกายว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่แค่เห็นลมที่เข้าออก ไม่ใช่เห็นแค่มือที่พลิกไปมา ต่อไปมันจะเห็นเวทนาที่เกิดขึ้นกับกายด้วย เห็นเวทนาโดยที่ไม่ไปยึด ไปเกาะ หรือผลักไสเวทนา
มันก็คือ เห็นความปวดไม่เป็นผู้ปวดซึ่งยากมาก แต่เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความเครียดไม่เป็นผู้เครียด ยังง่ายกว่าเห็นความปวดแต่ไม่เป็นผู้ปวด แต่ถ้าเราฝึกเอาไว้ มันก็จะช่วยได้
แต่แน่นอนการเปลี่ยนการรับรู้มันก็ช่วยได้ สำหรับคนที่กำลังเจ็บปวดเพราะน้ำร้อนลวก บางคนพอคิดถึงหิมะคิดถึงน้ำเย็น มันก็ช่วยลดความปวดได้ ปวดแสบปวดร้อน แต่ถ้าเราจะทำได้ดีกว่านั้น เห็นมัน เห็นความปวด มันก็จะหลุดจากความปวดนั้นได้ กายยังปวดอยู่แต่ใจไม่ปวด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ช่วยจิตช่วยกายได้มากทีเดียว
8/7/2023 • 28 minutes, 46 seconds 25660619pm--เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นรู้
19 มิ.ย. 66 - เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นรู้ : การรู้จักเปลี่ยนสิ่งกระทบ ไม่ว่าเกิดขึ้นที่กายหรือที่ใจ ให้เป็นตัวรู้นี่สำคัญมาก แล้วเราทุกคนก็ต้องหมั่นเป็นนักศึกษา เอาสติเป็นนักศึกษา เอากายและใจเป็นตำรา และต่อไปไม่ใช่กายและใจอย่างเดียว โลกภายนอกด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พวกนี้ก็เป็นตำราได้
มันสอนให้เห็นว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนเลย กายกับใจก็ไม่แน่นอน เหตุการณ์ภายนอกก็ไม่แน่นอน มีขึ้นมีลง มีได้มีเสีย เป็นความรู้ เป็นของดีทั้งนั้นเลย มันจะไม่มีคำว่าถูก มีแต่ว่าได้กำไร ไม่มีคำว่าขาดทุน เพราะว่ารู้จักเปลี่ยน ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ตลอดจนรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เปลี่ยนให้เป็นรู้ให้หมด มันก็จะกลายเป็นของดี มีประโยชน์
8/6/2023 • 24 minutes, 26 seconds 25660618pm--จะปล่อยวางหรือปล่อยใจ
18 มิ.ย. 66 - จะปล่อยวางหรือปล่อยใจ : บางคนไม่ต้องรอจนแก่เพราะโดนอารมณ์ครอบงำ เช่นความซึมเศร้า พอปล่อยใจไปตามความซึมความเศร้าอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งมันมีอำนาจมีกำลัง ถึงตอนนั้นแม้จะรู้ว่าปล่อยวางมันดี แต่ปล่อยไม่ได้ คนที่ชอบสะสมทรัพย์ เก็บข้าวเก็บของ บางทีก็รู้ว่ามันน่าจะปล่อย แต่ปล่อยไม่ได้ คนที่เจ้าอารมณ์ รู้นะว่าโกรธไม่ดี เพราะว่ามันร้อนรุ่มใจเหลือเกิน แต่ว่ามันปล่อยไม่ได้ อันนี้เพราะอะไร เพราะไม่รู้จักปล่อยวาง แต่ว่าเอาแต่ใจไปตามอารมณ์ แล้วคนเดี๋ยวนี้ก็ไม่คิด ไม่นึกเลยที่จะเรียนรู้การปล่อยการวางเพราะว่าปล่อยใจไปตามอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเวลาถูกยั่วยุหรือว่ามีสิ่งเย้ายวน
อันนี้คือสิ่งที่เราต้องตระหนัก ถ้าเราไม่ฝึกปล่อยวางอยู่เรื่อยๆ ปล่อยวางความคิด ปล่อยวางอารมณ์ด้วยการมีสติรู้ทัน ด้วยการมีความรู้สึกตัว ฝึกทักษะในการรู้ซื่อๆ มันก็จะลงเอยด้วยการปล่อยใจไปตามอารมณ์ แล้วสุดท้ายอารมณ์ก็เข้ามาครอบงำ จนกระทั่งมันกลายเป็นนายเหนือเรา แล้วก็ไม่เป็นผู้เป็นคนต่อไป
โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่แก่ตัว หรือเวลาที่สติอ่อน เพราะว่าความเจ็บความป่วยหรือเวลามีความสูญเสียเกิดขึ้น มีอะไรมากระทบเกิดขึ้น สติอ่อนเมื่อไหร่ อารมณ์พวกนี้ก็เข้ามาครองใจ ยิ่งถ้าไม่คิดจะฝึกสติเลย มันก็ไม่มีแรงต้านทาน เหล่านี้คือสิ่งที่เราเห็นจากผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำ การกำกับของอารมณ์ต่างๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เวลาเจอทุกข์ ก็ถอนใจจากความทุกข์นั้นไม่ได้
8/5/2023 • 27 minutes, 50 seconds 25660613pm--จะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์
13 มิ.ย. 66 - จะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์
8/4/2023 • 51 minutes, 51 seconds 25660610pm--ยามสุขคือเวลาเหมาะสำหรับการฝึกตน
10 มิ.ย. 66 - ยามสุขคือเวลาเหมาะสำหรับการฝึกตน : เวลาเจออะไรที่ไม่ถูกใจ ก็ถือว่าเป็นบทเรียนในการฝึกตน เช่น เจอรถติด แทนที่จะบ่นโวยวาย ก็เอามาเป็นแบบฝึกหัดในการฝึกจิตไม่ให้ตก ทำอย่างไรรถติด จิตไม่ตก เวลาเพื่อนเขานินทา หรือว่าวิจารณ์เรา ทำยังไงใจถึงจะไม่ทุกข์ นัดเพื่อนมาแล้วเพื่อนไม่มาตามนัด ทำยังไงใจจะไม่วิตกกังวล ไม่ร้อนรุ่ม
มันไม่ใช่ฝึกเฉพาะมาปฏิบัติธรรมในวัด ในคอร์สต่างๆ เท่านั้น ถึงแม้เพียงนั้นหลายคนก็ไม่ได้เห็นความสำคัญ หรือแม้จะเห็นความสำคัญ เท่านั้นยังไม่พอนะ มันต้องฝึกจากชีวิตประจำวัน ฝึกจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้จะเป็นความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ แต่เราก็รู้จักรักษาใจ ไม่ให้จิตใจกราดเกรี้ยว โกรธ โมโห หงุดหงิด
คนส่วนใหญ่ไม่เห็นอย่างนั้น กลับไปมองว่า ในเมื่อชีวิตฉันยังสุขสบาย ยังหนุ่มยังสาว มีเงินมีทอง ก็ปรนเปรอตนด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งเสพมากมาย เห็นคนอื่นเขาปฏิบัติธรรมก็กลับบอกว่าจะปฏิบัติทำไม ฉันยังไม่ทุกข์อะไรเลย อันนี้เป็นนิสัยของคนประมาท ที่จริงแล้วยิ่งสุขสบายเท่าไร ตอนนี้ยิ่งเป็นโอกาสดี โอกาสเหมาะสำหรับการฝึกตน เพื่อให้พร้อมสำหรับความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
8/3/2023 • 27 minutes, 1 second 25660609pm--เป็นอิสระได้เมื่อวางใจเป็นกลาง
9 มิ.ย. 66 - เป็นอิสระได้เมื่อวางใจเป็นกลาง : ถ้าเราไม่มีอุเบกขาต่อสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่กระทบมันจะกลายเป็นสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นทันทีเลย ที่กระตุ้นให้ทุกข์ ให้โกรธ ให้รำคาญ ให้หงุดหงิด ให้โวยวายตีโพยตีพาย หรือลงไม้ลงมือ แต่ถ้าเรามีอุเบกขา ด้วยอำนาจของสติ สิ่งที่กระทบมันจะไม่ใช่สิ่งเร้าแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็นเฉยๆ แค่นั้นแหละ ถูกรู้ถูกเห็น แต่ว่าไม่สามารถที่จะทำให้เราทุกข์ หรือว่าบังคับให้เราทำโน่นทำนี่ ตีโพยตีพาย หรือผลักไสให้เราไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร
เราสามารถจะเป็นอิสระจากสิ่งที่มากระทบได้ ถ้าเรารู้จักวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่ความคิดและอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น เริ่มที่ตรงนี้คืออารมณ์ภายใน หรืออายตนะที่ชื่อว่าธรรมารมณ์ ต่อไปรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่มากระทบ เราก็วางใจเป็นกลางกับมันได้ แล้วก็เป็นอิสระจากมันได้ในที่สุด
8/2/2023 • 26 minutes, 22 seconds 25660608pm--พ่อแม่ทุกข์เพราะไม่เข้าใจลูก
8 มิ.ย. 66 - พ่อแม่ทุกข์เพราะไม่เข้าใจลูก : อันนี้ก็เป็นปัญหาที่คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ต้องเข้าใจ ว่าอาจเป็นเพราะเราไปยึดติดถือมั่นกับความคาดหวังของตัวเองเกินไปไหม หรือว่าเชื่อมั่นในความถูกต้องของตัวเองหรือเปล่า ความยึดติดถือมั่นแม้จะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ดี ก็ก่อให้เกิดโทษได้ อย่างที่หลวงพ่อเฟื่องท่านบอก ความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดเข้าไว้มันก็ผิด ความเห็นพ่อแม่อาจจะถูก แต่พอยึดมั่นถือมั่นมากก็อาจจะผิด เพราะมันนำไปสู่การกระทำที่สร้างปัญหาให้กับลูก สร้างกับปัญหาให้กับวัยรุ่น
เรื่องนี้น่าเสียดายที่พ่อแม่ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ก็ยังไปโทษเด็ก คิดแต่จะไปแก้ไขเด็ก ไม่ค่อยได้หันกลับมาดูตัวเองว่าเป็นเพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นกับความคิดของตัวเองเกินไปไหม รวมทั้งไปยึดติดกับภาพอดีตของลูก ว่าลูกจะต้องน่ารักแบบโน้นแบบนี้ ไม่ใช่เกกมะเหรกเกรเรเหมือนกับทุกวันนี้ ซึ่งมันก็เป็นการตีความของเราเอง เพราะว่าสิ่งที่ดีของพ่อแม่ อาจจะไม่ดีในสายตาของลูกก็ได้ หรือสิ่งที่ไม่ดีในสายตาของแม่พ่อ อาจจะเป็นสิ่งที่ดีในสายตาของลูกก็ได้
บางคนคิดว่าลูกไม่เป็นคนดีเลย ซึ่งอาจจะไม่ดีแบบของเรา แต่อาจจะดีแบบของเขาก็ได้ เรื่องนี้มันเป็นช่องว่างที่ยากจะเชื่อมให้มันเข้ากันได้ ถ้าเกิดว่าไม่มีการฟังกัน เรียนรู้ หรือเข้าใจกันให้มากขึ้น
8/1/2023 • 25 minutes, 18 seconds 25660607pm--เปลี่ยนสิ่งเร้าให้เป็นสิ่งถูกรู้
7 มิ.ย. 66 - เปลี่ยนสิ่งเร้าให้เป็นสิ่งถูกรู้ : ถ้าเราปล่อยให้สิ่งกระทบกลายเป็นสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้น เราแย่นะ เราก็ถูกมันบงการ ไม่ว่าจะกระตุ้นให้อยากมี อยากได้ หรือกระตุ้นให้เกลียด อยากผลักไส อยากทำลาย คนเราเป็นทุกข์ก็เพราะการที่ปล่อยให้สิ่งต่างๆ มันเป็นสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้น จนมันมีอำนาจเหนือเรา
เราต้องรู้จักเปลี่ยนสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็น แล้วมันจะทำให้เราไม่ตกเป็นทาสของสิ่งภายนอกหรือสิ่งกระทบอีกต่อไป แถมได้ประโยชน์ด้วย อะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ก็ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้ามันกลายเป็นสิ่งถูกรู้ถูกเห็นไป เพราะมันสามารถจะแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ และสัจธรรมเหล่านี้ก็ทำให้ใจเราสามารถจะเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอิสระจากความทุกข์ได้
ฉะนั้น ฝึกเอาไว้ ฝึกรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง หรือถึงแม้ว่าจะเผลอปรุง เผลอแต่ง เผลอตัดสินให้ค่ามัน ก็รู้ มีอคติเกิดขึ้นไม่ว่าฉันทาคติ หรือโทสะคติ ก็รู้ทัน มีความโกรธเกิดขึ้น ก็รู้ทัน ถึงแม้ว่าจะห้ามใจไม่ให้ปรุงเป็นความโกรธ ปุถุชนก็ต้องมีความโกรธเกิดขึ้น แต่ว่ามันจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่มาบงการใจเราอีกต่อไป ถ้ามันกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็น มันก็จะหมดพิษสงลง แล้วก็จะกลายเป็นประโยชน์กับเรา
7/31/2023 • 25 minutes, 19 seconds 25660605pm--ดีที่รู้ว่าหลง
5 มิ.ย. 66 - ดีที่รู้ว่าหลง : ฉะนั้นคนที่รู้สึกว่าฟุ้งเยอะ ที่จริงมันดีนะ ดีประการแรกคือดีที่รู้ว่าฟุ้ง แล้วการที่จะรู้ว่าฟุ้งได้ แสดงว่าจิตมันกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หรือหลุดจากความฟุ้ง ถ้ามันไม่หลุดจากความฟุ้ง มันไม่รู้ตัวหรอกว่าฟุ้ง ถ้ามันไม่หลุดจากความหลง มันไม่รู้หรอกว่าเมื่อกี้นี้หลง แล้วการที่หลุดจากความหลง กลับมารู้ตัว ก็ถือว่าดี นี่ดีอย่างที่สองนะ
ดีอย่างแรกคือดีที่รู้ว่าหลง ดีที่สองคือดีที่กลับมา กลับมาเร็วกลับมาไว ดีที่สามคือว่า ยอมรับความหลง ยอมรับความฟุ้ง อันนี้ยากหน่อย เพราะว่านักปฏิบัติ พอมันหลง พอมันฟุ้ง จะทนไม่ค่อยได้ จะไม่ชอบ จะพยายามบังคับจิตไม่ให้หลง บังคับจิตไม่ให้ฟุ้ง คือพยายามห้ามความคิด หรือพอมันเผลอ พอมันเกิดหลงขึ้นมา ก็พยายามไปกดข่มอารมณ์ที่ทำให้หลง ความคิดที่ทำให้หลงก็ไปกดข่มมันเอาไว้ หรือมิฉะนั้นก็เกิดอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ ซึ่งก็เป็นตัวหลงอีกตัวหนึ่ง
ถ้าเราสามารถที่จะทำใจยอมรับความหลงได้ ยอมรับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ยอมรับคือไม่บ่น ไม่โวยวาย รับรู้มันด้วยใจที่เป็นกลาง อันนี้ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ แต่ทำยาก เพราะว่านักปฏิบัติจะมีความคาดหวังว่ามันต้องไม่ฟุ้ง มันต้องไม่หลง แล้วก็พยายามบังคับจิตไม่ให้หลงไม่ให้ฟุ้ง แต่ว่ายิ่งทำก็ยิ่งแย่ ยิ่งทำก็ยิ่งเครียด เพราะใจมันไม่ยอมอยู่ในอำนาจของเรา ต้องยอมที่ใจมันจะเผลอ ยอมที่ใจมันจะหลง เพราะมันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ
หน้าที่ของเราคือว่าได้ดูมัน เห็นมันด้วยใจที่เป็นกลาง อันนี้แหละคือความหมายหนึ่งของคำว่า รู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ ก็คือว่า รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง แต่นักปฏิบัติจะไม่ค่อยยอมให้ความหลงมันเกิดขึ้น จึงพยายามไปดักจ้องไม่ให้เผลอ หรือบังคับจิตไม่ให้คิด แต่ถ้าเราฝึกยอมรับความหลง อนุญาตให้มันคิดได้ ไม่ห้ามคิด ก็ถือว่าการปฏิบัติมีความก้าวหน้ามากขึ้น ก็ลองฝึกนะ ฟุ้ง หลง ถ้ารู้ว่าฟุ้งหลง ถือว่าดี หลงแล้วกลับมารู้เนื้อรู้ตัว ก็ดี แล้วก็ยอมให้มันหลงได้ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่
7/30/2023 • 21 minutes, 28 seconds 25660604pm--รู้แล้วทำก่อนสาย
4 มิ.ย. 66 - รู้แล้วทำก่อนสาย : แต่คนที่เขากำลังใจที่เข้มแข็ง ซึ่งความหมายนี้คือสมาธิ มันก็จะลงมือทำเลย พอรู้ว่าการออกกำลังกายดี ก็จะทำเลย ไม่มีการอิดออด คนเราจำเป็นมากที่จะต้องฝึกจิตให้เข้มแข็ง ให้มีกำลัง ชนิดที่พร้อมจะหนุนความรู้ที่มี รู้ว่าอะไรดี ทำเลย รู้ว่าอะไรไม่ดี ไม่ทำ อันนี้ต้องอาศัยใจที่มั่นคงเข้มแข็ง ไม่อย่างนั้นมันก็จะเกิดสิ่งที่เราอาจจะเคยได้ยิน ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้ รู้ว่ากิ๊กไม่ดี มีเมียน้อยไม่ดี มีชู้ไม่ดี แต่ก็อดใจไม่ได้ มันหักห้ามใจไม่ได้ รู้ว่าทุจริตไม่ดี แต่มันหักห้ามใจไม่ได้ มันก็เผลอทำ เรียกว่าจิตใจอ่อนแอ
ในทำนองเดียวกัน รู้ว่าอะไรดีแต่ไม่ทำ เพราะจิตใจอ่อนแอ และการที่คนเราจะมีใจเข้มแข็ง ส่วนหนึ่งจะต้องมีสติ มีความรู้สึกตัว เพราะถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว กิเลสก็เอาไปกินหมด ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว สิ่งดีๆ ที่อยากทำก็ทำไม่ได้ เพราะว่ามันยังเพลินอยู่กับความสุขสนุกสนาน ยังติดโทรศัพท์มือถือ ยังติดเกมออนไลน์ ก็เลยไม่สามารถที่จะเอาใจใส่ในการเรียนได้ นี่คือปัญหาของเด็ก
ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว มันก็พ่ายแพ้ต่อกิเลสได้ง่าย พ่ายแพ้ต่อความสุขชั่วครูชั่วยาม ซึ่งมันก็ทำให้เราผัดผ่อนไปเรื่อย อะไรที่ดี ควรทำ เราก็ผัดผ่อนไปเรื่อย เดี๋ยวๆ แทนที่จะเดี๋ยวนี้ ก็เดี๋ยวก่อนๆ ผัดไปเรื่อย สุดท้ายก็ไม่ได้ทำสักที เพราะว่ามันมีข้ออ้างอยู่เรื่อย
เพราะฉะนั้นคนเรารู้มากรู้เยอะ มันไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่า เราจะมีชีวิตที่ผาสุก หรือว่ามีพฤติกรรมที่ปลอดภัยได้ มันต้องมีจิตที่มั่นคง เข้มแข็ง หรือมิฉะนั้นก็ต้องรู้จักปลุกสังเวชขึ้นมา เพื่อให้มีแรงขับในการทำสิ่งที่ควรทำ ไม่อย่างนั้นมารู้อีกทีก็สายไปเสียแล้ว แล้วก็บ่นว่ารู้อย่างนี้ๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะมันสายไปเสียแล้ว
7/29/2023 • 26 minutes, 28 seconds 25660603pm--สัจธรรมนำใจให้พ้นทุกข์
3 มิ.ย. 66 - สัจธรรมนำใจให้พ้นทุกข์
7/28/2023 • 36 minutes, 47 seconds 25660602pm--แก่แต่กาย ใจสดใส
2 มิ.ย. 66 - แก่แต่กาย ใจสดใส : ที่จริงการอยู่ลำพังมันไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ แต่เป็นเพราะเราวางใจไม่เป็นต่างหาก ตรงนี้ที่ทำให้เป็นทุกข์ ถ้าเราวางใจให้เป็นมีสติ มีความรู้สึกตัว จิตใจก็จะมีความแช่มชื่นเบิกบาน สามารถพบความสุขภายใน สามารถจะเข้าถึงความสงบเย็นในจิตใจ แล้วถึงเวลาป่วย มันก็ป่วยแต่กาย แต่ว่าใจก็ยังสดใสได้ การอยู่ลำพัง มันจะไม่ใช่เป็นความวังเวง โดดเดี่ยว แต่มันเป็นความวิเวก มันเป็นความสงบที่สามารถจะเติมเต็มหรือหล่อเลี้ยงจิตใจได้
แต่เป็นเพราะคนไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องนี้เลย อาจจะเป็นเพราะประมาท หรือพอคิดว่าฉันก็จะยังเหมือนเดิมในอีก 30 ปีข้างหน้า 40 ปีข้างหน้า วันนี้ฉันยังแช่มชื่นเบิกบานอย่างไร 40 ปีข้างหน้า ฉันก็จะเป็นอย่างนั้น โดยที่ไม่ได้คิดว่า พอถึงตอนนั้น ร่างกายก็ไม่เหมือนเดิม จิตใจก็ไม่เหมือนเดิมถ้าไม่ได้ฝึก ฉะนั้นฝึกเอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เราจะได้มีเครื่องรักษาใจ เมื่อถึงในยามที่ชีวิตหรือร่างกายมันเข้าสู่ภาวะขาลง จิตใจก็ยังทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ เพราะว่ามีสติสมาธิ มีความรู้สึกตัวเป็นเครื่องหนุนช่วย
7/27/2023 • 28 minutes, 5 seconds 25660601pm--ปฎิบัติต่อความไม่ถูกต้องอย่างถูกต้อง
1 มิ.ย. 66 - ปฎิบัติต่อความไม่ถูกต้องอย่างถูกต้อง : หน้าที่ของเราคือว่าปฏิบัติกับมันอย่างถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติกับมันอย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้เราไม่ทุกข์แล้ว เรายังได้ประโยชน์จากมันด้วย อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า ความโกรธมันก็มีค่า ความเกลียดมันก็มีค่า ถ้าเราปฏิบัติกับมันอย่างถูกต้อง ปฏิบัติกับมันอย่างถูกต้องทำอย่างไร ก็แค่รับรู้หรือรู้ทันมัน แบบรู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ รู้โดยไม่ตัดสินว่าแบบนี้ไม่ดี อย่างนี้ไม่ดี ไม่มีการตัดสินว่าดีไม่ดี ความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ตัณหาราคะที่เกิดขึ้น ถ้าเรามองหรือรับรู้มันด้วยสติ แบบว่ารู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ไม่มีการตัดสินให้ค่าว่าดีไม่ดี ควรไม่ควร เท่านี้ก็ทำให้อารมณ์พวกนี้มาครองใจเราได้ยาก
แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า เราสามารถจะเห็นประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากมันด้วย ทั้งในแง่ที่ว่ามันมาฝึกให้เรามีสติรู้ทัน สติเราจะว่องไวปราดเปรียวก็เพราะมีอารมณ์พวกนี้โผล่เข้ามาฝึกฝน และต่อไปมันก็จะแสดงธรรม แสดงสัจธรรมให้เราเห็น ว่ามันก็ไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ มันก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เห็นไตรลักษณ์ก็ไม่ได้เห็นจากไหนหรอก ก็เห็นจะอารมณ์อกุศลเหล่านี้แหละ รวมทั้งเห็นจากเวทนาฝ่ายลบ คือทุกขเวทนา มันไม่ควรเกิดขึ้นในสายตาของบางคน แต่ว่ามันถูกต้องแล้วที่มันเกิด แล้วถ้าเราวางใจให้ถูกต้อง เราก็ได้ประโยชน์จากมันด้วย อาศัยมันเป็นเครื่องฝึกจิตให้มีสติ อาศัยมันเป็นเครื่องสอนทำให้ใจเกิดปัญญา
แน่นอน ความไม่ถูกต้องในโลกเราก็ต้องพยายามทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ มีความถูกต้องม ีความยุติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ เป็นเรื่องการทำกิจ แต่ก็ไม่ทิ้งการทำจิต เมื่อมันเกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าเกิดขึ้นกับสิ่งรอบตัว เกิดขึ้นกับสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง ทรัพย์สินร่างกาย คนรัก หรือเกิดขึ้นกับจิตใจของเรา เราก็ไม่มัวแต่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพายว่า ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่แฟร์ แต่เราจะเรียนรู้จากมัน และใช้มันให้เกิดประโยชน์ โดยที่รักษาใจเราไม่ให้ทุกข์ด้วย
7/26/2023 • 26 minutes, 9 seconds 25660531pm--ทำอย่างไรจึงมีชีวิตเต็มร้อย
31 พ.ค. 66 - ทำอย่างไรจึงมีชีวิตเต็มร้อย : ถ้าเราปล่อยใจเป็นอย่างนั้น ต่อไปเรานอกจากไม่มีสติอยู่กับสิ่งที่ทำ คนที่กำลังเกี่ยวข้องแล้ว เราก็จะเต็มไปด้วยความเครียดความวิตกกังวล เพราะเวลาคิดไปเรื่องอดีตก็ตามเรื่องอนาคตก็ตาม มันมักจะตามด้วยความโกรธความโมโห ความรู้สึกผิด ความวิตกกังวล ความหงุดหงิดรำคาญใจ แล้วมันทำให้เราไม่สามารถจะมีชีวิตอย่างแท้จริง หรือเรียกว่าไม่สามารถจะมีชีวิตเต็มร้อยได้
แล้วสิ่งดีๆ ที่เราอยากจะทำก็เลยทำไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิอยู่กับสิ่งนั้น หรืออาจจะไม่ได้ทำเลยก็ได้เพราะว่าใจมัวแต่ไหลลอยไปกับสิ่งอื่น เรียกว่าอยู่ในความหลง เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยในการฝึก เราจึงจะสามารถรักษาใจให้มาอยู่กับตัวเอง มามีความรู้สึกตัว อยู่กับเนื้อกับตัวได้
แล้วถ้าเราไม่ฝึก ใจของเรามันก็มีแต่จะเข้ารกเข้พคงไปเรื่อยๆ แล้วก็หลงเข้าไปในโลกของความคิด แล้วจมอยู่ในหลุมอารมณ์ จนบางทีไม่สามารถจะฉุดใจออกมาได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ถ้าเราไม่ฝึก ปล่อยใจไปตามสบายก็จะลงเอยด้วยความทุกข์ ลงเอยด้วยความหลง ไม่สามารถจะมีชีวิตเต็มร้อยได้อย่างแท้จริง
7/25/2023 • 25 minutes, 54 seconds 25660530pm--สิ่งที่คิดอาจไม่ใช่สำหรับเรา
30 พ.ค. 66 - สิ่งที่คิดอาจไม่ใช่สำหรับเรา : มันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเรา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการปฏิบัติธรรม แต่บางครั้งเวลาที่เราจะตัดสินใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต แล้วเราก็เกิดความไม่กล้าขึ้นมา เช่น บางคนก็ไม่ชอบชีวิตที่ต้องกินเงินเดือน แต่พอนึกถึงการที่ต้องไปทำอาชีพที่ต้องพึ่งตัวเองเป็นผู้ประกอบการเอง รู้สึกว่ามันยาก รู้สึกว่ามันลำบาก รู้สึกว่ามันไม่ใช่ อันนี้อาจเป็นความคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็ได้ เพราะถ้าได้ลองทำดูอาจจะพบว่ามันใช่
เหมือนหลายคนที่ไม่อยากจะทิ้งงานที่กินเงินเดือนเพราะว่ามันมั่นคง แต่เหตุจำเป็นต้องทำให้ต้องออกจากงานที่ว่า แล้วต้องไปค้าขาย ไปทำร้านอาหาร ไปขายสินค้าออนไลน์ แล้วพบว่า เออ มันใช่นะแต่ก่อนนี้ไม่กล้า เพราะไปมองว่ามันมีข้อเสียเยอะ มีข้อดีน้อย แต่จริงๆ แล้วเป็นการมองที่คลาดเคลื่อน หรือบางคนไม่ชอบชีวิตในกรุงเทพฯ แต่ว่าไม่กล้า ไม่อยากที่จะไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัด เพราะว่ามองเห็นแต่ปัญหา มองเห็นแต่ข้อเสีย แต่พอมีเหตุจำเป็นให้ต้องออกไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัด ก็พบว่ามันใช่ มันคือสิ่งที่ชีวิตเราต้องการ แต่ทำไมก่อนหน้านั้นไม่กล้า ก็เพราะมองเห็นแต่ข้อเสีย ข้อดีมองไม่ค่อยเห็น
มันชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดน่าจะไม่ตรงความเป็นจริงก็ได้ แล้วเราจะรู้อย่างไรว่ามันใช่หรือไม่ใช่ เหมาะกับเราหรือไม่ หรือเป็นประโยชน์กับเราหรือไม่ ก็ต้องทดลองปฏิบัติ ทดลองทำดู อย่าไปเชื่อความคิดของตัวเองมากเกินไป เพราะว่าสิ่งที่คิดอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้
แล้วคนเราจะว่าไปแล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ อะไรคือสิ่งที่จะให้ความสุขของเราจริงๆ สิ่งที่เราเชื่อว่ามันจะให้ความสุขกับเราอาจจะไม่ใช่ก็ได้ หรือสิ่งที่เราเชื่อว่ามันยากลำบาก ที่จริงมันอาจจะเป็นสิ่งที่ให้ความสุขแก่เราก็ได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปเชื่อความคิดมาก ต้องลองทำต้องลองปฏิบัติแล้วก็เรียนรู้ด้วยตัวเองถึงจะรู้ว่านี้ใช่หรือไม่ใช่
7/24/2023 • 24 minutes, 52 seconds 25660529pm--ดำเนินชีวิตด้วยใจใฝ่รู้
29 พ.ค. 66 - ดำเนินชีวิตด้วยใจใฝ่รู้ : ถ้าหากว่าเราพร้อมที่จะเรียนรู้จากทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ ความเครียด ความหงุดหงิดผิดหวังมันก็จะน้อย อารมณ์ ความหงุดหงิดผิดหวัง ความเครียด มันเกิดขึ้นเฉพาะคนที่แสวงหาความสงบในจิตใจ พอใจไม่สงบก็ผิดหวัง ก็หงุดหงิด พอมันมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมากมาย ก็หงุดหงิด เพราะไม่เป็นไปดั่งใจ เพราะมันไม่ถูกใจ แต่ถ้าหากปฏิบัติเพราะต้องการรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับใจ อารมณ์ใดเกิดขึ้นกับใจก็ได้ความรู้
ที่จริงถ้าวางใจแบบนี้ พอเจอทุกข์ แทนที่จะเป็นทุกข์ ก็จะกลายเป็นรู้ทุกข์ไป พระพุทธเจ้าก็สอนว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ อันนี้คนที่มุ่งแสวงหาความสะดวกสบายจะไม่เข้าใจ ว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ได้อย่างไร แต่คนที่ใฝ่รู้ ก็จะได้เปรียบ เพราะว่าเมื่อมีทุกข์แล้ว เราก็ควรจะรู้ทุกข์ ถ้าเรารู้ทุกข์เราก็ไม่เป็นทุกข์ คนที่ใฝ่รู้ เวลาเจอทุกข์ เขาจะพยายามรู้ทุกข์ รู้จักทุกข์ให้มากขึ้น ว่ามันมีสภาวะอย่างไร เกิดจากอะไร ส่วนคนที่แสวงหาความสะดวกสบาย พอเจอทุกข์ก็จะหงุดหงิด โวยวายตีโพยตีพาย เข้าไปเป็นผู้ทุกข์ ก็เลยทุกข์หนักขึ้น
ฉะนั้นไม่ว่าในการดำเนินชีวิตหรือจะเป็นผู้ปฏิบัติก็ตาม ให้เราพยายามรักษาท่าทีหรือสำนึกของการเป็นผู้ใฝ่รู้เอาไว้ อย่าเป็นผู้ใฝ่เสพ อย่าเป็นผู้แสวงหาความสะดวกสบาย แต่เป็นผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้จากทุกข์ เจอทุกข์ก็ยอมรับและเรียนรู้จากมัน อย่างนี้แหละจึงจะก้าวออกจากทุกได้
7/23/2023 • 26 minutes, 53 seconds 25660528pm--ทำอย่างไรจะไม่เสียใจกับอดีต
28 พ.ค. 66 - ทำอย่างไรจะไม่เสียใจกับอดีต : แต่ถ้าเกิดคนเรามีสติ ไม่ปล่อยให้ใจมันไหลไปตามสิ่งล่อเร้าเย้ายวน จนลืมสิ่งที่สมควรทำ หรือไม่ปล่อยใจให้เพลินกับอยู่กับสิ่งที่ควรจะทำให้น้อยลง เราก็จะสามารถทำสิ่งที่ดีๆ ตั้งแต่ตอนนั้นเลย อะไรที่ควรทำให้น้อยลงก็ทำตั้งแต่ตอนนั้น อะไรที่ควรทำให้มากขึ้นก็ทำตั้งแต่ตอนนั้น คือตอนที่ยังหนุ่มยังสาว ตอนที่ยังมีกำลังวังชา ตอนที่ยังไม่เจ็บไม่ป่วย ตอนที่ยังไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น รวมทั้งเวลามีความโกรธ ความโมโหกับอะไรที่มันเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ไม่ปล่อยให้ครอบงำใจ จนกระทั่งทำในสิ่งที่ต้องมาเสียใจภายหลัง หรือเกิดผลเสียตามมา
สติมันช่วยไม่ให้เราไปเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายกับอารมณ์ต่างๆ หรือกับเหตุการณ์ขณะที่เกิดขึ้น มันเป็นตัวยั้งไม่ให้ไปหมดเนื้อหมดตัวกับอารมณ์ จนกระทั่งต้องมาเสียใจเมื่ออายุมากขึ้นว่าเราไม่น่าเลย ขณะเดียวกันก็ทำให้เราไม่ไปเพลินกับสิ่งต่างๆ จนลืมทำสิ่งที่สมควรทำ
ถ้าเราไม่อยากจะเสียใจกับอดีตที่ผ่านมา การครองตนให้มีสติสำคัญมาก นอกจากเราจะรู้ว่าอะไรควรทำให้น้อยลง อะไรควรทำให้มากขึ้นแล้ว เราสามารถจะลงมือทำได้ ไม่ใช่รู้แต่ไม่ทำ เพราะว่ายังเพลินอยู่กับอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างที่เขาพูด ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ ที่อดใจไม่ได้เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้วมันอดใจได้ อะไรที่ควรทำให้น้อยลงก็ทำได้ อะไรที่ควรทำให้มากขึ้นก็ทำได้ แล้วก็ทำตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ไม่ใช่มาเสียอกเสียใจตอนที่แก่แล้ว
7/22/2023 • 25 minutes, 7 seconds 25660526pm--ความหมายของสังฆทาน
26 พ.ค. 66 - ความหมายของสังฆทาน : เราก็อย่านึกแต่เรื่องการทำบุญอุทิศให้ ต้องนึกไปถึงเรื่องการสืบทอดความดีของท่าน ความดีของท่าน หรือว่าสิ่งดีๆ ที่ท่านทำเราก็ต้องสืบทอดด้วย ความดีที่ท่านทำเช่น ท่านอาจจะเป็นคนที่ชอบบำรุงอุปถัมภ์ศาสนา ส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์ ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ชอบปลูกป่าอนุรักษ์ธรรมชาติ ชอบสงเคราะห์คนทุกข์คนยากไร้ แล้วก็ชอบสงเคราะห์สัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง นี่คือความดีที่ท่านทำ เราก็ควรจะสืบทอด สืบต่อความดีของท่านเหล่านั้น
ไม่ใช่ว่าเอาแต่ทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอย่างเดียว แต่ว่าไปปลูกป่าเพื่อสืบทอดสิ่งที่ท่านทำ สงเคราะห์สัตว์ ช่วยเหลือคนทุกข์คนยาก เป็นการสืบทอดสืบต่อความดีของท่าน นั่นก็เป็นบุญเหมือนกัน มันเกิดบุญที่ใจเรา แล้วเกิดบุญให้กับผู้คน เป้าหมายที่ได้รับอานิสงส์จากการทำความดีนั้น และรวมถึงเราก็อยากจะอุทิศบุญกุศลนั้นให้กับผู้ที่ล่วงลับซึ่งอยู่ในปรโลก
เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงการทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับ อย่าเจาะจงแต่เรื่องการถวายสังฆทาน ในแง่หนึ่งเราก็ต้องถวายสังฆทานอย่างถูกต้อง ว่าเป็นสังฆทานจริงๆ ในอีกแง่หนึ่งเราก็พยายามสืบทอดความดีของท่าน สืบทอดงานของท่านทำด้วย จะได้เรียกว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณของท่าน"
เสียงธรรมจากหลวงพ่อไพศาล วิสาโล
บรรยายที่ ยุวพุทธิกสมาคม
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖
7/20/2023 • 27 minutes, 7 seconds 25660521pm--ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด
21 พ.ค. 66 - ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด : อนิฏฐารมณ์มันมีหลายระดับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ เหตุร้ายที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา มันมีหลายระดับ เราสามารถที่จะฝึกใจจากอนิฏฐารมณ์ หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อเจอคำต่อว่าด่าทอ หรือว่าเมื่อสูญเสียทรัพย์ เมื่องานการมีอุปสรรค เมื่อคนที่อยู่รอบข้างไม่เป็นดั่งใจ มันจะเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความผิดหวัง
แต่ถ้าเราสามารถจะฝึกจิตจากอารมณ์เหล่านี้ได้ ฝึกให้รู้จักรู้ทันอารมณ์เหล่านี้ และรู้จักปล่อยวาง ไม่ให้มันมาครอบงำใจ รวมทั้งนอกจากรักษาใจให้เป็นปกติในยามที่เจอสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังสามารถหาประโยชน์จากมันได้
อย่างที่ได้กล่าวตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า เมื่อเจออนิฏฐารมณ์หรือเจอทุกข์ สิ่งที่เราพึงกระทำมี 2 ประการ 1. รักษาใจไม่ให้ทุกข์ 2. หาประโยชน์จากมันให้ได้ สองประการนี้เราสามารถจะฝึกได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องรอให้เราเจ็บไข้เสียก่อน ถึงค่อยมาฝึกทั้งสองประการนี้ เพราะถึงตอนนั้นก็อาจจะไม่ทันการแล้ว
เวลาเจออากาศร้อน เจอรถติด เจอคนผิดนัด เจอคำต่อว่าด่าทอ หรือแม้แต่เจอเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ไม่ถูกใจ เราก็สามารถที่จะฝึกจิตให้รู้จักวางใจไม่ให้ทุกข์ และยังสามารถหาประโยชน์จากมันให้ได้ ถ้าเราเตรียมหรือฝึกฝนตรงนี้อยู่เสมอ จนกระทั่งแคล่วคล่องชำนาญ ถึงเวลาเจอความเจ็บไข้ไม่ว่าน้อยหรือใหญ่ เราก็สามารถจะยกจิตให้เหนือทุกข์ วางใจให้เป็นปกติ และสามารถเกิดความเติบโตงอกงามในทางธรรมได้ เพราะเรารู้จักหาประโยชน์จากทุกข์ ให้ทุกข์มันสอนธรรมแก่เรา โดยเฉพาะสัจธรรม
7/19/2023 • 40 minutes, 50 seconds 25660519pm--ปฎิบัติธรรมไปกับการทำงาน
19 พ.ค. 66 - ปฎิบัติธรรมไปกับการทำงาน : เห็นความทุกข์ของผู้คนแล้ว ทำให้ความทุกข์ของเรากลายเรื่องเล็ก เห็นประโยชน์ของส่วนรวม มันก็ทำให้เราเอาตัวเองเป็นใหญ่น้อยลง ยอมลดราวาศอก หรือยอมลดความต้องการ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความอดกลั้นมากขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าระเบิดออกไป มันจะเกิดความขัดแย้ง เกิดเรื่องวุ่นวาย การงานก็ล้มเหลว หรือว่าหมู่มิตรก็แตกแยก พอคิดถึงส่วนรวม ก็ทำให้รู้จักอดกลั้นต่อกับอารมณ์ แล้วยิ่งเจอคำต่อว่าด่าทอ คำวิพากษ์วิจารณ์ ก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัดในการลดอัตตา เจอความล้มเหลวก็ถือว่าดี ได้เรียนรู้ มันเป็นการภาวนาไปพร้อมๆ กันได้
ถ้าหากว่าทำอย่างนี้ ก็จะเป็นอย่างที่บางครั้งท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ยิ่งทำงาน กิเลสก็ยิ่งลดลง อัตตาก็เบาบางลง และประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นกับส่วนรวม ไม่ว่าจะงานบุญ งานสังคม ก็เพิ่มพูนมากขึ้น
เพราะฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติธรรม ก็ให้เราเข้าใจให้ดีๆ ว่า มันไม่ใช่แค่การต้องมาปฏิบัติกันในวัด แต่จะต้องนำเอาไปปฏิบัติท่ามกลางการทำงาน ท่ามกลางการใช้ชีวิต แล้วก็ใช้งานการนั่นแหละเป็นเครื่องฝึกฝนขัดเกลาตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย
7/16/2023 • 27 minutes, 51 seconds 25660518pm--ความหลงหายไป เมื่อใจกลับมารู้สึกตัว
18 พ.ค. 66 - ความหลงหายไป เมื่อใจกลับมารู้สึกตัว : นอกจากฝึกใจไม่ให้บังคับจิต แต่ว่าอนุญาตให้มันมีความคิดมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แล้วก็รู้สึกเป็นกลางต่ออารมณ์เหล่านั้น วางความชอบความชังลง เพราะถ้ามีความชังเมื่อไหร่ มันก็จะไปบังคับจิตไม่ให้มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ไม่ให้มีความโกรธ ความเกลียดเกิดขึ้น นอกจากไม่บังคับจิตแล้วก็ไม่ดักจ้องมองความคิดและอารมณ์ ให้สติเขาได้ทำงานของเขา ให้โอกาสสติเขาได้ทำงาน เราไม่ต้องทำแทนเขา แล้วพอรู้ว่ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ก็สักแต่ว่ารู้สึกซื่อๆ วางใจเป็นอุเบกขา ไม่ต้องไปกดข่ม ผลักไส หรือไม่ต้องไปไหลตาม
อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว และการรู้ธรรมที่สำคัญ หรือธรรมะเบื้องสูง ซึ่งสามอย่างนี้เป็นสิ่งที่ทวนกระแสนิสัยความเคยชินเดิมๆ ที่ชอบบังคับจิต ที่ชอบไปดักจ้องมองจิตมองอารมณ์ แล้วก็ชอบไปกดข่มอารมณ์ความคิดที่ไม่ชอบ
การที่จะฝึกใจให้ไม่ผลัดเข้าไปในนิสัยแบบนี้ มันต้องอาศัยการสร้างนิสัยใหม่ นิสัยที่อนุญาตให้ความคิดและอารมณ์เกิดขึ้น แล้วก็ให้รู้จักเห็น ไม่เข้าไปเป็น รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ให้โอกาสสติเขาได้ทำงาน ไม่ต้องไปทำงานแทนเขา แล้วอย่างนี้แหละก็จะทำให้สติเจริญก้าวหน้า และความรู้สึกตัวก็จะเพิ่มพูนมากขึ้น จนสามารถที่จะขับไล่ความหลงออกไปจากใจ และมีความรู้สึกตัวมาแทนที่มากกว่าความหลง
7/13/2023 • 25 minutes, 16 seconds 25660517pm--ไม่ถือก็ไม่ทุกข์
17 พ.ค. 66 - ไม่ถือก็ไม่ทุกข์ : ถ้าเห็นไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเบื่อ ความเศร้าเนี่ย มันไม่ทุกข์นะ แต่เพราะไปยึดเอาว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา หรือเข้าไปเป็นเนี่ย จึงทุกข์ แล้วทำไมถึงยึด ก็เพราะว่าไม่รู้ตัว เพราะความหลง แล้วความโกรธเกิดขึ้น เพราะถือ ถือเอาคำพูดของเขา หรือไปยึดเอาคำพูดของเขามาปรุงให้เกิดความโกรธเท่านั้นยังไม่พอ ยังไปยึดเอาความโกรธมาเป็นเราเข้าไปอีก
ทีแรกเผลอ ปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นเพราะถือ ถือในการกระทำคำพูดของเขา แต่เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรามีสติรู้ตัว แค่เห็นเฉยๆ ไม่เข้าไปเป็น มันก็ไม่ทุกข์นะ แต่เพราะไม่เห็น เข้าไปเป็น เข้าไปยึด ไอ้ตรงเข้าไปยึดนี่แหละ มันคือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์ในใจเรา ตรงนี้ถึงบอกว่า สมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ มันอยู่ที่ใจเราด้วย อยู่ที่เราไปร่วมมือกับเขา ฉะนั้น ถ้าเราไม่ถือ เราก็ไม่โกรธ หรือถึงโกรธ แต่ไม่ไปยึดในความโกรธนั้น มันก็ไม่ทุกข์
อันนี้คือสิ่งที่เราต้องมองให้เห็น แล้วจะเห็นได้ก็ต้องหมั่นสังเกตใจของเราอยู่บ่อยๆ แล้วเราก็จะรู้ว่า ไม่ว่าจะเจออะไร ใจเราไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าใจเราไม่ถือ หรือไม่เข้าไปยึด หรือรู้จักวางใจให้ถูก มันไม่จำเป็นต้องไปแก้ที่ใคร ไม่ต้องไปจัดการกับใคร สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือจัดการที่ใจของเรา ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว ให้มีปัญญา
7/12/2023 • 24 minutes, 22 seconds 25660516pm--ใจไม่ทุกข์เพราะมีธรรม
16 พ.ค. 66 - ใจไม่ทุกข์เพราะมีธรรม : ความโกรธ ความขุ่นเคือง มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ถ้าเราเห็นมัน ถ้าเรารู้จักวางใจเป็นกลางกับอารมณ์เหล่านี้ หรือถ้าเราไม่ยึดติดถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้น มันก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้ แต่เพราะเราเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น เราจึงทุกข์ การฝึกสติก็คือการมาฝึกใจให้เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ให้เป็น เราห้ามมันไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนกับเราห้ามเสียงดัง อากาศร้อน คำต่อว่าด่าทอ ไม่ให้เกิดขึ้นกับเรานี่ยาก แต่เราสามารถที่จะรับมือกับมัน รู้ทันมัน และไม่ปล่อยให้มันมาบีบคั้น หรือว่าย่ำยีจิตใจได้
การที่เราจะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งภายนอก ภายใน ให้มีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเรา มันเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เรารู้จักนำธรรมะมารักษาใจไม่ให้เป็นทุกข์ เพราะมัน เราทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเรามีสติ มีปัญญา เราก็จะวางใจ หรือมีท่าทีที่ถูกต้องกับสิ่งเหล่านั้น มันมาแต่เราไม่ยึด มีแต่ไม่เอา เกิดขึ้นแต่รู้ทัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ใจก็เป็นปกติ สงบ สงบไม่ใช่เพราะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่สงบเพราะเราวางใจได้ถูกต้อง เพราะใช้สติมารักษาใจ
7/10/2023 • 24 minutes, 44 seconds 25660515pm--ชีวิตเลือกได้
15 ก.พ. 66 - ชีวิตเลือกได้ : เอาเข้าจริงๆ เราก็เลือกได้ว่า จะเป็นคนแก่ที่อารมณ์เย็น ผ่อนคลาย รู้จักปล่อยวาง หรือเป็นคนแก่ที่เอาแต่หงุดหงิดหัวเสีย เจ้าอารมณ์ ขี้บ่น หรือว่าซึมเศร้า สุดท้ายเราเลือกได้แม้กระทั่งว่า เมื่อถึงวาระสุดท้าย เราจะตายแบบไหน ตายด้วยใจสงบ หรือตายด้วยความทุรนทุราย เพราะปล่อยวางอะไรต่ออะไรก็ไม่ได้ เพราะมีความรู้สึกผิดติดค้างใจ เพราะมีความโกรธเกรี้ยว คับแค้นพยาบาท
หลายคนอย่าว่าแต่ระยะสุดท้ายเลย ที่จริงไม่ต้องรอให้แก่ก็ได้ บางคนพอถึงวัยกลางคน จิตใจจมดิ่งอยู่ในความทุกข์มาก ถูกอารมณ์จู่โจมหรือว่าครอบงำจิตชนิดที่ไม่สามารถจะถอนใจออกจากอารมณ์พวกนี้ได้ เพราะเขาไม่ยอมที่จะเลือกว่า จะมีชีวิตที่เป็นอิสระจากอารมณ์นี้หรือเปล่า หรือว่าเลือกว่าเมื่อมีสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ เราจะไม่โกรธไม่โมโห แต่เราจะตั้งมั่นอยู่ในความสงบ เป็นเพราะไม่เลือกในขณะที่มีเวลา พอปล่อยเวลาผ่านเลยไปๆ ก็กลายเป็นว่าถูกอารมณ์พวกนี้ครอบงำ จนกระทั่งไม่มีสิทธิ์เลือก แล้วก็อยู่แบบทุกข์ทรมา นอยู่ด้วยความร้อนรุ่ม แล้วก็ตายด้วยใจที่ไม่สงบ
อันนี้เห็นเยอะมาก เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักเลือกในสิ่งที่สำคัญ ในขณะที่ยังมีเวลา หรือถึงเลือก หรือถึงรู้ว่าอยากจะมีชีวิตจิตใจ อารมณ์แบบไหน แต่ไม่ลงมือทำอย่างที่เลือก ก็มีผลเหมือนกัน คือสุดท้ายก็เลือกไม่ได้ ปล่อยให้อารมณ์และความทุกข์มาเป็นนาย ซึ่งก็นับว่าน่าเสียดายมาก
7/10/2023 • 26 minutes, 7 seconds 25660501pm--ทุกข์เพราะอยาก
1 พ.ค. 66 - ทุกข์เพราะอยาก : ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ มันหนีไม่พ้นนะคนเรา หรือพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ก็เป็นสิ่งที่คนเราหนีไม่พ้น แต่ถ้าเราไม่ให้ความอยากเข้ามาผสมโรงในสองสิ่งนี้ มันก็จะทุกข์น้อยลง ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ เช่น ความเจ็บความป่วย ความแก่ คำต่อว่าด่าทอ มันก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว แต่ถ้าตั้งความมุ่งมั่นว่าฉันขอให้ได้เจอสิ่งเหล่านี้เลย พอเจอเข้ามันทุกข์กว่าเดิม หรือว่าขอให้ฉันได้พบกับสิ่งที่รักที่พอใจ แค่นี้พอไม่ได้ก็ทุกข์อยู่แล้ว แต่ถ้ามีความอยาก อยากให้ได้สิ่งที่รักที่พอใจ ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่
เราอาจจะหนีไม่พ้นนะ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ หรือพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ หนีไม่พ้น แต่อย่างน้อยอย่าให้ความยากมันเข้าไปเจือปนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราอยากจะดำเนินชีวิตให้มีความทุกข์น้อยลง อย่างน้อยๆ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น หรือว่าความยึดความยากของเรา ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม ก็อย่าให้มันครองจิตครองใจมาก มันมีได้ คนเราหนีไม่พ้นหรอก เพราะยังมีกิเลสอยู่ แต่ว่าก็ให้รู้ทัน แล้วก็เตือนตนอยู่เสมอ ว่ามีความอยากเมื่อไหร่ มันก็มีความทุกข์เมื่อนั้น แล้วอยากมากก็ทุกข์มาก อยากน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ว่าสิ่งที่อยากจะเป็นอะไรก็ตาม
เมื่อเรารู้เห็นโทษของความอยากแล้ว ก็จะได้จำกัดขอบเขตความอยาก ไม่ให้มันรุนแรงเกินไป หรืออย่างน้อยก็รู้ทัน แล้วก็เตือนตนด้วยนะว่ามันไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีใครที่ได้ทุกอย่างสมอยาก ฉะนั้นถ้าอยากสิ่งใดก็เตรียมใจทุกข์ไว้ได้เลย อันนี้ก็ช่วยเตือนสติให้กับคนเราได้
7/6/2023 • 24 minutes, 24 seconds 25660430pm--เพื่อนดีที่กลางใจ
30 เม.ย. 66 - เพื่อนดีที่กลางใจ : ต้องมีเพื่อนแบบนี้ในใจของเรา ไม่ใช่ว่าจะหวังแต่เพื่อนข้างนอกที่เขายอมรับอย่างที่เราเป็นได้ในทุกกรณี แต่ว่าเราต้องมีเพื่อนในใจ ที่ทำให้เราสามารถจะยอมรับทุกความคิดทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ปล่อยให้มันมาครอบงำใจ หรือไม่เป็นทุกข์เพราะมัน เพราะจริงๆ แล้วมันก็เป็นธรรมดา
และที่จริงถ้าเรามีสัมมาสติดีพอนะ เราก็สามารถที่จะเปลี่ยนความคิดและอารมณ์ที่ไม่ดีให้กลายเป็นของดีขึ้นมาได้ เพราะมันทำให้เรารู้จักตัวเอง ทำให้เรารู้เท่าทันกิเลส ทำให้เราไม่หลงประมาทตัวเองว่าฉันดีพร้อม ทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งช่วยทำให้เกิดความระมัดระวังในการไม่ปล่อยใจให้อารมณ์พวกนี้ครอบงำ
เราต้องหานะ หาเพื่อนที่ดีกลางใจของเรา เพื่อนที่ว่านี้ก็คือ “สัมมาสติ” ต้องรู้จักพัฒนาความสามารถในการที่จะยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจด้วยความรู้สึกที่เป็นกลางได้ แล้วสิ่งนี้มันก็จะช่วยทำให้ความรู้สึกลบหรือความคิดลบๆ นอกจากไม่ทำให้เราเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่สามารถจะบงการให้เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้
7/4/2023 • 26 minutes, 2 seconds 25660429pm--เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นความรู้
29 เม.ย. 66 - เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นความรู้ : ถ้าเราไม่รู้จักทุกข์ ไม่เรียนรู้จากทุกข์ เราจะเป็นอิสระจากความทุกข์ยากได้อย่างไร เราจะเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ เราก็ต้องรู้จักทุกข์ แล้วเราจะต้องรู้จักทุกข์ได้อย่างถ่องแท้ ก็ต้องเจอทุกข์ซะก่อน ถ้ากลัวทุกข์ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ ก็เหมือนกับคนที่อยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องยอมที่จะเจอความล้มเหลว แล้วเมื่อเจอความล้มเหลว ก็เปลี่ยนความล้มเหลวให้กลายเป็นความรู้ แล้วความรู้นี่แหละก็จะนำไปสู่ความสำเร็จ ความทุกข์ก็เหมือนกัน เจอทุกข์แล้วเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความรู้ ความรู้ในทุกข์ และความรู้ในทุกข์นั้น มันจะพาให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์ได้
7/4/2023 • 25 minutes, 55 seconds 25660428pm--ยิ่งมองตน ยิ่งนึกถึงคนอื่น
28 เม.ย. 66 - ยิ่งมองตน ยิ่งนึกถึงคนอื่น : เพราะหมั่นมองตนนั่นแหละ จึงนึกถึงผู้อื่นหรือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น เพราะว่าทำให้ความเห็นแก่ตัวน้อยลง แต่ถ้ามองตนน้อยเท่าไหร่ ก็นึกถึงคนอื่นน้อยเท่านั้น เพราะว่าจิตใจก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ยิ่งมีความกลัวเป็นเจ้าเรือน มันยิ่งง่ายมากที่จะทำร้ายคน ถ้าหากว่ามีโอกาส เพียงเพื่อให้ตัวเองมีความปลอดภัย หรือว่าไม่มีภัยมาคุกคาม หรือหนักกว่านั้นก็คือไปทำร้ายคน เพื่อที่จะปรนเปรอตน ด้วยเงิน ด้วยทรัพย์ ด้วยความสุขชั่วครูชั่วยาม
ถ้าเราปฏิบัติธรรม หัวใจของการปฏิบัติธรรมคือการหมั่นมองตน หมั่นมองตนก็คือหมั่นรู้ความทันความคิด รู้ทันกิเลส รู้ทันความเห็นแก่ตัว แล้วมันจะช่วยทำให้ความเห็นแก่ตัวเบาบาง มีอำนาจครอบงำจิตใจเราน้อยลง แล้วเปิดช่องให้ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจเจริญงอกงามขึ้น
แล้วยิ่งทำก็จะยิ่งพบว่ามีความสุข อย่างคุณปู่แม้ว่าจะดูเหนื่อยกาย แต่ว่าแกมีความสุข จากการที่ได้ช่วยคนไม่ให้ฆ่าตัวตาย แกมีความสุข แกจึงทำทุกวัน แล้วยิ่งทำทุกวัน แล้วยิ่งมีความสุขมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเกิดแรงจูงใจที่จะทำเพื่อผู้อื่นมากขึ้น แล้วมันก็ไปด้วยกัน ถ้าเราหมั่นมองตน เราก็จะนึกถึงผู้อื่น แล้วเมื่อเราทำเพื่อผู้อื่น เราก็จะมีความสุข แล้วความสุขที่สัมผัสในใจได้ มันก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นมากขึ้น
7/4/2023 • 29 minutes, 15 seconds 25660423am--สละเพื่อละตัวตน
23 เม.ย. 66 - สละเพื่อละตัวตน : เดี๋ยวนี้ทำอะไรไม่มีคนกดไลค์หรือกดไลค์น้อยก็ทุกข์แล้ว แค่เขาไม่ชมก็ทุกข์แล้ว นับประสาอะไรกับคำตำหนิหรือเม้นแรงๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นธรรมดามากเลยการเม้นแรงๆ ทำอะไรก็ตาม ดีแค่ไหนก็มีคนเม้นว่าไปทางลบอยู่เสมอ เพราะนี่เป็นโลกของความหลากหลายที่คนเราคิดต่างกันแบบ 180 องศาเลย
เพราะฉะนั้นทำความดีก็อย่าไปหวังคำสรรเสริญ แล้วก็ไม่หวั่นไหวกับการถูกคอมเม้นถูกวิจารณ์ เราก็จะอยู่ได้ในโลกนี้อย่างมีความผาสุก เรียกว่าอยู่เหนือโลก ตัวอยู่ในโลกแต่ใจอยู่เหนือโลก คือโลกธรรม ไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญหรือคำนินทา
แม้ได้ยศก็ไม่เพลิดเพลิน แม้ได้ลาภก็ไม่ปลาบปลื้ม เพราะรู้ว่ามันเป็นของไม่เที่ยง ดังนั้นเมื่อเสื่อมลาภจิตใจก็ไม่เศร้าหมอง เสียแต่ทรัพย์แต่ใจก็ไม่เสีย ไม่ซ้ำเติมตัวเองให้ทุกข์ อันนี้เราสามารถเริ่มได้จาก
เสียงธรรมจากหลวงพ่อไพศาล วิสาโล
บรรยายที่ Royal Gems
7/4/2023 • 24 minutes, 57 seconds 25660420pm--แก่อย่างมีความหมาย
20 เม.ย. 66 - แก่อย่างมีความหมาย : จริงพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว ความแก่มันไม่ได้อยู่ในไหนหรอก มันอยู่ในความหนุ่มสาวนี่แหละ ความเจ็บไข้ก็อยู่ในความไม่มีโรค ถึงแม้ว่าเราไม่มีโรคก็ไม่ได้แปลว่าไม่เจ็บไข้ ความเจ็บไข้ก็อยู่ในความไม่มีโรค ถึงแม้ว่าเราจะยังเป็นหนุ่มเป็นสาว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ความแก่ก็อยู่ในความหนุ่มความสาวนั่นแหละ รวมทั้งความตายก็มีอยู่ในความมีชีวิต
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะยังหนุ่มยังสาวก็ไม่ใช่ห่างไกลกับความแก่ ถึงแม้จะไม่ป่วยก็ไม่ได้แปลว่ายังห่างไกลกับความเจ็บความป่วย ถึงแม้จะยังมีชีวิตก็ไม่ได้แปลว่ายังห่างไกลจากความตาย ความแก่ก็ดี ความเจ็บป่วยก็ดี ความตายก็ดี มันอยู่กับเราอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะมองเห็นหรือเปล่า
7/1/2023 • 26 minutes, 18 seconds 25660419pm--ความจริงอาจไม่ตรงกับที่คาดการณ์
19 เม.ย. 66 - ความจริงอาจไม่ตรงกับที่คาดการณ์ : บางอย่างเราก็เห็นแต่ปัญหา แต่เราไม่ค่อยเห็นข้อดี ทั้งๆที่ปัญหานี้เล็กน้อยแต่ข้อดีเยอะ บางอย่างเราเห็นแต่ข้อดีแต่ไม่เห็นปัญหาทั้งๆที่ในความเป็นจริงปัญหามันเยอะมาก ส่วนข้อดีก็มีบ้างแต่น้อย หรือว่าน้อยกว่าที่คิด
อันนี้มันก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรามีความจำกัดในการคาดการณ์ เกี่ยวกับสิ่งที่จะทำข้างหน้าหรือเกี่ยวกับเหตุการณ์ข้างหน้า เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อความคิดของเราเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก เพราะความจริงอาจจะไม่ตรงกับที่เราคาดการณ์ก็ได้ ถ้ามันไม่แย่กว่า มันก็อาจจะดีกว่าก็ได้
และเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ก็ต้องทดลองทำดู อย่างคนที่คิดว่า ฉันขึ้นรถไฟฉันอยู่คนเดียวดีกว่าที่จะคุยกับคนแปลกหน้า แต่พอได้คุยกับคนแปลกหน้ากลับพบว่า มันดีแฮะ มันดีกว่าการอยู่คนเดียวทำอะไรคนเดียวด้วยซ้ำ ถ้าไม่ได้ลองทำก็ไม่รู้ว่าไอ้ที่คิดเอาไว้ มันไม่ถูกต้อง ไอ้ที่คาดการณ์เอาไว้ มันไม่ใช่อย่างนั้น
ฉะนั้นเวลาเรามีการคาดการณ์อะไร แม้กระทั่งเกี่ยวกับความสุขหรือว่าสิ่งที่พึงปรารถนา ก็อย่าไปเชื่อมั่นมากเกินไป เพราะมันอาจจะเป็นการคิดเอาเองก็ได้ ต่อเมื่อเราได้ทดลองทำดู มันจึงจะรู้ว่ามันอาจจะดีกว่าที่คิดก็ได้ หรือบางอย่างอาจจะแย่กว่าที่คาดหวังก็ได้
7/1/2023 • 24 minutes, 45 seconds 25660416pm--ปล่อยวางบ้าง ชีวิตจะทุกข์น้อยลง
16 เม.ย. 66 - ปล่อยวางบ้าง ชีวิตจะทุกข์น้อยลง : ขณะที่ยังมีกิเลสอยู่ เราก็ยังสามารถที่จะปล่อยวางเรื่องง่ายๆ ได้ ถ้าเราฝึกในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ต้องรอเทศกาลแห่งการปล่อยวาง เพราะเราสามารถที่จะปล่อยได้ ทุกขณะของการทำงาน ของการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เฉพาะแค่งานอย่างเดียว เวลาเราอาบน้ำ ถูฟัน เราก็วาง วางอนาคต วางอดีต หรือวางงานนการที่ต้องทำถัดจากนี้ไป ไม่ใช่ว่าอาบน้ำไปก็คิดไปแล้วว่าเดี๋ยวจะทำอะไรต่อ กินข้าวก็คิดแล้วนะ เดี๋ยวจะทำอะไรต่อ คิดอย่างนี้ตลอดเวลา แล้วสุดท้ายจิตใจก็เต็มไปด้วยความเครียด
ทำอะไรด้วยความลุกลี้ลุกลน รีบๆ ทำ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ยึดมั่นถือมั่นอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด แม้กระทั่งความทุกข์ ความเครียด ความโกรธ ความหงุดหงิด ความขุ่นเคือง ไม่ปล่อยไม่วางเลย ฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้ชีวิตของเราสุขสบายมากขึ้น ต้องฝึกนะ ฝึกให้รู้จักปล่อยวางบ้าง แม้จะปล่อยวางไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ปล่อยวางทีละนิดทีละหน่อย มันก็ทำให้ชีวิตนี้ผ่อนคลายมากขึ้น
7/1/2023 • 29 minutes, 15 seconds 25660415pm--อยู่กับทุกข์ด้วยใจไม่ทุกข์
15 เม.ย. 66 - อยู่กับทุกข์ด้วยใจไม่ทุกข์ : ความเหนื่อยของคนที่ทำงานเวลานี้ มันไม่ใช่เหนื่อยจากการทำงาน เท่ากับเหนื่อยเพราะใจที่ไปวิตกกังวลกับสิ่งต่างๆ ที่ยังมาไม่ถึง กับยอดที่ต้องทำให้ได้ กับผลสำเร็จที่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปตามเป้าไหม เจ้านายเขาจะว่าอย่างไร ถ้าเกิดว่างานไม่เป็นไปอย่างใจเขา คนหรือเพื่อนร่วมงานเขาจะมองอย่างไร คิดไปอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความเครียด เกิดความวิตกขึ้นมา
แล้วบางทีใจก็ไปจดจ่ออยู่กับเพื่อนที่เขาไม่ค่อยขยันขันแข็งเท่าไหร่ หลายคนไม่ได้เหนื่อยกับงาน เท่ากับเหนื่อยเพราะไปวิตกกังวล หรือไปจ่อมจมอยู่กับเพื่อนที่กินแรง เพื่อนที่เอาเปรียบ เพราะเวลาที่คิดถึงคนเหล่านั้นก็อดบ่นไม่ได้ เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคือง พวกนี้มันเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ทำให้ผู้คนเหนื่อยใจ ซึ่งมันสร้างความทุกข์ให้กับคนทำงาน ยิ่งกว่าความเหนื่อยเพราะทำงาน
บางทีทำงานขุดดิน ทำสวน หรือว่าขนของ หลายคนจะไม่รู้สึกเหนื่อยเท่ากับความเครียด ความวิตกกังวลเกี่ยวกับงานการ เกี่ยวกับเป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง แล้วหลายคนก็กลายเป็นว่าแทนที่จะเหนื่อยอย่างเดียว ก็เหนื่อยสองอย่าง คือเหนื่อยทั้งกายเหนื่อยทั้งใจ
7/1/2023 • 25 minutes, 3 seconds 25660414pm--มองตนจนรู้ทันกิเลส
14 เม.ย. 66 - มองตนจนรู้ทันกิเลส : เราเห็นกิเลสมากมาย แต่กิเลสก็ไม่ได้ครองใจเราตลอดเวลา มันมาเป็นครั้งคราว มันจรเข้ามา และแม้มันจรเข้ามา เราก็ไม่เผลอให้มันมาครอบงำใจ แล้วเราก็ไม่ลงโทษตัวเองว่าเป็นคนเลว คนแย่ เพราะเห็นต่อไปว่ากิเลสไม่ใช่เรา มันเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมา คนที่ไม่ปฏิบัติก็จะหลงตนว่าฉันเป็นคนดี ประเสริฐ เลิศ แต่พอปฏิบัติเข้า ถ้าปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ ก็จะรู้สึกว่าฉันแย่ๆ เหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง
แต่พอปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งก็จะพบว่า กิเลสพวกนี้ไม่ใช่เรา และต่อไปก็จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่กิเลสนะ ความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ความโศก ความเศร้า ความเครียด ที่เราเรียกรวมๆ ว่าความทุกข์ก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน มีความทุกข์ แต่ทุกข์ไม่ใช่เรา หรือเห็นว่ามีโกรธก็จริง แต่ว่าไม่เอา ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่าไม่เอา ไม่เอาเพราะมีสติรู้ทัน วางมันลงได้
อันนี้จะทำให้การฝึกจิตหรือการรู้จักตนมีความลึกซึ้งมากขึ้น ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก มันก็จะเห็นแค่เห็นในเรื่องตื้นๆ เห็นแค่ความคิดที่ผุดขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ เห็นแล้วก็วาง เห็นแล้วก็วาง แล้วใจก็สงบ แต่ยังปล่อยให้กิเลสเล่นงานจิตใจเราได้ เพราะไม่เห็น ไม่รู้ทันมัน แต่ถ้าเราดูใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง เราก็จะเห็นกิเลสทั้งระดับกลาง ทั้งระดับหยาบที่เคยก่อกวนหลอกล่อเรา ต้องไม่ให้มันเข้ามามีอิทธิพลครอบงำเราเหมือนก่อน
6/27/2023 • 20 minutes, 32 seconds 25660413pm--ทุกข์เพราะหลง สุขเพราะรู้
13 เม.ย. 66 - ทุกข์เพราะหลง สุขเพราะรู้ : ถ้าหากว่าความหลงน้อยลง มีความรู้สึกตัวมากขึ้น ความสุขมันก็จะมาแทนที่ ให้ความรู้สึกตัวมาแทนความหลงเมื่อไหร่ ความสุขมันก็จะมาแทนความทุกข์ มันเป็นสุขแบบเรียบๆ แต่ว่าปลอดโปร่ง ทำให้ใจเป็นอิสระ ไม่เหมือนสุขจากความสนุกสนาน จากการเสพ แล้วถ้าเราสัมผัสกับความสุขเพราะรู้สึกตัวมากขึ้น มันก็จะเกิดเรี่ยวแรง เกิดกำลังใจ
เราก็จะพบว่าสตินี่ทีแรกเราเป็นฝ่ายรักษา เป็นฝ่ายสร้างสติ แต่ทำไปๆ สติจะมารักษาเรา สิ่งที่เราทำคือการเจริญสติ สติมันไม่ได้เกิดจากเราอย่างเดียว หรือเกิดจากการกระทำของเราอย่างเดียว มันกลับมาปรุงแต่งทำให้ใจเราปลอดโปร่ง ผ่องใส แล้วคลายทุกข์ได้ด้วย
6/27/2023 • 28 minutes, 28 seconds 25660412pm--เรียนธรรมจากประสบการณ์ชีวิต
12 เม.ย. 66 - เรียนธรรมจากประสบการณ์ชีวิต : เราจะไม่ต้องเอาธรรมะใส่ให้เขา หรือเอาธรรมะยัดเยียดให้เขา แต่พอช่วยเขาทางอื่น ช่วยให้เขาปล่อยวางเพราะหมดห่วง และช่วยให้เขาเกิดจิตใจที่เป็นกุศล มีปีติเพราะระลึกถึงความดีที่ได้ทำ ใจมันก็พร้อมที่จะน้อมรับความตายได้ เพราะเส้นทางสู่ธรรมะนั้นมีหลายเส้นทาง เส้นทางที่ธรรมะจะเข้าสู่ใจคนมันก็มีหลายเส้นทาง ไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียวคือการสอนธรรมะหรือการให้ฟังธรรมะ การช่วยวิธีอื่นที่ทำให้จิตใจเป็นกุศล จิตใจเกิดความโปร่งโล่ง อันนี้มันก็เป็นการช่วยทำให้เขายอมรับความจริงของชีวิตได้เหมือนกัน เรียกว่าเข้าถึงธรรมะได้โดยที่เราไม่ต้องยัดเยียด
บางคนถ้าเกิดเขามีความรู้สึกอบอุ่นใจ มีความมั่นใจว่า มีสิ่งที่จะมาช่วยน้อมนำให้เขาไปกุศลได้ เขาก็มีความสุขพร้อมจะไป บางคนมีความเชื่อว่าไปแล้วจะได้ไปพบพระพุทธเจ้า ไปแล้วจะได้ไปกราบพระเกศแก้วมณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอมีความเชื่อเช่นนี้มันก็พร้อมตาย หรือมีความเชื่อว่าไปแล้วฉันจะได้ไปดี เพราะฉันทำความดีมาเยอะ คนเหล่านี้เขาก็พร้อมตายโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปยัดเยียดให้เขา เพราะเขารู้ว่าชีวิตที่ผ่านมามีคุณค่า มั่นใจว่าข้างหน้านี่เป็นทางที่ดี หรือใจได้นึกถึงสิ่งที่เกิดความอบอุ่นใจ
6/27/2023 • 27 minutes, 30 seconds 25660411pm--เราเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน
11 เม.ย. 66 - เราเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน : แม้กระทั่งถึงวันที่เราจะต้องประสบความสูญเสีย เราก็ยังเลือกได้ ระหว่างคนที่ทุกข์ระทม เศร้าโศก ตีอกชกหัว กับคนที่สงบ นิ่ง มั่นคง ไม่หวั่นไหว แต่การที่เราจะเลือกแบบนี้ได้ มันต้องลงทุนลงแรงด้วย ไม่ใช่ว่าแค่อยากเฉยๆ แต่ว่าต้องลงทุนด้วยการปฏิบัติ
เหมือนกับถ้าอยากจะให้วัยชราของเราเป็นวัยที่กระฉับกระเฉง มีสุขภาพดี ไม่นอนซม ก็ต้องออกกำลังกายตั้งแต่ตอนนี้ หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เช่นเดียวกัน หากว่าเราปรารถนาที่จะรักษาใจให้สงบมั่นคงเมื่อยามที่ต้องสูญเสีย หรือแม้กระทั่งเมื่อยามที่เราเผชิญหน้ากับความตาย เราก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เริ่มตัดสินใจตั้งแต่ตอนนี้ ว่าเราจะฝึกตนฝึกใจมากน้อยเพียงใด แค่ออกกำลังกาย คุมอาหารคงไม่พอ มันก็มีประโยชน์สำหรับการมีสุขภาพดีในวัยชรา
แต่ว่าถ้าหากต้องการที่จะมีสุขภาพจิตเป็นปกติ ไม่จมอยู่ในความทุกข์ ก็ต้องฝึกใจด้วย แล้วไม่ใช่มาฝึกเอาตอนที่ใกล้จะสูญเสีย เพราะเราไม่รู้ว่าจะสูญเสียเมื่อไหร่ หรือมาฝึกเอาตอนใกล้จะตาย เพราะบางทีอาจจะไม่มีเวลาฝึกก็ได้ เราต้องทำตั้งแต่ตอนนี้
ต้องตัดสินใจตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่า เราจะเลือกสถานการณ์หรือเลือกฉากทัศน์แบบไหน ถ้าเราต้องการเลือกสถานการณ์หรือฉากทัศน์ที่เป็นความสงบร่มเย็น เป็นปกติ ไม่จมอยู่ในความทุกข์ ก็ต้องเริ่มฝึกจิตฝึกใจตั้งแต่ตอนนี้แล้ว เริ่มทำความเพียรตั้งแต่ตอนนี้แล้ว นี่คือสิ่งที่เราเลือกได้
6/27/2023 • 26 minutes, 31 seconds 25660410pm--ชนะใจด้วยการให้
10 เม.ย. 66 - ชนะใจด้วยการให้ : เพื่อนบ้านนั้นจะต้องอยู่กับเราอีกนาน ดังนั้นแทนที่จะเป็นศัตรูกัน สร้างความเป็นมิตรต่อกันจะดีกว่า แม้เพื่อนบ้านที่น่าระอาก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้หากกลายเป็นมิตรกับเรา แต่ก่อนอื่นเราต้องพยายามเป็นมิตรกับเขาก่อน ด้วยการหยิบยื่นน้ำใจไมตรีให้เขา การให้หรือการแบ่งปันนั้นเป็นสิ่งประสานใจที่มีอานุภาพมาก หากทำด้วยความจริงใจแม้แต่ศัตรูก็กลายเป็นมิตรได้
6/25/2023 • 31 minutes, 56 seconds 25660409pm--คืนสู่ความปกติธรรมดา
9 เม.ย. 66 - คืนสู่ความปกติธรรมดา : อย่างมีคนโบราณเขาบอกว่า มองเสื้อไม่เห็นผ้า มองตุ๊กตาไม่เห็นยาง สมมุติว่าเสื้อมันก็เลยบังให้เราไม่เห็นผ้า สมมุติว่าตุ๊กตาก็เลยทำให้เราไม่เห็นยาง สมมุติว่านายก. นายข. ก็ทำให้ไม่เห็นรูปนาม การที่จะคืนสู่ความปกติธรรมดา มันจึงไม่ใช่เรื่องที่ดูง่ายๆ หรือกระจอกๆ
แต่ว่าให้เราเริ่มต้นจากการที่เราทำอะไรด้วยความรู้สึกตัว กลับมาสู่ความรู้สึกตัว ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำหน้าที่ด้วยความใส่ใจอย่างมีสติ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม ที่มันจะพาเราจากความปกติธรรมดาที่ดูสามัญ จนกระทั่งไปสู่ความปกติธรรมดาที่เราไม่นึกว่ามันมี เพราะว่าถูกบดบังไปด้วยอวิชชา บดบังไปด้วยความหลง โดยเฉพาะปรุงแต่งจนเรียกว่าหลายชั้น พอกพูนจนไม่เห็นความจริง ที่มันซ่อนอยู่เบื้องหลังความปรุงแต่ง
เราก็ปฏิบัติไป จนกระทั่งถอนความปรุงแต่ง ถอนออกไปทีละชั้นๆ จนกระทั่งเห็นความจริงที่มันไม่มีการปรุงแต่ง หรือว่ามองทะลุทะลวง จนกระทั่งอวิชชาไม่อาจจะบดบังได้ ถึงตรงนั้นแหละนะที่เราจะรู้ว่าการปฏิบัติธรรมนี่มันคืออะไร
6/25/2023 • 27 minutes, 45 seconds 25660408pm--ใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้น
8 เม.ย. 66 - ใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้น : แต่ถ้าเรากลับมาตั้งสติให้ดี หันมาใคร่ครวญว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต รู้จักลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆในชีวิตให้มันถูกต้อง แล้วก็ไม่หลงไหลไปตามกระแสนิยม เรียกร้องจากชีวิตให้น้อยลง มีความพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆว่าธรรมะนั่นเอง ชีวิตจะอยู่ง่ายขึ้นถ้าเรามีธรรมะมากขึ้น เอาแค่ว่ามีสติให้มากขึ้นแค่ประการเดียว มันก็ช่วยลดปัญหามากมายที่รุมเร้าผู้คนในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพ เรื่องของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน ยิ่งโลกมันหมุนเร็วขึ้น ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น เทคโนโลยีมันเร็วและแรงมากขึ้น ยิ่งต้องมีสติให้มากขึ้น
ใครที่จับประเด็นนี้ได้ ก็จะอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยความสุขความสงบมากขึ้น ปล่อยให้ผู้คนที่หลงใหลในความสุขชั่วคราวในความหรูหราฟู่ฟ้า วิ่งแข่งขันห้ำหั่นกันไป แต่ว่าเราก็สามารถที่จะอยู่ได้อย่างสงบ ถ้าเพียงแต่รู้จักรักษาใจไม่ให้หวั่นไหวไปกับสิ่งล่อเร้าเย้ายวนหรือว่าสิ่งยั่วยุจากภายนอก แต่นั่นก็ต้องหมายความว่าเราต้องให้เวลากับการฝึกใจให้มีสติมากขึ้น เพียงแค่หันมาดูแลใจให้มีสติมากขึ้น มันก็ช่วยทำให้ความทุกข์เล็กๆน้อยๆในชีวิตที่คอยมารบกวนจิตใจ มันรบกวนเราน้อยลง
และต่อไปพอเรามีสติและมีปัญญามากขึ้น ถึงเวลาเจอเหตุการณ์ใหญ่ๆ ความสูญเสียคนรัก ของรัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก เราก็สามารถที่จะก้าวข้ามผ่านพ้นไปได้ แล้วพอถึงตอนนั้นเราก็จะขอบคุณที่เราเลือกเส้นทางของการครองสติให้มั่นและก็รู้จักมีความสันโดษในสิ่งเสพ พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งได้ ไม่เรียกร้องคาดหวังจากชีวิตมากเกินไป
6/25/2023 • 27 minutes, 1 second 25660407pm--พบสุขโดยไม่ต้องตามหา
7 เม.ย. 66 - พบสุขโดยไม่ต้องตามหา : บางคนคิดดี แต่ไม่อยากจะทำอย่างที่คิด เพราะว่าความเกียจคร้าน หรือว่าความเบื่อหน่าย ความเฉื่อยเนือยยังมีกำลัง แต่เมื่อใดก็ตามที่เอาชนะความเกียจคร้าน เอาชนะความเบื่อหน่าย เฉื่อยเนือยได้ แม้คนที่รู้ว่าปลูกต้นไม้มันดีนะ ปลูกไม้ดอกดีนะ จะทำให้ผีเสื้อมาที่บ้านเรา รู้ว่าดีแต่ไม่ทำ เพราะไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง หรือเบื่อเซ็ง คนที่จิตใจห่อเหี่ยว จมอยู่ในความทุกข์ก็เป็นลักษณะแบบนี้แหละ ซึ่งก็น่าเห็นใจ แต่ถ้าเขาพยายามที่จะลุกขึ้นมาปลูกต้นไม้ ปลูกไม้ดอก แล้วก็รดน้ำ ไม่นานผีเสื้อก็จะมา
คนที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม หรือไม่มีจุดหมายในการดำเนินชีวิต ทั้งไม่รู้ว่ามันต้องหาจุดหมายให้กับชีวิต แต่ว่าถ้าไม่ลงมือทำ ก็จะจมอยู่ในความห่อเหี่ยว แล้วดำดิ่งอยู่ในความทุกข์ สุดท้ายก็อาจจะทำในสิ่งที่เกินเลยไปได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ทำชีวิตให้มีคุณค่า สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นหรือส่วนรวม ความรู้สึกมีชีวิตชีวาก็จะเกิดขึ้นทันที แล้วก็จะไม่มีคำถามว่าอยู่ไปทำไม เพราะมันพบคำตอบแล้ว
6/25/2023 • 27 minutes, 9 seconds 25660329pm--สิ่งที่พ่วงมากับความสุข
29 มี.ค. 66 - สิ่งที่พ่วงมากับความสุข : เมื่อเราฝึกปล่อยฝึกวางได้ มันก็ทำให้เรามีความพร้อมในการที่จะรับมือกับความสูญเสียสิ่งที่รัก หรือของรักของหวง เวลาสิ่งเหล่านั้นอยู่กับเรา เราก็มีความสุข แต่เราไม่เพลิดเพลินหลงใหล แต่พอสิ่งเหล่านั้นสูญสลายหายไป เราก็ไม่ทุกข์ อันนี้เรียกว่ามีความสุขได้โดยไม่ทุกข์ เหมือนกับกินปลา แต่ก้างมันไม่ตำคอ
แต่ทั้งหมดนี้มันจะต้องใส่ใจในเวลาที่เรามีความสุข ไม่ว่าสุขเพราะสุขภาพดี สุขเพราะมีงานมีการ สุขเพราะมีคนรักแวดล้อม ในขณะที่เรามีความสุขก็อย่าเพลินกับมันจนลืมฝึกตน มันเป็นโอกาสสำหรับการฝึกตน ฝึกจิตฝึกใจให้รู้จักปล่อยรู้จักวาง เริ่มต้นจากการที่หมั่นพิจารณา “มันไม่เที่ยงนะ มันไม่แน่นอน สิ่งที่มีอยู่วันนี้มันก็จะต้องสูญหายไป” อย่าไปรำคาญ อย่าไปมองข้ามว่ามันไม่สำคัญ ถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ฝึกไปสม่ำเสมอ ถึงเวลาเจอความผันผวนแปรปรวน เราก็จะรับมือกับมันได้ เราก็จะไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อย
แต่คนจำนวนมากพอมีความสุข ก็มักจะเพลิดเพลินหลงใหลในความสุข แล้วก็ไม่คิดที่จะฝึกตน บางทีครูบาอาจารย์ก็พูดก็สอน แต่ไม่อยากจะคิด เพราะฉันมีความสุขอยู่แล้ว คนเวลามีความสุขมันไม่ค่อยสนใจธรรมะ มาสนใจธรรมะก็ตอนที่มีความทุกข์แล้ว แต่ถึงตอนนั้นก็อาจจะสายไป เพราะความทุกข์มันรุมกระหน่ำซ้ำเติมจนกระทั่งโงหัวไม่ขึ้น นึกถึงธรรมะข้อไหนมันก็เอามาใช้ไม่ได้ เพราะใจมันไม่ไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก อันนี้เพราะประมาทมัวเมาในความสุข
ฉะนั้น ตระหนักอยู่เสมอ เตือนใจอยู่เสมอว่า ความสุขที่เรามีเนี่ยมันมีความทุกข์พ่วงมาด้วยเสมอ มันเป็นแพ็กเกจเดียวกัน เตือนใจตัวเองอยู่เสมอ มันจะได้ไม่หลงเพลินในความสุขมาก
6/21/2023 • 30 minutes, 5 seconds 25660326pm--ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า
26 มี.ค. 66 - ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า : แต่ถ้าเป้าหมายของเราสูงกว่านั้น ก็ยิ่งทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา ฉะนั้นคนเราถ้ารู้จักกำหนดเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่า เช่น การทำประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ รวมทั้งการฝึกจิตให้เข้าถึงความสงบอันประเสริฐ อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์
ถ้าเรามีเป้าที่จะบรรลุถึงความสงบเย็น แล้วมุ่งทำให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น ก็ยิ่งทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้นมา ไม่รู้สึกหงอยเหงา ไม่รู้สึกว่างเปล่า พอได้ทำแล้วก็มีความสุข พอมีความสุขแล้วพอถึงเวลาที่จะต้องลาจากโลกนี้ไป อย่างน้อยก็รู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา
ยิ่งถ้าหากรู้ว่าจะต้องตาย เราก็ฝึกจิตเอาไว้ในการที่จะรับมือกับความตาย ซึ่งได้แก่รับมือกับทุกขเวทนาที่จะเกิดขึ้นเพราะความเจ็บป่วย หรือรับมือจากความสูญเสียพลัดพรากของรักของหวง ยิ่งถ้าฝึกให้รู้จักปล่อยวาง มันก็ช่วยทำให้ไม่เพียงแต่ชีวิตมีคุณค่า ถึงเวลาจะตายก็ตายอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน
คนเราสามารถจะทำได้ ถ้าเรามีสติใคร่ครวญชีวิต ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ เพราะไม่อย่างนั้นถ้าเราเผลอ เราก็คงมีชีวิตไม่ต่างจากเป็ดเหล่านั้น ถึงแม้ว่ามันจะเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ว่ามันเป็นการใช้ชีวิตแบบที่ไม่รู้เลยว่า อะไรคือจุดหมายปลายทางของชีวิต แต่พอปลายทางมาถึงก็ทุกข์ทรมาน
6/21/2023 • 28 minutes, 30 seconds 25660325pm--ถามถูกก็หลุดจากทุกข์ได้
25 มี.ค. 66 - ถามถูกก็หลุดจากทุกข์ได้ : ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติที่รู้จักมองตน เราก็จะถามว่า แล้วฉันล่ะเข้าใจเขาแล้วหรือ ถ้าเราหันมาถามแบบนี้บ้าง มันจะได้คำตอบเลย คำตอบคือว่า ต้องมาจัดการที่ใจของเรา เพราะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเรา
เพราะฉะนั้นอย่ามัวไปหาคำตอบอยู่กับคนอื่น หรือว่าอย่ามัวตั้งคำถามผิด ตั้งคำถามให้ถูก แล้วเราก็จะพบคำตอบหรือทางออก ซึ่งที่แท้ก็อยู่ที่ใจของเรานั่นแหละ
ท่านติชนัทฮันห์ ท่านเขียนประโยคสั้นๆ ประโยคหนึ่ง น่าสนใจมาก เป็นภาษาอังกฤษว่า Way out is in ทางออกอยู่ที่ข้างใน ทางออกอยู่ที่ข้างใน ในอะไร ในใจเรา
ทางออกจากทุกข์ ทางออกจากปัญหา อยู่ที่ใจเรา ไม่ใช่อยู่ที่ข้างนอก ถ้าเราถามไม่ถูกถามไม่เป็น ก็จะเห็นแต่มองแต่หาทางออกจากภายนอก แต่ถ้าถามถูกก็จะพบว่า ทางออกอยู่ที่ใจเรานั่นแหละ
6/21/2023 • 26 minutes, 2 seconds 25660324pm--รักษาใจไม่ให้หวั่นไหวในโลกธรรม
24 มี.ค. 66 - รักษาใจไม่ให้หวั่นไหวในโลกธรรม : พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระนันทิยะ ตรัสสอนพระนันทิยะว่า ผลแห่งความดี ย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลเพลิดเพลิน จนประมาทมัวเมา ผลแห่งความดีคืออะไร ก็คือลาภสักการะ ทำความดีแล้วบางทีมีลาภสักการะตามมา แต่ว่านั่นเป็นโทษ ถ้าไปยึดติด เพราะไม่พิจารณา หรือไม่มีสติ มันก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะพอติดในลาภสักการะะ พอต่อไปไม่ได้ลาภสักการะ ไม่ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญก็มีความทุกข์
แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติมีปัญญา ทำความดีแล้วไม่ได้สนใจลาภสักการะ หรือถึงมีถึงเกิดขึ้น เราก็ไม่ยึดติด เพราะใจไม่ได้แสวงหาตั้งแต่ต้น มันก็ยากที่จะตกเป็นทาสของโลกธรรมได้
ฉะนั้น การที่เราพยายามฝึกจิตให้มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ไม่ว่าจะฝ่ายบวกฝ่ายลบนั่น เป็นสิ่งสำคัญมากเลย ที่จะช่วยทำให้เรามีจิตใจที่ปกติ แล้วก็มีความสุขได้ง่าย แต่ถ้าหากว่าเรายังหวั่นไหวในโลกธรรม ใครตำหนิ หรือใครมองเราในทางลบ ก็เป็นทุกข์ ใครชื่นชมก็ปลื้มอกปลื้มใจ แบบนี้ก็เรียกว่ายังตกเป็นทาสของโลกธรรมได้ง่าย แล้วที่จริงก็แสดงว่ายังเป็นตกเป็นทาสของอัตตาตัวตน ซึ่งยากจะทำให้เราเป็นอิสระได้
6/21/2023 • 30 minutes, 5 seconds 25660323pm--พลังแห่งศรัทธา
23 มี.ค. 66 - พลังแห่งศรัทธา : พุทธภาษิตที่เราคุ้นเคยก็คือว่า ตนนั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปว่า บุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก ถ้าเราฝึกตนไว้อย่างดี เราก็ย่อมได้ที่พึ่ง แล้วเราจะฝึกตนได้ เราก็ต้องมีศรัทธาในความเพียร ศรัทธาในคุณธรรมต่างๆ เราจึงจะมั่นใจได้ว่าเรามีตนเป็นที่พึ่งได้ แล้วพอมีตนเป็นที่พึ่งแล้ว ก็ยิ่งศรัทธาในตนมากขึ้น จะไม่หวั่นไหวไปกับอุปสรรค ความยากลำบาก หรือแม้กระทั่งสายตาคนรอบข้าง
เขาจะไม่ชอบเรา เขาจะไม่ได้ชื่นชมเรา เขาจะนินทาเรา ก็ไม่ได้หวั่นไหว เพราะจิตใจมั่นคงอยู่ในคุณธรรม หรือว่าจิตใจไม่ได้หวั่นไหวไปกับโลกธรรม ไม่ว่าโลกธรรมฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ ก็สามารถที่จะรักษาตน รักษาใจให้เป็นปกติมั่นคงได้ ทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นจากศรัทธาที่มีอย่างถูกต้อง พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าศรัทธานี่ก็เป็นพลัง หรือพละอย่างหนึ่งในพละ 5 ศรัทธาเป็นหนึ่งของพละหรือกำลัง ที่จะทำให้เรามีความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค และความทุกข์ทั้งปวงได้
6/20/2023 • 27 minutes, 53 seconds 25660322pm--ตัดไฟก่อนเผาไหม้ใจ
22 มี.ค. 66 - ตัดไฟก่อนเผาไหม้ใจ : แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่เพราะคนอื่นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของเรา ที่จริงมันมีคำพูดว่า ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ก็หมายความว่า ความทุกข์ที่กำลังเผาลนจิตใจเรา ด้วยความโกรธความแค้น มันก็มีสาเหตุไม่ใช่จากคนอื่น หรือคนภายนอกอย่างเดียว หรือคนใกล้ตัวอย่างเดียว มันเกิดจากการที่ใจของเราวางไว้ผิดด้วย ถ้าใจเราวางไว้ไม่ถูกต้อง มันก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ให้กับตัวเอง เป็นการเผาลนจิตใจ
โดยเฉพาะการที่เราไม่รู้เท่าทันความคิดที่มันเกิดจากการปรุงแต่งของโทสะ แล้วปล่อยให้มันลุกลามไปจนกระทั่งสุดท้ายมันก็ครอบงำใจ จนกระทั่งบังคับให้เราต้องลงมือทำร้ายคนที่เราคิดว่าเป็นตัวการแห่งความทุกข์ ทั้งที่คนนั้นก็อาจจะเป็นคนใกล้ตัวเรา หรือเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผัวเป็นเมีย บางทีเป็นลูกก็ได้
ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าโทสะแล้ว เราวางใจมันไม่ได้เลย เราห้ามมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ให้เกิดขึ้นได้ยากเพราะเราเป็นปุถุชน แต่อย่างน้อยต้องรู้เท่าทันมัน โดยเฉพาะพอมันปรุงแต่งความคิดว่า “ถ้าเขาหายไปจากชีวิตของฉันได้ จะดีไม่น้อย” พอคิดแบบนี้เข้า ต้องระวังแล้ว มันจะพาเราเข้ารกเข้าพงไปเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัว เราก็ทำในสิ่งที่ต้องเสียใจในภายหลัง
25660321pm--อยากพ้นทุกข์ ต้องไม่กลัวทุกข์
21 มี.ค. 66 - อยากพ้นทุกข์ ต้องไม่กลัวทุกข์ : แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่เพราะคนอื่นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของเรา ที่จริงมันมีคำพูดว่า ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ก็หมายความว่า ความทุกข์ที่กำลังเผาลนจิตใจเรา ด้วยความโกรธความแค้น มันก็มีสาเหตุไม่ใช่จากคนอื่น หรือคนภายนอกอย่างเดียว หรือคนใกล้ตัวอย่างเดียว มันเกิดจากการที่ใจของเราวางไว้ผิดด้วย ถ้าใจเราวางไว้ไม่ถูกต้อง มันก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ให้กับตัวเอง เป็นการเผาลนจิตใจ
โดยเฉพาะการที่เราไม่รู้เท่าทันความคิดที่มันเกิดจากการปรุงแต่งของโทสะ แล้วปล่อยให้มันลุกลามไปจนกระทั่งสุดท้ายมันก็ครอบงำใจ จนกระทั่งบังคับให้เราต้องลงมือทำร้ายคนที่เราคิดว่าเป็นตัวการแห่งความทุกข์ ทั้งที่คนนั้นก็อาจจะเป็นคนใกล้ตัวเรา หรือเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผัวเป็นเมีย บางทีเป็นลูกก็ได้
ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าโทสะแล้ว เราวางใจมันไม่ได้เลย เราห้ามมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ให้เกิดขึ้นได้ยากเพราะเราเป็นปุถุชน แต่อย่างน้อยต้องรู้เท่าทันมัน โดยเฉพาะพอมันปรุงแต่งความคิดว่า “ถ้าเขาหายไปจากชีวิตของฉันได้ จะดีไม่น้อย” พอคิดแบบนี้เข้า ต้องระวังแล้ว มันจะพาเราเข้ารกเข้าพงไปเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัว เราก็ทำในสิ่งที่ต้องเสียใจในภายหลัง
6/20/2023 • 27 minutes, 52 seconds 25660315pm--ทำไมหมอและพยาบาลควรเรียนรู้เรื่องความตาย
15 มี.ค. 66 - ทำไมหมอและพยาบาลควรเรียนรู้เรื่องความตาย
6/20/2023 • 31 minutes, 13 seconds 25660313pm--อ่อนโยนต่อจิต ให้อิสระแก่ใจ
13 มี.ค. 66 - อ่อนโยนต่อจิต ให้อิสระแก่ใจ : เราก็มารู้กายไปก่อน แต่ก็รู้แบบเบาๆ ให้ถือว่ากายเป็นที่ตั้งของใจ เป็นที่ตั้งนะ บางคนทำให้กลายเป็นคุกของใจ คือบังคับจิตให้อยู่กับกาย การบังคับจิตให้อยู่กับกายก็ทำให้กายกลายเป็นคุกของใจ แล้วพอจิตรู้สึกว่ากายเป็นคุก มันจะหาทางแหก คือจะหาเรื่องคิดนู่นคิดนี่
แต่ถ้าหากว่าเราไม่บังคับจิตให้อยู่กับกาย แต่ชักชวนให้เขาอยู่กับกาย จิตก็จะรู้สึกว่ากายเป็นบ้าน บ้านคือที่ที่มีอิสระที่จะอยู่หรือจะไปก็ได้ ต่างจากคุก คุกคือที่ที่เราถูกห้ามไม่ให้ออกไปไหน พยายามทำกายให้เป็นบ้านของใจ ไม่ใช่ทำให้กายเป็นคุกของใจ ซึ่งหมายความว่า ต้องให้อิสระกับใจในการที่จะไปก็ได้ แต่เราก็จะชวนให้เขากลับมา
กลับมาสู่ประเด็นที่พูดไว้ตั้งแต่ตอนต้น ให้รู้จักอ่อนโยนต่อจิต แล้วก็ให้อิสระกับใจ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เคยนึก แต่ให้เข้าใจว่าให้อิสระนี่คือการไม่บังคับ แต่ไม่ใช่ปล่อยใจไปตะพึดตะพือ เราก็ต้องรู้จักชวนให้เขากลับมา กลับมาที่กาย กลับมารู้เนื้อรู้ตัว กลับมารู้สึกตัว อันนี้แหละคือสิ่งที่ถ้าเราฝึกสม่ำเสมอ เราจะรู้ตัวได้ไวขึ้น เราจะมีสติได้เร็วขึ้น แล้วเราก็จะฟุ้งน้อยลง แล้วก็มีความสงบมากขึ้น เป็นความสงบเพราะรู้ ไม่ใช่สงบเพราะไม่รู้
6/5/2023 • 28 minutes, 30 seconds 25660312pm--ไม่เผลอ ไม่เพ่ง แค่รู้ทัน
12 มี.ค. 66 - ไม่เผลอ ไม่เพ่ง แค่รู้ทัน : ความคิดแม้เราห้ามมันไม่ได้ แต่เรารู้ทันมันได้ แล้วเพียงแค่รู้ทันมัน ก็ทำให้ความคิดที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ มันทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ มันมาครอบงำจิตไม่ได้ เพราะทันทีที่เรารู้ทัน มันก็เจือจางหรือสลายหายไป เพราะทันทีที่เรารู้ทันมัน ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกตัวมันเป็นปฏิปักษ์หรือสิ่งตรงข้ามกับความหลง แล้วความหลงนั่นแหละ คือบ่อเกิดของความคิดฟุ้งซ่าน มันเหมือนกับไฟ เปลวไฟมันต้องอาศัยออกซิเจน ความคิดฟุ้งซ่าน หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความทุกข์ พวกนี้มันเกิดจากความหลง หลงเมื่อไหร่มันก็เกิดขึ้นได้ง่ายมาก
แต่ถ้าเกิดว่ามีความรู้สึกตัวขึ้นมาแทนที่ ก็เหมือนกับไฟที่มันขาดออกซิเจน เมื่อความหลงหมดไป ความคิดปรุงแต่งก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่การที่เราจะรู้ทันความคิดได้ มันต้องเริ่มต้นจากการที่เรามารู้สึกเวลากายเคลื่อนไหวก่อน ก่อนที่เราจะรู้ใจหรือรู้ทันความคิด มันต้องมาฝึกให้รู้กายก่อน รู้กายคือรู้เมื่อกายเคลื่อนไหว หรือรู้สึกเมื่อกายเคลื่อนไหว เราจะรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว ก็ต่อเมื่อใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว หรือว่ามีความรู้สึกตัว ถ้าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว มันก็ไม่เกิดความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว
ลองสังเกตดูเวลาใจลอย แล้วเราเดินจงกรม ขณะที่เราใจลอย มันจะไม่รู้สึกเลยว่ากำลังเดินอยู่ หรือใจลอยขณะที่กำลังยกมือสร้างจังหวะ ในช่วงขณะนั้นเองจะไม่รู้สึกเลยว่ามือเขยื้อนขยับ เพราะว่าใจมันไปอยู่กับความคิด มันจมหายเข้าไปในโลกแห่งความคิด ตอนนั้นเรียกว่าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวก็เลยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นจะต้องฝึกให้ใจมาอยู่กับกายก่อน หรือให้ใจมารู้กายก่อน เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านก็จะบอกว่าให้มารู้กายก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจความคิด มันจะคิดมากคิดน้อย ช่างมัน อย่าไปคิดทำอะไรกับความคิดนั้น ให้มารู้กายก่อน
แต่ก็นั่นแหละรู้กายไม่ได้แปลว่าเอาใจไปเพ่งที่เท้า ไม่ได้เอาใจไปเพ่งที่มือ ให้มารู้สึกเบาๆ คำว่ารู้กายหมายถึงการรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าเราไปเพ่ง เอาจิตไปเพ่งที่เท้า เอาจิตไปเพ่งที่มือ มันจะรู้ตัวทั่วพร้อมได้อย่างไร รู้ตัวทั่วพร้อมก็คือใจไม่ได้ไปเพ่ง ไม่ได้ไปจดจ่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจจะต้องถอยออกมาสักหน่อย เหมือนกับถ้าเราไปอยู่ใกล้ เราก็เห็นแค่บางส่วนของร่างกาย ถ้าอยู่ใกล้มากก็อาจจะเห็นแค่มือ อาจจะเห็นแค่เท้า แต่ถ้าเราถอยออกมาหน่อย ก็จะเห็นทั้งตัว ใจที่ไม่ไปแนบแน่นอยู่กับเท้า ไม่แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ ไม่แนบแน่นอยู่กับมือ มันก็มีโอกาสที่จะรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้
6/5/2023 • 28 minutes, 42 seconds 25660310pm--หมั่นสร้างนิสัยทำทีละอย่าง
10 มี.ค. 66 - หมั่นสร้างนิสัยทำทีละอย่าง : แต่ตอนหลังเปลี่ยนนิสัยใหม่ เวลาทำอะไรทำทีละอย่าง อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว เดิน แม้แต่เดินบิณฑบาตรหรือเดินไปไหนก็ตาม ก็ไม่หาเรื่องคิด ถ้ามันจะคิดก็คิดขึ้นมาเอง ให้มันคิดขึ้นมาเอง แต่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจคิด ถึงเวลาจะคิดจึงค่อยมานั่งคิด คิดจริงๆ คิดด้วยสมาธิเต็มร้อย ไม่ใช่ทำอีกอย่างหนึ่งไปด้วย ก็ปรากฏว่ามันทำได้ดี ตอนที่ทำอะไรโดยไม่คิด มันก็ได้พักใจ ไม่ใช่คิดเรี่ยราด คนที่คิดเรี่ยราดส่วนใหญ่ก็เกิดจากการที่ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน แล้วพอคิดเรี่ยราดแล้ว ความคิดหรือจิตใจมันเหนื่อย มันก็คิดอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย
แต่เวลาเราใช้กายทำอะไร เราก็วางความคิดลง ใช้ความรู้สึกตัว ถึงเวลาจะคิดอะไรก็ค่อยมาคิด มันกลับคิดได้ดี แล้วตอนที่ไม่คิด มันมักจะมีความคิดดีๆ ผุดขึ้นมาโผล่ขึ้นมา แต่เราก็ไม่ตามมัน เราก็วางมันเสีย คล้ายๆ รับรู้แล้วเก็บมันเอาไว้ เดี๋ยวพอเสร็จธุระแล้วค่อยมานั่งทบทวนว่าเมื่อกี้คิดอะไรระหว่างที่บิณฑบาต มันกลับดีกว่าด้วยซ้ำ จากการที่เราไม่ตั้งใจคิด ให้อยู่กับความรู้สึกตัว มันกลับมีความคิดที่ดี โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ แล้วถึงเวลาที่เราตั้งใจ แล้วพอจะคิด มันก็คิดได้อย่างมีสมาธิ มันดีกว่าทำอะไรสองอย่างพร้อมกัน
6/5/2023 • 29 minutes, 7 seconds 25660309pm--จะฝึกฝนตนหรือปรนเปรอตน
9 มี.ค. 66 - จะฝึกฝนตนหรือปรนเปรอตน : บางทีเราลองถามตัวเองนะว่า ที่เรามาวัดนี้เพื่อฝึกฝนตนหรือเพื่อปรนเปรอตน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ปรนเปรอตนด้วยกามคุณ 5 รูปรสกลิ่นเสียงที่น่าพอใจเราแต่เราอยากจะปรนเปรอตนด้วยความสะดวกความสบายความสงบ พออะไรที่มันไม่สงบ อะไรที่มันไม่ถูกใจก็ฮึดฮัดขัดเคืองไม่พอใจ มีความโกรธเคืองขึ้นมา อันนี้เรียกว่าก็ยังอยู่ในในวิสัย หรือในวิธีการคิดแบบชาวโลก เพราะว่าพอคิดแบบนี้เข้า หรือเริ่มรู้สึกแบบนี้เข้าก็คิดแต่จะกำจัดสิ่งที่ไม่ถูกใจออกไปจากชีวิตให้มันพ้นหูพ้นตาเรา
แต่ผู้ที่มุ่งฝึกฝนตน จะไม่บ่นไม่โวยวาย อะไรที่ไม่สงบ อะไรที่มันหาความแน่นอนไม่ได้กลับมองว่าเป็นดี เหมือนกับพระเยอรมันที่เห็นว่ามาเมืองไทยมันสบายต้องไปที่อื่นที่มันลำบากมั่ง ต้องไปหาที่ที่มันยากลำบาก ที่ที่มันไม่แน่ไม่นอน ที่มันทำให้วิตกกังวล เพราะนั่นแหละจะเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกฝนตนได้อย่างดี
6/5/2023 • 27 minutes, 34 seconds 25660308pm--ไม่มีอะไรที่ให้ความหวังล้วนๆ
8 มี.ค. 66 - ไม่มีอะไรที่ให้ความหวังล้วน ๆ : ความสมหวังในรักก็เหมือนกัน มันให้ความสุขที่ดื่มด่ำ แต่รักกับเลิกมันเป็นของคู่กัน เมื่อคิดที่จะอยู่กับความสุขชนิดนี้ ก็ต้องเตรียมใจรับกับความสูญเสียที่จะตามมา หรือความผิดหวังที่จะตามมา แต่เป็นพราะคนส่วนใหญ่เห็นแต่ด้านดีของมัน หรือคิดแต่จะเอาคิดแต่จะได้ แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะมีผลเสียอะไรตามมา พอถึงเวลาที่สูญเสียมันไป ถึงเวลาที่ต้องเสื่อมจากสิ่งที่มีก็เลยทุกข์ระทม เรียกว่าคับแค้นใจ เศร้าโศก บางทีก็เสียศูนย์ไปเลย
อันนี้เป็นเพราะผู้คนไปคิดว่า ความสุขที่มีมันเป็นของฟรี แต่ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ เราต้องเสียอะไรบางอย่างไป ที่เสียนี่ไม่ใช่แค่เสียเงินเพื่อให้ได้รถได้บ้าน หรือเสียเวลากับโทรศัพท์กับสิ่งเสพ เราเสียยิ่งกว่านั้น เสียอิสรภาพ ทำให้เราต้องผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น ความสุขของเราผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น พอสิ่งนั้นหายไป เสื่อมไป เสียไป ความสุขที่มีก็สูญสลายไปด้วย เกิดความทุกข์ขึ้นมาแทนที่
ถ้ารักจะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องเตรียมใจพร้อมรับความทุกข์ด้วย หรือเตรียมใจพร้อมรับความสูญเสีย ความไม่เที่ยง ถ้าเตรียมใจได้มันก็ไม่ทุกข์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมใจ เพราะคิดว่ามันมีแต่ดีล้วนๆ อันนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดหรือความหลงอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนต้องจมอยู่ในความทุกข์
5/20/2023 • 26 minutes, 59 seconds 25660307pm--มองบวกและวางใจให้ถูกต้อง
7 มี.ค. 66 - มองบวกและวางใจให้ถูกต้อง : ถ้าเรารักษาใจให้เป็นปกติหรือมีความถูกต้อง มันก็ทำให้เราไม่ทุกข์ได้แม้เจออะไรไม่ถูกใจก็เป็นเรื่องของเขา แต่ใจเราถูกต้อง แม้เจอคนทำอะไรไม่ถูกต้องเราก็ไม่ทุกข์ เพราะยังไงเราก็รักษาใจให้ถูกต้องอยู่แล้ว และนี่ก็คือการทำความเห็นให้ตรง หรือทำใจให้ตรง ซึ่งก็เป็นธรรมะข้อหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ จะมีข้อสุดท้ายที่ว่าทิฏฐุชุกรรม คือความเห็นตรง เห็นตรงคือ ตรงตามความเป็นจริง หรือรวมไปถึงการวางใจให้ถูกต้องด้วย ซึ่งอันนี้มันก็จะไปเสริมกับการมองบวก
มองบวกแล้ว ต้องเห็นตรงหรือการวางใจให้ถูกต้องด้วย จะมองบวกอย่างเดียวอาจจะไม่พอ มันก็ต้องรู้จักวางใจให้ตรง ให้ถูกต้อง หรือมีความเห็นตรงด้วย แต่เห็นตรงแล้ว แต่ใจมันไม่ตรงไม่ถูกต้องก็ไม่ได้ มันต้องไปด้วยกัน เห็นตรงแล้ว ต้องวางใจให้ถูกต้องด้วย มันก็จะช่วยทำให้ไม่ว่าจะมีความทุกข์อย่างไรเกิดขึ้นกับร่างกาย กับทรัพย์สมบัติของเรา หรือกับคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย มันก็ไม่สามารถทำให้เราทุกข์ได้
เราห้ามร่างกายไม่ให้ป่วยก็ยาก เราห้ามไม่ให้มีสิ่งที่ไม่ถูกใจเราเกิดขึ้นในชีวิตของเราเลยก็ยาก แล้วจะกำจัดมันให้หมดไปจากชีวิต หรือให้พ้นหูพ้นตาเราไปเสียทุกอย่างก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ รักษาใจของเรา
5/20/2023 • 29 minutes, 29 seconds 25660306pm--บันไดสู่ความพ้นทุกข์
6 มี.ค. 66 - บันไดสู่ความพ้นทุกข์ : ถ้าหากว่าเราหันกลับมาใคร่ครวญใจของเรา รู้จักมองตน อย่างที่ท่านใช้คำว่า การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือการประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง เริ่มต้นจากการมองตน ใคร่ครวญให้เห็น เวลามีความทุกข์อย่าเอาแต่คร่ำครวญ ให้ใคร่ครวญเสียก่อน เพราะคร่ำครวญแล้วเอาแต่จะก่นด่าชะตากรรม แต่ว่าถ้าใคร่ครวญ ก็จะพบว่าทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ เหตุแห่งทุกข์มันก็เกิดขึ้นที่ใจนั่นแหล่ะ
ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ คือเข้าใจสมุทัยถูกต้อง การที่เราจะบำบัดทุกข์ หรือว่าทำให้ทุกข์หมดไป มันก็อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ แม้เรายังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องพลัดพรากสูญเสีย แต่ว่าใจไม่ทุกข์นะ เหมือนกับว่าโดนยาพิษยังไง ก็ไม่เกิดอันตราย เพราะว่ามือไม่มีแผล
อันนี้แหละคือหนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน หรือถึงแม้จะยังไม่ถึงนิพพาน ก็ทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบางลง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติธรรมทั้ง 6 ประการ ในโอวาทปาฏิโมกข์ได้ โดยเฉพาะนำมาเสริมกับ 3 ข้อแรก การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ การที่ชีวิตของเราจะเป็นไปในทางที่งดงาม สงบเย็น ไกลจากความทุกข์ก็เป็นไปได้ และนี่คือสิ่งที่ผู้คนปรารถนามิใช่หรือ
วันมาฆบูชา จาตุรงคสันนิบาตคืออะไร จำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยจำให้ได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรในวันนั้น สอนอะไรก็ตาม จำได้แล้วไม่พอ ต้องปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะข้อสุดท้าย สำคัญมากคือการชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือการประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
5/20/2023 • 44 minutes, 20 seconds 25660305pm--อย่าให้เจตนาดีส่งผลเสีย
5 มี.ค. 66 - อย่าให้เจตนาดีส่งผลเสีย : เจตนาดี แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันมีการกระตุ้นให้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งอยากจะมีเงิน มีตำแหน่ง มีชื่อเสียง หาทางใช้ทางลัด มีการทุจริต มีการบิดเบือนข้อมูล มีการปั้มงานวิชาการ โดยเติมแต่งข้อมูลตามใจชอบ เพื่อตัวเองจะได้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ มีเงินเดือน เป็นที่นับหน้าถือตา
เจตนาดี การที่พยายามส่งเสริมให้คนทำงานวิจัย โดยเอาชื่อเสียงเกียรติยศมาเป็นตัวล่อ จนกระทั่งมีคำพูดว่า ถ้าไม่พิมพ์ผลงานวิจัย ก็เท่ากับหมดอนาคต ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “publish or perish” publish ก็คือพิมพ์ ถ้าไม่มีงานตีพิมพ์ก็ perish คือหมดอนาคต คนก็เลยถ้าอยากมีอนาคตทางวิชาการก็ต้องผลิตงานวิจัย ได้รับการตีพิมพ์ แต่ปรากฏว่าอยากโตเร็ว อยากมีชื่อเสียง อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ก็เลยโกงมันเสียเลย ทุจริตมันเสียเลย ก็กลายเป็นว่ากลไกที่ต้องการส่งเสริมงานวิชาการ ส่งเสริมให้มีการสร้างองค์ความรู้ กลับกลายเป็นการสร้างความเท็จ สร้างความหลงผิดอย่างกว้างขวางเลย
เจตนาดีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเลวร้ายไปซะ เราเห็นได้เยอะเลย การทำอะไรที่มีเจตนาดี มีมาตรการที่ต้องการให้เกิดผลที่ดี แต่แล้วมันเกิดผลต่อตรงกันข้าม
5/20/2023 • 29 minutes, 13 seconds 25660305pm--นวัตกรรมชุมชนวิถีพุทธ
5 มี.ค. 66 - นวัตกรรมชุมชนวิถีพุทธ
5/10/2023 • 1 hour, 4 minutes, 9 seconds 25660227pm--เรียนรู้จากทุกข์ หาประโยชน์จากประสบการณ์
27 ก.พ. 66 - เรียนรู้จากทุกข์ หาประโยชน์จากประสบการณ์
5/8/2023 • 40 minutes, 3 seconds 25660224pm--อยู่ด้วยปัญญา อย่าใช่แค่ความรู้สึก
24 ก.พ. 66 - อยู่ด้วยปัญญา อย่าใช่แค่ความรู้สึก : อันนี้มันเกิดขึ้นได้นะเพราะว่ารู้จักใคร่ครวญ เรียนรู้จากทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ หรือทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เหตุร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ก็รู้จักใคร่ครวญ อันนี้มันเกิดขึ้นได้เพราะว่าการที่ไม่ปล่อยให้ชีวิตเราเนี่ยมันไปถูกกำหนดโดยทุกขเวทนา หรือเอาเวทนาเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา
พูดง่ายๆคือไม่ได้อยู่ด้วยความรู้สึก แต่อยู่ด้วยความรู้ และความรู้ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นได้เพราะว่ามันมีความรู้สึกตัวนะ มีความทุกข์แล้วถ้าไม่รู้สึกตัวนี่ มันก็ไม่เกิดการใคร่ครวญจนเกิดความรู้เกิดปัญญาเข้าใจความจริง ความรู้เนี่ยมันเกิดขึ้นได้เพราะความรู้สึกตัว และความรู้สึกตัว มันช่วยทำให้ความรู้สึกสุขทุกข์ไม่ครอบงำจิตใจ เราอยู่กับความรู้สึกมามาก มาบ่อยแล้ว ให้รู้จักอยู่กับความรู้สึกตัวดูบ้าง เพราะความรู้สึกตัวที่มันช่วยทำให้ความรู้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา
5/8/2023 • 27 minutes, 27 seconds 25660223pm--ศิลปะแห่งความพอดี
23 ก.พ. 66 - ศิลปะแห่งความพอดี : ชีวิตนี่เป็นเรื่องของศิลปะแห่งความพอดี มันไม่ได้มีสูตรว่าจะต้องเอาอะไรเป็นหลัก แล้วถ้าเรามีสติมันก็ช่วยทำให้เรารู้ว่าเมื่อใดควรจะฟังเหตุฟังผล เอาความถูกต้อง แต่เมื่อใดควรจะใช้ความรู้สึก ใช้อารมณ์ ใช้ความเห็นอกเห็นใจ
อย่างมีคุณหมอคนหนึ่งบอก เวลาสามีภรรยาหรือแฟนทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน อย่าใช้เหตุใช้ผล ให้ใช้อารมณ์ อารมณ์ที่ว่าหมายถึงความรัก ให้ความรักมันลอยขึ้นมา อย่าใช้เหตุผล เพราะใช้เหตุผลเมื่อไหร่ มันจะเป็นการเอาผิดเอาถูก ทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น
ความขัดแย้งมันลุกลามเพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่าฉันถูกแกผิด อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเธอผิดฉันถูก เหตุผลทั้งนั้นแหละ แต่แล้วมันก็กลับทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น
หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่าอย่าเอาถูกเอาผิด อย่าเอาเหตุเอาผลมากเกินไป เพราะว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่จะใช้ได้ในทุกกรณี ถ้าคนเรายึดมั่นแต่ความถูกความผิด หรือใช้เหตุใช้ผลอย่างเดียวมันก็แย่
และสิ่งที่จะช่วยทำให้เรารู้ว่าเมื่อไหร่ควรใช้เหตุใช้ผล เมื่อไหร่ควรจะใช้ความถูกต้อง เมื่อไหร่จะเอาอารมณ์ ไม่เอาถูกเอาผิด สิ่งนั้นคือสติ ซึ่งจะช่วยทำให้เราใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
5/8/2023 • 28 minutes, 35 seconds 25660222pm--เฮงหรือซวยแค่ไหน ก็ไม่หวั่นไหว
22 ก.พ. 66 - เฮงหรือซวยแค่ไหน ก็ไม่หวั่นไหว : พอมีปัญญาเห็นแบบนี้เนี่ย มันไม่กลัวเรื่องความตาย แล้วก็พร้อมที่จะเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นธรรม เจอทุกข์ก็เห็นธรรม หรืออย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์” ถ้าคนเรามีปัญญามีสติจนกระทั่งมั่นใจว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์” หรือ “เห็นทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นธรรม” ได้นี่ มันก็ไม่หวั่นไหวในเรื่องความเฮงหรือความซวย สิ่งเหล่านี้ก็จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเราน้อยลง ทำให้เราสามารถที่จะดำเนินชีวิตด้วยสติด้วยปัญญาได้
ก็จริงอยู่นะ คนเรา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ก็มีความเชื่อในเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย เรื่องโชคเรื่องลาง เรื่องความเฮงความซวย เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อธิบายไม่ได้ แต่ว่าถ้าเรามีสติมีปัญญามากเท่าไร ความเชื่อเหล่านี้ก็จะมีอิทธิพลต่อจิตใจเราน้อยลง และทำให้เรามีความโปร่งความเบาได้มากขึ้น เพราะเราไม่หวั่นกลัวนะ
ไม่หวั่นกลัวทุกข์ เพราะเราสามารถที่จะเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรมได้ และเราก็ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีอะไร เพราะรู้ว่ามันก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ สิ่งนี้แหละที่จะทำให้เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง อิสระด้วยธรรม ไม่ใช่ตกอยู่ในอำนาจของความเชื่อทำนองนี้
5/8/2023 • 27 minutes, 36 seconds 25660221pm--แก้ทุกข์ได้เมื่อมั่นใจในธรรม
21 ก.พ. 66 - แก้ทุกข์ได้เมื่อมั่นใจในธรรม : ถ้าหากว่ายังไม่เคยเห็นว่า สติมันช่วยทำให้รับมือกับความทุกข์ได้ ไม่ต้องบังคับจิต ไม่ต้องกดข่มอารมณ์ แค่เห็นมัน เห็นความคิดเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น แค่การเห็น หรือว่าการรู้ซื่อๆ มันมีอานิสงส์มีอานุภาพมาก พอเห็นตรงนี้ ก็เกิดความมั่นใจที่จะฝึกเห็น ฝึกรู้ ฝึกดูเฉยๆ มากขึ้น แล้วยิ่งทำๆ ก็ยิ่งทำถูก จากเดิมเห็นทีไร อดไม่ได้จะเข้าไปจ้องทุกที หรือแทนที่จะเห็นก็เข้าไปเพ่ง หรือแทนที่จะรู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ก็เข้าไปกดข่มมัน เผลออยู่เรื่อย เผลอเข้าไปบี้มัน เข้าไปกดข่มอารมณ์
แต่ว่าพอทำบ่อยๆ ชำนิชำนาญ ก็รู้ว่า รู้ซื่อๆ เป็นอย่างไร แล้วยิ่งเห็นผลว่า มันช่วยทำให้หลุดจากอารมณ์ได้ ช่วยทำให้อารมณ์หรือความทุกข์เข้ามาครอบงำจิตใจไม่ได้ ก็ยิ่งเกิดฉันทะในการปฏิบัติ
ความรู้สึกตัวก็เหมือนกัน พูดไปหลายครั้งก็ไม่ค่อยเกิดความศรัทธาเท่าไหร่ เพราะยังไม่ค่อยเห็นผล ยังไม่มีความมั่นใจ แต่พอพบว่าความรู้สึกตัวมันช่วยทำให้หลุดจากอารมณ์ได้ ก็เกิดความมั่นใจและเกิดฉันทะ เกิดความเพียรพยายามในการปฏิบัติมากขึ้น
สุดท้ายพอถึงเวลามีความทุกข์ มันก็ไม่ต้องไปพึ่งพาอบายมุข ไปพึ่งพากามสุขเพื่อทำให้ลืมความทุกข์ชั่วคราว หรือไม่ไปหวังพึ่งโชคหรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ไปหวังพึ่งใครมาช่วยจัดการแก้ปัญหาให้เรา เราแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยการแก้ที่ใจ มันเกิดขึ้นเองเพราะมั่นใจ มั่นใจในธรรมะ
4/18/2023 • 26 minutes, 19 seconds 25660220pm--มองให้เป็น จึงเห็นธรรม
20 ก.พ. 66 - มองให้เป็น จึงเห็นธรรม : ไม่ว่าเจออะไรเห็นอะไร มันก็เป็นเครื่องสอนใจ เครื่องเตือนใจ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเห็นคนที่สงบสำรวม ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะทำความเพียร เพื่อจะได้มีความสงบสำรวม หรือเห็นคุณค่าของธรรมะที่ทำให้คนที่เห็นอยู่เบื้องหน้าเรานี้สงบสำรวม
อย่างที่อุปติสสะหรือพระสารีบุตรในเวลาต่อมา เห็นพระอัสสชิท่านสงบสำรวมมาก ก็เกิดความสะดุดใจ และทำให้ท่านได้เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา หลังจากได้ฟังภาษิตของพระอัสสชิซึ่งมีแค่ 2 ประโยคเท่านั้นแหละ “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวถึงเหตุแห่งธรรม และความดับแห่งธรรมนั้น” นี้เป็นคำสอนของพระมหาสมณะ คือพระพุทธเจ้า เท่านี้แหละ พระสารีบุตรหรืออุปติสสะดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันเลย อันนี้เรียกว่าเพราะรู้จักใคร่ครวญด้วย
เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งเราก็ต้องรู้จักหันมามองใจ หันมาดูข้างใน ดูกายและใจ ดูด้วยสติ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต ซึ่งต่อไปก็จะทำให้เห็นธรรมในธรรม แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมองสิ่งภายนอก ก็มองด้วยปัญญาหรือโยนิโสมนสิการ น้อมเข้ามาใส่ตัว เพราะถ้ามองเป็นก็เห็นธรรม เห็นธรรมที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้
4/18/2023 • 26 minutes, 34 seconds 25660219pm--ใจปลอดภัย ถ้าใช้สติเป็น
19 ก.พ. 66 - ใจปลอดภัย ถ้าใช้สติเป็น : ความรู้สึกตัวหรือความรู้สึกทางกายเวลาเราเขยื้อนขยับมือ หรือกำลังทำอะไรก็ตาม ถ้าเราทำจนคุ้นเคยใช้เป็น มันจะเป็นตัวเรียกสติให้กลับมาได้ไว อย่างคนที่เดินจงกรมบ่อยๆ หรือขยับมือบ่อยๆ เวลาใจลอยขึ้นมา สักพักความรู้สึกทางกายมันจะไปเรียกจิตให้มันกลับมา หรือไปเรียกสติให้มันกลับมา เพื่อที่จะดึงจิตออกจากความหลง ออกจากความทุกข์ ออกจากความเครียด กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา
อันนี้คือสิ่งที่ใครๆ ก็ทำให้ถ้าหากว่าได้ทดลองปฏิบัติ ทำบ่อยๆ สติก็จะกลับมาไว สติก็จะรู้ได้เร็ว แล้วก็พาจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน แต่ถ้าไม่ปฏิบัติมันก็ไม่เข้าใจ เพียงแค่ “สติรู้ทันความคิดและอารมณ์” พูดแค่นี้ก็งงกันแล้ว
คนที่ฟังแต่ธรรมะแต่ไม่ปฏิบัติ มันก็จะมีคำถามว่า “สติคืออะไร” “สติทำงานอย่างไร” “สติสำคัญอย่างไร” แต่ถ้าปฏิบัติ ทีละเล็กทีละน้อย มันจะเข้าใจ พอเข้าใจแล้วก็จะสามารถทำให้สติทำงานได้เร็วขึ้น แล้วช่วยให้จิตมีเครื่องรักษา มีสิ่งดูแลให้ปลอดภัยได้
4/18/2023 • 29 minutes, 51 seconds 25660215pm--ปล่อยวางทุกข์ ไม่ยึดสุข
15 ก.พ. 66 - ปล่อยวางทุกข์ ไม่ยึดสุข
4/18/2023 • 28 minutes, 47 seconds 25660214pm--ขังคอกก่อนติดปีกให้เป็นอิสระ
14 ก.พ. 66 - ขังคอกก่อนติดปีกให้เป็นอิสระ : อนัตตลักขณสูตรสอนเรื่องนี้โดยตรงเลย ไม่มีเรื่องของความดี ไม่มีเรื่องของศีลเลย มีแต่เรื่องของสัจธรรมล้วนๆ และเป็นสัจธรรมในระดับโลกุตรธรรมเพื่อไม่ให้ยึดมั่นในขันธ์ ไม่ให้ยึดมั่นในตัวตน ไม่ยึดมั่นแม้กระทั่งในสิ่งที่เราที่สมมุติเป็นเราเป็นของเรา อันนี้แหละที่จะทำให้จิตเป็นอิสระ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า ชี้ทางให้บินไปหรือว่าติดปีกให้ ทีแรกก็ขังคอกก่อน หรือว่าพาตัวอยู่ในคอกเพื่อความปลอดภัย แล้วก็ไม่ไปเกกมะเหรกเกเร ไปก่อความวุ่นวายสร้างความเดือดร้อนให้ใคร อยู่ในคอกซะ แล้วก็จะได้ไม่มีสัตว์ร้ายมาทำอันตราย
แต่พออยู่ในคอกแล้ว ต่อไปก็ต้องรู้จักติดปีกให้เป็นอิสระ นี่คือจุดหมายสูงสุดนะของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า มันมี 2 ส่วนที่ดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่ที่จริงไม่ใช่ แต่ว่าเสริมกัน แล้วก็จะมีอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะสอนเรื่องอนัตตาที่หนึ่ง แต่สอนเรื่องการรักตน การฝึกตน
4/8/2023 • 26 minutes, 28 seconds 25660213pm--เจออะไรใจไม่ทุกข์ก็ได้
13 ก.พ. 66 - เจออะไรใจไม่ทุกข์ก็ได้
4/8/2023 • 28 minutes, 20 seconds 25660212pm--ความดีมีคุณค่าอย่าดูแคลน
12 ก.พ. 66 - ความดีมีคุณค่าอย่าดูแคลน : การทำความรู้สึกตัว การเจริญสติ หรือการทำความดีช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ใช่ทำแค่ครั้งนี้ครั้งเดียวแล้วไปรอผลวันหน้าไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ว่าเราทำอยู่เรื่อยๆ ให้มันกลายเป็นเนื้อเป็นตัว ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจ อันนี้มันจะทำให้เรามีหลักประกันที่มั่นคงมากกว่า
บางทีอาจจะทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปเจอวิกฤตชีวิตในวันข้างหน้าก็ได้ เพราะเราใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้จักรักษาใจให้ผ่องใส แต่ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสที่จะทำสิ่งนั้นให้ต่อเนื่อง แต่ว่าให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราทุ่มเทไปสิ่งที่เราลงแรงไป มันย่อมเกิดผลแน่นอน เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดเมื่อไหร่ อันนี้รวมไปถึงการทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น
อย่างที่เคยพูดเอาไว้ การลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิตก็คือ การลงทุนให้กับปฏิบัติธรรม การเจริญสติ การภาวนา และการทำความดี มีน้ำใจต่อผู้อื่น สิ่งเหล่านี้มันไม่มีคำว่าสูญเปล่า มันย่อมส่งผลอย่างแน่นอน และอาจจะส่งผลอย่างยาวไกลก็ได้หากว่าเราทำอย่างสม่ำเสมอ
4/8/2023 • 27 minutes, 5 seconds 25660211pm--จากชอบใจเป็นทำใจให้ชอบ
11 ก.พ. 66 - จากชอบใจเป็นทำใจให้ชอบ : เราชอบใจเรื่องอะไร เราก็ต้องเปลี่ยนให้มันเป็นทำใจให้ชอบ เช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ พอเราฟัง พอเรากิน ใจมันก็เพลิดเพลิน เกิดความชอบขึ้นมา บางทีถึงกับติดอกติดใจ สำหรับการปฏิบัติแล้ว มันยังไม่ดีพอ ต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นความปกติ หรือว่าทำใจให้เป็นกลาง ทำใจให้เป็นกลางเรียกว่าทำใจให้ชอบ คือถูกต้อง เป็นกลาง ไม่ขึ้นไม่ลง
การที่เราฝึกให้รู้จักรู้ซื่อๆ ก็คือการทำให้ใจให้เป็นกลางกับสิ่งต่างๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่หลงไหลคือไม่ชอบใจ ไม่ได้ปล่อยใจให้ชอบ แต่ว่ารักษาใจให้เป็นปกติ เราต้องมารู้จักกับความชอบแบบนี้ด้วย
25660210pm--รักษาแผลใจด้วยความรู้สึกตัว
10 ก.พ. 66 - รักษาแผลใจด้วยความรู้สึกตัว : ถ้าใจเรามีแผล มีการกระทบอะไรเกิดขึ้นก็ทุกข์ได้ง่าย แล้วคนเราก็อดไม่ได้ที่จะไปโทษรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสสิ่งภายนอกว่าทำให้เราทุกข์ ทำให้เราเจ็บปวดในใจ แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะใจเรามีแผลคือ มันไม่มีสติรักษาใจ จึงปล่อยให้อารมณ์ ความทุกข์ ความกลัวต่างๆ ครอบงำใจ อันนี้คือความจริง ถ้าเราเห็นมัน จะมีคุณมีประโยชน์มาก เพราะมันจะช่วยน้อมนำให้เราหันมาปรับเปลี่ยนที่ใจของเรา ใจที่จะไปคิดปรับเปลี่ยนสิ่งภายนอกหรือว่ากำจัดสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ เหตุแห่งความโกรธด้วยความหงุดหงิดออกไป ถ้าเราคิดแบบนั้นก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ก็เหมือนกับหมาขี้เรื้อนมันย้ายที่ย้ายวัดหรือว่าย้ายสถานที่อย่างไรก็ไม่หายคัน เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาที่ถูกจุดก็คือว่ามาแก้ที่ตัวมันนั่นแหละ รักษาแผลให้หาย เหมือนกับการรักษาใจไม่ให้ความหลงครอบงำ มันก็ทำให้ความทุกข์ ยากที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจของเราได้ หรือถึงเกิดขึ้นก็ไม่สามารถเผาลนบีบคั้นหรือว่ากรีดแทงใจเราได้
3/30/2023 • 31 minutes, 4 seconds 25660209pm--ไปไม่ว่า ให้กลับมาไวๆ
9 ก.พ. 66 - ไปไม่ว่า ให้กลับมาไวๆ : หลวงพ่อเทียนบอกว่าอย่าอยู่นิ่งๆ ถ้าไม่เดินจงกรมไม่สร้างจังหวะ ก็ให้คลึงนิ้ว พลิกมือไปพลิกมือมา เพราะความรู้สึกที่เกิดจากการเคลื่อนมือการขยับเท้านี่แหละ ที่จะเป็นตัวดึงจิตให้กลับมา
อย่างที่ว่า มันไปไม่ว่า แต่สำคัญตรงที่ว่ากลับมา มันจะไปกี่ครั้งๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ามันกลับมาบ่อยไหม บางคนไปวัดว่าใจไม่ไหลเลย ทำชั่วโมงหนึ่งใจไม่ไหลเลย หรือใจไหลแค่ 2-3 ครั้ง อันนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่ามันไหลไปแล้วกลับมาไวไหม อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า มันเก่งตรงที่มันกลับมา ไม่ใช่ว่าเก่งตรงที่ไม่ไป แต่เก่งตรงที่มันกลับมาไว กลับมาบ่อยๆ ถ้าเราจับหลักนี้ได้ การปฏิบัติก็จะเป็นเรื่องง่าย
3/30/2023 • 30 minutes, 11 seconds 25660208pm--ฝึกจิตได้ง่าย ถ้าไม่ตั้งโจทย์ยาก
8 ก.พ. 66 - ฝึกจิตได้ง่าย ถ้าไม่ตั้งโจทย์ยาก : จะว่าไปมันก็เป็นทั้งความยากและความง่าย เพราะว่าถ้าตั้งใจนึกมันดูง่าย แต่บางทีการที่มันนึกขึ้นมาได้เอง ก็อาจจะง่ายกว่า เพราะเราไม่ต้องทำอะไรเลย เดี๋ยวมันนึกขึ้นมาได้เอง ที่ว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะอะไร เพราะมันเป็นงานของสติ สติมันทำงานให้กับเรา มันทำงานแทนเรา ระลึกขึ้นมาได้เองว่ากำลังฟังธรรมอยู่ ขณะนี้กำลังยกมือสร้างจังหวะ กำลังเดินจงกรม มันนึกขึ้นมาได้เอง
เหมือนกับที่เรานึกขึ้นมาได้เอง ขณะกำลังทำงานอยู่ หรือกำลังดูหนังอยู่ ก็นึกขึ้นมาได้ว่านี่เรานัดเพื่อนเอาไว้ เรานัดว่าจะโทรศัพท์ไปถามข่าวคราวเขา หรือนึกขึ้นมาได้ว่าเราตั้งน้ำร้อนเอาไว้เมื่อครึ่งชั่วโมงที่แล้ว ถามว่ามันนึกขึ้นมาได้อย่างไร ไม่รู้ แต่มันนึกขึ้นมาได้เอง
แต่ว่าการนึกขึ้นมาได้เองขณะปฏิบัติ จะว่าไปแม้มันไม่ได้เกิดจากการตั้งใจนึก แต่เราสามารถจะทำให้มันเกิดขึ้นได้เร็ว ด้วยการทำไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติบ่อยๆ ให้โอกาสมันนึกขึ้นมาได้บ่อยๆ แล้วมันจะนึกขึ้นมาได้เร็ว มันจะนึกขึ้นมาได้ไว โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร นอกจากทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยาก ก็ตั้งโจทย์ให้มันง่ายซะ ถ้าเราตั้งโจทย์ให้มันยาก การปฏิบัติมันก็จะกลายเป็นเรื่องยาก กลายเป็นเรื่องหินขึ้นมา ลองถามใจเราเองว่าเราตั้งโจทย์ง่ายหรือยาก
3/30/2023 • 26 minutes, 29 seconds 25660207pm--สุขสุดท้ายที่ปลายทาง
7 ก.พ. 66 - สุขสุดท้ายที่ปลายทาง
3/30/2023 • 1 hour, 13 minutes, 53 seconds 25660203pm--ฝึกจิตให้ยอมรับความจริง
3 ก.พ. 66 - ฝึกจิตให้ยอมรับความจริง
3/23/2023 • 27 minutes, 35 seconds 25660202pm--การลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิต
2 ก.พ. 66 - การลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิต : แค่ถ้าเราฝึกจิตไว้ดี โดยเฉพาะฝึกสติ หนังสือมันจะเป็นบ่าวที่ดีของเรา แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นนายเมื่อไหร่ มันก็จะเป็นนายที่เลว เช่นเดียวกับความคิด ความคิดก็เป็นบ่าวที่ดีแต่เป็นนายที่เลว คนที่ติดหนังสือมากๆ เป็นเพราะว่าความคิดมันฟุ้งซ่านมาก จนกระทั่งต้องเอาหนังสือมาสยบไม่ให้ความคิดฟุ้งซ่าน แต่พอไม่มีหนังสือเมื่อไหร่ก็แย่
แต่ถ้าฝึกสตินะ มีหนังสือก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร เราเป็นนายของมันได้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเวลาเกิดปัญหาในชีวิต พลัดพรากจากสิ่งรัก ประสบสิ่งที่ไม่รัก เจอความเจ็บความป่วย เจออุปสรรค เจอการงานล้มเหลว ก็ไม่ทุกข์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า “งานล้มเหลว แต่หลวงพ่อไม่ล้มเหลว” อันนี้เพราะว่าฝึกสติ ฝึกจิต
เพราะฉะนั้นจึงบอกได้ว่า มันไม่มีการลงทุนอะไรที่คุ้มค่าหรือประเสริฐที่สุด เท่ากับการฝึกสติ การอ่านหนังสือก็เป็นการลงทุนที่ดี แต่ว่ามันเป็นรองการฝึกสติและการฝึกจิต
3/23/2023 • 28 minutes, 15 seconds 25660201pm--เสริมสร้างฉันทะให้งอกงามในใจ
1 ก.พ. 66 - เสริมสร้างฉันทะให้งอกงามในใจ : เวลาเห็นธรรมชาติ ถ้ามีฉันทะมันเกิดความกระตือรือร้น ที่อยากจะไปปลูกต้นไม้ อยากจะดูแลต้นไม้ให้งาม เพื่อให้ธรรมชาติได้มีความสมบูรณ์ แต่ถ้าหากว่ามองธรรมชาติด้วยตัณหา มันอยากจะเด็ดดอกไม้ อยากจะเด็ดดอกไม้เอากลับไปบ้าน อยากจะเอาต้นไม้กลับไป หรือว่าอาจจะอยากจะเก็บภาพเอาไว้เพื่อเป็นที่ระลึกเพื่อเป็นความทรงจำ อันนี้เรียกว่าเป็นความใฝ่เสพ เพียงแต่ว่าจะเสพทางไหน
แต่ถ้าฉันทะ มันอยากทำ อยากทำให้มันดี อยากทำให้เกิดความดีงามขึ้นกับสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ ผู้คน สิ่งของ งานการ หรือตัวเอง ฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราปลูกฉันทะให้มีขึ้น เท่ากับว่าเราจะมีพื้นฐานที่เข้มแข็งมั่นคงในการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นเรื่องฉันทะเป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า “ธรรมทั้งปวง มีฉันทะเป็นมูล” ไม่ว่าจะเป็นสัจธรรม คุณธรรม หรือจริยธรรมก็ตาม
3/23/2023 • 30 minutes, 46 seconds